1.“สมเด็จพระราชินี” ทรงหายพระประชวรแล้ว ด้านคณะแพทย์ขอให้ทรงงดพระราชกิจระยะหนึ่ง!
หลังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ประทับรักษาพระโรคหวัดใหญ่ หลอดพระวาโยอักเสบ(หลอดลมอักเสบ) และโพรงพระนาสิกอักเสบ(ไซนัสอักเสบ) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ในที่สุด พระอาการประชวรได้ดีขึ้นตามลำดับ และสามารถเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปประทับพักฟื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานได้แล้วเมื่อวันที่ 23 มี.ค. โดยวันดังกล่าว สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้นมาก พระอาการอักเสบของโพรงพระนาสิกหายเกือบเป็นปกติ ไม่ทรงมีไข้ มีพระอาการกรรสะ(ไอ)เพียงเล็กน้อย สามารถเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลกลับไปประทับพักฟื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานได้ อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์เห็นสมควรขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกิจไว้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ระหว่างที่เสด็จฯ ลงจากชั้น 20 ตึก สก.และทรงพระดำเนินไปยังรถยนต์พระที่นั่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่พร้อมใจกันมาเฝ้ารับเสด็จฯ ว่า หมอบอกว่าหายดีแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า อย่าเพิ่งไปเที่ยวที่ไหน ให้พักผ่อนที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้หายดีเสียก่อน ด้าน รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้กราบบังคมทูลว่า หลังจากเสด็จฯ กลับ ควรพักฟื้นพระวรกายอีกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยไม่ควรทรงงานหนัก จนกว่าพระวรกายจะแข็งแรง เพราะหากร่างกายอ่อนแอ ไข้อาจจะกลับมาอีกได้
2.สังคมสวดยับ “รบ.”เร่งแก้ รธน.หนีคดียุบพรรค ด้าน