xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.ขู่ถอดถอนรัฐบาล พันธมิตรฯ ถกด่วนวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต ส.ส.ร.ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ เตือนรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ระวังถูกถอดถอน พันธมิตรฯ ชี้ชัดรัฐบาลเตรียมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิด"แม้วกับพวก" นัดประชุมด่วนวันนี้ เพื่อกำหนดท่าทีในการคัดค้าน ด้านปชป.ประกาศชัด ค้านการแก้ไข ทุกมาตรา หากดื้อดึงใช้เสียงข้ามากลากไป จะบานปลายถึงนองเลือด ขณะที่รัฐบาลไม่สนเสียงค้าน เดินหน้ายื่นประธานวุฒิฯ เรียกประชุม 2 สภา แก้ รธน.วันนี้

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (1 เม.ย.) " ชมรม ส.ส.ร.50" ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้นัดหารือถึงประเด็นที่วิปรัฐบาล มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 มาตรา โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม ส.ส.ร.50 แถลงภายหลังการประชุมว่า ชมรมฯ ได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลักคือ

1. ชมรมส.ส.ร.50 ไม่ขัดข้องและขัดขวาง หรือคัดค้านไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งอาจะขัดต่อ มาตรา 122 ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ถือเป็นข้อท้วงติงที่ผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องระมัดระวัง 3. การแก้ไขต้องพิจารณาว่า จะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขใน มาตรา 237 ถือเป็นการแก้ไขในหลักการที่เราต้องการจะแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ย้อนยุคกลับไปสู่กระบวนการโกงเลือกตั้งเดิมๆที่ใช้กันอยู่ มาตรานี้เป็นบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการเลือกตั้ง หากไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้การตรวจสอบการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดในคดีที่ตัวเองกำลังถูกตรวจสอบอยู่

ขณะที่ มาตรา 309 ก็ถูกมองว่าแก้ไขเพื่อให้นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ และย้อนหลังเพื่อให้บุคคลเหล่านี้กลับสู่อำนาจเดิม ซึ่งตรงนี้มุมมองของนักกฎหมายถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ถ้ากำหนดให้มีผลย้อนหลัง ก็จะเป็นการถอยหลังกันหมด ทั้ง กกต. , ป.ป.ช. ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คตส., ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแม้กระทั่ง ส.ส.และส.ว. ต้องพ้นสภาพไป เหมือนทุกอย่างไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว ถือเป็นเรื่องตลก แต่อาจจะไปกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลก็ได้

เตือนทำเพื่อตัวเองเจอถอดถอน

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า การเสนอแก้ มาตรา237 และมาตรา309 เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ รวมถึงการเสนอแก้ไข มาตรา 266 ก็เท่ากับเป็นการแก้ มาตรา268 ไปในตัว อ่านไต๋ได้ว่า เป็นการแก้เพื่อให้ มาตรา 268 เป็นหมันไปด้วย ซึ่งการเสนอแก้ไขในมาตราเหล่านี้ ถือว่าหมิ่นเหม่ที่จะขัดต่อมาตรา 122 อันเป็นเหตุให้ส.ส.1 ใน 4 หรือประชาชน 2 หมื่นคน เข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

การที่เราออกมาเตือนก็เพื่อให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวจะแก้รัฐธรรมนูญได้คิดทบทวน เพราะถ้าเราไม่เตือนอาจจะนำไปอ้างว่า เป็นผิดพลาดโดยความสุจริตได้ แต่นี่ถือว่าเราได้เตือนแล้ว หากยังดึงดัน แค่ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้าชื่อกันก็สามารถยื่นถอดถอนได้ เพราะเกิน 1 ใน 4 อยู่แล้ว

นายคมสัน โพธิ์คง กล่าวว่า สำหรับ มาตรา 190 ถ้าดูแล้วก็เหมือนเป็นอุปสรรคต่อฝ่ายบริหารในการเจรจาสนธิสัญญา แต่ความจริงในทุกประเทศก็มีมาตรานี้ทั้งนั้น อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แต่เรากลับพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาที่มาจากปวงชนชาวไทย ซึ่งหลักการสำคัญของ มาตรา190 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ หรือทรัพยากรของชาติ ถ้ากลับไปถามประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ทุกคนเห็นด้วยกับมาตรานี้ เพราะเป็นมาตราที่คุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร

ส่วนมาตรา 266 เราเห็นว่าไม่ใช่มาตราใหม่เป็นมาตราที่มีมาตั้งแต่ปี40 เพียงแต่ปี 50 ได้ขยายความในตำแหน่งข้าราชการต่างๆให้ชัดเจน เพราะมาตรา 266 ที่ระบุเกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องใช้ด้วยความสง่างาม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และยังเป็นการวางหลักการในการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่ชัดเจน

สำหรับมาตรา 237 ที่โดนกล่าวหาว่าเป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งพรรคการเมืองนั้น เป็นการวิจินิจฉัยเองของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย ที่ต้องการนิรโทษกรรมให้ตัวเอง และเพื่อหลีก เลี่ยงกระบวนการยุติธรรม

"ส.ส.ร.50"ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ

ทั้งนี้ ชมรมส.ส.ร.50 ได้ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ ต่อกรณีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ มาตรา 237 วรรค สอง ว่า 1.มาตรานี้ร่างขึ้นในช่วงยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้ใดบังอาจทำผิดในอนาคต เป็นการร่างเพื่อบังคับใช้กับบุคคลทั่วไปโดยเท่าเทียมกัน มิได้จำเพาะเจาะจงเอาผิดผู้ใด แต่การเสนอแก้ไขนี้ เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 50 โดยปรากฏแน่ชัดว่า มีกรรมการบริหารพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยกระทำผิด และยังมีกรณีกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยศาลฎีกา จึงเชื่อได้ว่า เป็นความพยายามแก้ไขเพื่อช่วยเหลือตนเองและพวกพ้อง

2.เจตนาของ มาตรา 237 วรรคสองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงและการทุจริตเลือกตั้ง มุ่งหมายให้พรรคเป็นนิติบุคคล ที่รับผิดชอบต่อผู้สมัครของตนเองไม่ให้ทำผิด หากไม่ดูแลให้ถือว่าเป็นเหตุให้ยุบพรรค เนื่องจากทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ การเสนอแก้ไข เท่ากับพยายามหลีกหนีกระบวนการยุติธรรม เป็นการลบล้างรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเหลือผู้โกงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้รับผิดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

3. ที่ผ่านมาผู้ขอแก้ไขไม่เคยวิจารณ์มาตรา 237 มาก่อน กระทั่งเมื่อกกต.มีความเห็นว่าจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ยุบพรรค จึงมีนักการเมืองออกมาร้องขอให้แก้มาตรานี้ พิจารณาได้ว่าการจะแก้ไขมีที่มาจากนักการเมืองผู้ได้รับผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมจากการโกงเลือกตั้ง เพื่อให้ตนและพวกรอดพ้นความผิดตามรัฐธรรมนูญ

4.เนื้อหาในวรรคสองที่จะตัดออก เท่ากับตัดตอนลบล้าง มิให้เอาผิดกับกรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจ สมควรให้คงมาตรานี้ไว้ เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบการเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ

5.หลักการรับผิดชอบร่วมกัน โดยมาตรานี้วางหลักการไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องช่วยกันดูแล ซึ่งเป็นหลักการที่ก้าวหน้า และเป็นการลงโทษทางการเมือง เพราะถือว่าไม่น่าไว้ใจที่จะให้เข้ามาทำงานของส่วนรวม เปรียบไม่ได้กับที่อ้างว่าเป็นโทษประหารชีวิต

6.ข้ออ้างที่ว่าส.ส. เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับฉันทานุมัติมาใช้อำนาจแทนประชาชน แต่การลงคะแนนของประชาชน เพื่อให้นักการเมืองมาทำหน้าที่ผู้แทน นำความต้องการของประชาชนไปปฏิบัติในสภาแทนประชาชน มิใช่ผ่านการเลือกตั้งมา แล้วจะทำอะไรก็ได้ แม้พรรคพลังประชาชนจะอ้างว่าเคยหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่มิได้บอกความจริงว่า จะแก้มาตรานี้เพื่อให้พรรคพวกของตนเองที่กระทำผิดไม่ต้องรับผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

7.ความโปร่งใสและความชัดเจนในการดำเนินการ ซึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ผ่านการรับฟังความเห็นและผ่านการทำประชามติ แต่การแก้ไขครั้งนี้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดประเด็น ดังนั้นการแก้ไขครั้งนี้จึงเป็นการริเริ่มโดยนักการเมือง ดำเนินการโดยนักการเมือง ตัดสินใจโดยนักการเมือง และเพื่อนักการเมืองอย่างแท้จริง

"การจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาต้องคำนึงว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย หากกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 122 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชน ไม่อยู่ในอาณัติ ความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจถูกถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ทั้งนี้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิกฤตที่นำไปสู่การนองเลือด มีเหตุลุกลามจากความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้ง 14 ตุลา 16ตุลา หรือ พฤษภา 35 ทาง ส.ส.ร.50 จึงห่วงใย ที่รัฐธรรมนูญเพิ่งบังคับใช้เพียง 7 เดือน ก็จะถูกแก้ไขเพื่อช่วยเหลือตนเองและพวกพ้องให้หลีกหนีการพิจารณาดำเนินดีตามกระบวนการยุติธรรม จึงขอเรียกร้องให้ส.ส. ,ส.ว. และทุกภาคส่วนป้องกันไม่ให้มีการละเมิดหลักนิติรัฐ ตัดตอนกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้สูญเสียเลือดเนื้อของคนในชาติอย่างเร่งด่วน" ชมรมส.ส.ร.ระบุความเห็นในเอกสาร

พันธมิตรฯถกด่วนวันนี้

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงมติวิปรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ซึ่งมีมาตรา 237 และมาตรา 309 รวมอยู่ด้วยนั้น สะท้อนชัดเจนว่าระบอบทักษิณ พยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ขึ้นศาล หรือไม่เข้าพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม จะเข้าก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า แทรกแซงและครอบงำได้เท่านั้น จึงพยายามบิดเบือนว่า ทั้งมาตรา 237 และมาตรา 309 มัดมือชกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการยุบพรรคและคำตัดสินว่าพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายถูกหรือผิดนั้น ศาลจะเป็นผู้พิพากษา

นายสุริยะใส กล่าวว่า หากพ.ต.ท. ทักษิณ และคนในรัฐบาลมั่นใจว่า บริสุทธิ์อย่างที่อวดอ้าง ทำไมต้องกลัว กกต. และ คตส. เพราะทั้ง 2 องค์กร เปรียบเสมือนเป็นเพียงพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่ใช่ศาล ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลได้สารภาพผิดกลางแจ้ง ขึ้นศาลไปก็แพ้อยู่ดี ก็เลยหาวิธีแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ซึ่งหลักปฏิบัติแบบนี้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี

มติวิปรัฐบาลครั้งนี้ ต้องถือเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง ที่รัฐบาลเป็นคนวาง เพราะเป้าหมายแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 5 มาตรา ชัดเจนว่า เพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่าย ไม่ได้เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ต้องทวงถามมโนธรรมสำนึกไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ที่เคยประกาศวางเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลว่า ห้ามแทรกแซง คตส. และกระบวนการยุติธรรมนั้น จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือลืมไปหมดแล้ว

ในประเด็นนี้ พันธมิตรฯ และเครือข่ายจะมีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนในวันนี้ (2 เม.ย.) เพื่อกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตัวเองอย่างถึงที่สุด โดยจะมีการแถลงข่าวเวลา 12.00 น. ที่บ้านพระอาทิตย์

ปชป.ค้านแก้รธน.ทุกมาตรา

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาและติดตามการบังคบใช้รัฐธรรมนูญ2550 กล่าวภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ทุกมาตรา โดยเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนสำหรับประเทศในขณะนี้ เพราะเป็นการการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคมที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน แต่รัฐบาลกลับมุ่งแก้ปัญหาภายในโดยมุ่งไปที่ประเด็นมาตรา 237 และ309 แต่หัวใจสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้คือ มาตรา 309 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำลายน้ำหนักและความน่าเชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบ และไต่สวนการทำงานของคณะกรรมการ คตส. ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการเพื่อส่งคดีทั้งหมดให้อัยการสูงสุด และส่งถึงมือศาลต่อไป

"เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยมีการเพิ่มสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้วเป้าประสงค์หลักคือ มาตรา 309 เป็นที่ทราบอย่างชัดเจนว่า ใครอยู่เบื้องหลังและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ซึ่งประชาชนทราบดี ที่สำคัญ รัฐบาลออกมาพูดชัดเจนว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้คดีชั้นศาล ซึ่งความจริงแล้ว กระบวนการต่อสู้ไม่ได้จบที่ คตส. แต่ต้องไปถึงชั้นศาลที่จะชี้ขาด"

นายบัญญัติ กล่าวว่า การเสนอให้แก้ไขมาตรา 237 มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการช่วยเหลือพรรคพลังประชาชน และพรรคการเมืองอื่นที่มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะถูกยุบพรรคหรือไม่ และการออกมาแก้ไขมาตรา 309 เป็นการลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงไปอย่างมาก เพราะประชาชนรู้ดีว่าทำเพื่อใคร ที่สำคัญ เราวิตกว่าจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงถึงขั้นปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กับกลุ่มที่เห็นด้วย ที่จะส่งผลกระทบต่อวิกฤติชาติอีกครั้ง และถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้มีโอกาสเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤต แต่กลับเป็นการพยายามมุ่งแก้ปัญหาส่วนตัวมากกว่า

"ตอนนี้มีแนวโน้มการแสดงออกชัดเจนมากขึ้นของประชาชน ระหว่างฝ่ายที่ออกมาคัดค้านตั้งแต่มาตรา 237 และยิ่งรัฐบาลแก้ มาตรา 309 ก็ทำให้มีความเคลื่อนไหวของคนที่ไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเผชิญหน้า เพราะประชาชนยังมีความเข้าใจในเรื่องแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองอีกครั้ง"

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเผชิญหน้ากันครั้งนี้จะถึงขั้นให้ฝ่ายทหารเข้ามาเกี่ยวข้องได้หรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะผลของความล้มเหลวจากการปฏิบัติครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นบทเรียนสำคัญ แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนออกมาปะทะกันบนท้องถนน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่รัฐบาล ต้องเร่งรีบให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพราะต้องการให้ทันคดียุบพรรคที่อยู่ในกระหว่างการพิจารณา ของกกต. และเตรียมส่งต่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน คตส. ก็กำลังเร่งรีบส่งสำนวนคดีทั้งหมดให้อัยการ และศาล ซึ่งจะครบวาระในเดือนมิ.ย. นี้ จึงมีความพยายามที่จะแก้ให้เสร็จโดยเร็ว จึงขอเตือนว่า อย่าคิดใช้เสียงข้างมากลากไป เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปะทะกันเร็วขึ้น

ควรตั้งกมธ.ศึกษาก่อนแก้ไข

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วิปฝ่ายค้านมีมติไม่เห็นด้วยต่อการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกระทำที่ ผิดที่ ผิดเวลา ประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม รัฐบาลควรไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่า

โดยเฉพาะการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ การเสนอแก้ไขใน 5 มาตรา ถือว่าเป็นการแก้ไขแบบลับ ลวง พราง เพราะเหตุผลที่แท้จริง รัฐบาลต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อมุ่งหวังให้คนที่ถูกดำเนินคดีของคตส. ฟ้องร้อง 14 คดี มีช่องทางในการต่อสู้ และเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคพลังประชาชนตัวจริง

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง ซึ่งสวนทางกับแนวทางสมานฉันท์ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ นอกจากนี้จะเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สมเหตุสมผล สามารถมีข้อโต้แย้งได้ทุกมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 163 ที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อในการแก้ไขกฎหมายได้ หรืออย่าง มาตรา 190 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างประเทศ นั้น ข้อเท็จจริงแล้ว ในการทำสัญญาจะต้องทำโดยเปิดเผย ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการได้สะดวก

นอกจากนี้เจตนารมณ์ของ มาตรา 237 ต้องการให้มีการป้องกันทุจริตการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจึงกำหนดไว้เช่นนี้ แต่การที่พรรคพลังประชาชน เสนอแก้ไขก็เพราะตื่นกลัวไปเองจากกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ใบแดง จึงกลัวว่าจะถูกยุบพรรค ทั้งที่ความเป็นจริงเรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกไว้ว่าอาจจะให้มีการยุบพรรค แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีการยุบพรรคเสมอไป

ดังนั้นวิปฝ่ายค้าน จึงไม่เห็นด้วยที่จะเสนอให้มีการแก้ไข แต่เห็นว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีปัญหาใด เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พึ่งเริ่มเพียงแค่ 2 เดือน

รัฐบาลยื่นขอแก้ รธน.วันนี้

นายวรวัจน์ เอื้อภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคาดว่าจะนำรายชื่อ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 96 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ยื่นให้ประธานวุฒิสภาฯทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาได้ในวันที่ 2 เม.ย. เพื่อขอให้บรรจุวาระ ก่อนเรียกประชุมสมาชิกทั้ง 2 สภาฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเชื่อว่า การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะแล้วเสร็จทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคนั้น จะแก้ไขให้เป็นความผิดส่วนบุคคล และปิดช่องทางการใช้ดุลพินิจพิจารณาของศาล สิ่งใดที่เป็นเผด็จการ จะแก้ไขให้หมด รวมทั้งที่ตั้งมาตามคำสั่งของ คปค. ก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย

ยันแก้5ประเด็นไม่สนกระแสต้าน

เมื่อเวลา16.00น. วันเดียวกันนี้ ที่พรรพลังประชาชน นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคพลังประชาชน ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการศึกษา และประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) ที่ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ได้ยกร่างเสร็จแล้วมี 13มาตรา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ คณะอนุกรรมการฯ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น คือ 1. แก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ยังขาดหลักการเกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพบางประการ ประกอบกับสมควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเสนอกฎหมายได้ทุกประเภท ไม่จำกัดเฉพาะในหมวด 3 และหมวด 5 เท่านั้น

2 . แก้ไขมาตรา 190 ที่กำหนดขั้นตอนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศไว้หลายขั้นตอน ทำให้การทำสัญญาในบางเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ ไม่สามารถทำได้

3. แก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง ที่กำหนดเหตุของการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างกว้าง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้การมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยุบพรรคการเมืองทำได้โดยง่าย

4.แก้ไขมาตรา 266 ตัดข้อความที่ห้าม ส.ส.หรือ ส.ว.ติดต่อประสานงานหน่วยราชการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ

5. ตัดทิ้งมาตรา 309 ที่มีผลกระทบต่อบุคคลที่ถูกระทบกระเทือนซึ่งสิทธิ และเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันเนื่องมาจากกฎ การใดๆ หรือการกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถฟ้องต่อศาลหรือองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่า กฎ หรือการกระทำนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ การยกเลิกมาตรานี้ไม่มีผลต่อ คตส. ประกาศของคปค.

นายพีรพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ จะต้องรอพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณามีมติก่อน เพราะเราจะเสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นร่างที่จะเสนอจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกพรรคก่อน ส่วนจะยื่นได้เมื่อไรนั้น ทางคณะกรรมการฯจะนำข้อสรุปของแต่ละพรรคมาหารืออีกครั้ง ในวันที่ 2-3 เม.ย.นี้

"ถ้าทุกพรรคเห็นตรงกันแล้ว ก็จะยกร่างที่สมบูรณ์แล้วเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุวาระหากสามารถยื่นได้ในสัปดาห์หน้า คาดว่าอาจจะพิจารณาในวาระต่อไป หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตามกระบวนการพิจารณาตามปกติคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน ซึ่งคงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทั้งฉบับ ถ้าในสมัยประชุมนี้พิจารณาไม่ทัน รัฐบาลก็จำเป็นต้องเสนอขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไข" นายพีระพันธุ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าร่างดังกล่าว นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เห็นด้วยหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นายกฯได้เห็นร่างแล้ว โดยจะขอให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.โดยรัฐบาลจะไม่เป็นผู้เสนอเอง

เมื่อถามว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างไร นายพีรพันธุ์กล่าวว่าจะมีการทำควบคู่กันไป ซึ่งขณะนี้มีส.ส.บางคนเสนอให้แก้ไขทั้งฉบับ โดยให้ยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก แต่คณะทำงานเห็นว่าหากแก้ทั้งฉบับจะใช้เวลานาน ดังนั้นเห็นว่า 4-5 ประเด็นจำเป็นต้องแก้ไขก่อน ขณะเดียวกันก็จะมีการศึกษาแก้ไขทั้งฉบับควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นประชาชน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอาจจะมีการแก้ไข 2 ครั้ง เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญ ซึ่งยังมีญัตติด่วนที่เสนอขอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญปี 2250 เพื่อศึกษาต่อไป

ต่อข้อถามว่าได้มีการประเมินกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินว่าหากแก้ไขในลักษณะนี้จะมีการเผชิญหน้าหรือไม่เป็นสิ่งที่พรรคต้องประเมินดูว่าสำเร็จหรือไม่ ระหว่างการแก้ไข ใน4-5 ประเด็นกับการแก้ไขทั้งฉบับ จะมีการเผชิญหน้ามากกว่ากัน ซึ่งในการแก้ไขทั้งสองส่วน ก็ถูกต่อต้านอยู่แล้ว ทุกฝ่ายก็เห็นกันอยู่ และหลายคนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหนึ่งในการใช้หาเสียง จากนี้ต่อไปเป็นหน้าที่ของพรรคจะต้องไปชี้แจงเหตุผลทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต้องแก้ไขเพราะอะไรซึ่งพรรคไม่ได้แก้ไขเพื่อตัวเองตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งในที่สุดที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข พร้อมให้มีการศึกษาทั้งฉบับต่อไป

แฉหมกเม็ด ม.สุดท้ายมีผลย้อนหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่วิปรัฐบาลเห็นชอบได้ให้หลักการ และเหตุผล ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเป็นที่สังเกตในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตราท้าย คือ มาตรา 13 ตามต้นร่างระบุว่า " บทบัญญัติในมาตรา 68 และ บทบัญญัติในวรรคสองของมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 เป็นต้นไป" ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในวันที่ 24 ส.ค.50 เป็นวันที่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 บังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในเวลาประมาณ 19.00น. นายพีรพันธุ์ เดินเข้ามายังห้องสื่อมวลชน พร้อมได้ชี้แจงร่างแก้ไขที่แจกให้สื่อ โดยเฉพาะในมาตราสุดท้าย ว่า มีการลักไก่ พร้อมได้มาขีดตัดออกว่า ไม่มีมาตรานี้ออกไป พร้อมว่า กำลังตรวจสอบดูว่า ใครเป็นแก้ไข แต่สงสัยมือที่มองไม่เห็น แอบลักไก่เพราะที่เสนอไปไม่ใช่แบบนี้

ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และอดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว และเป็นสาเหตุในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา

"ต้องดูว่าการแก้นั้นสมควรแก่การแก้หรือไม่ การแก้นั้นเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือ แก้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง หากแก้เพื่อพวกพ้องของตน แก้เพื่อหนีการยุบพรรค แก้เพื่อให้คนบางคนพ้นคดีก็ไม่ควรจะทำ เพราะประชาชนอาจจะไม่ยอมคุณก็ได้ ประชาชนต้องจับตาดูว่า จะยอมให้เขาใช้เสียงข้างมากลากไปหรือไม่ " อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. กล่าว และว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเช่นเดียวกันว่าเขายอมรับหรือไม่

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะเปิดทางให้ผู้ต้องหาในคดีต่างๆฟ้องกลับ คตส.ได้ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า หากคุณคิดว่าบริสุทธิ์ควรจะต้องมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะคตส.ไม่ได้เป็นผู้ที่จะชี้ผิด เพียงแต่นำผลสอบสวนส่งให้กับกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากมีข้อแก้ต่างก็สามารถไปต่อสู้ได้ และสามารถชี้แจ้งได้

" ขณะนี้เป็นความรับผิดชอบของประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนเลือกเขามา ดังนั้นหากประชาชนเป็นห่วง คตส. ก็ต้องมาช่วยปกป้องเขา และประชาชนคิดอย่างไรกับสิ่งที่เขาทำ ประชาชนเป็นคนเลือกเขาเข้ามา หากเขามาทำอย่างนี้ ประชาชนชอบหรือไม่ คมช.ได้คืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว และประชาชนได้มอบอำนาจให้เขาเข้ามาบริหารประเทศ และหากเขาเข้ามาทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนคนที่เลือกเขาจะต้องรับผิดชอบ" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า เหตุการณ์จะกลับไปสู่วังวนเดิมๆหรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า สิ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิ่งที่คุณเคยพูดกับสิ่งที่คุณจะกระทำเหมือนกันหรือไม่ ประชาชนให้โอกาสคุณเข้ามาทำงานและคุณเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเป็นรัฐบาลของใครคนใดคนหนึ่ง และหากคุณเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ต้องทำผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ นำพาประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า แต่หากเขาเป็นรัฐบาลของคนใดคนหนึ่ง เขาก็จะมุ่งแก้ปัญหาของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น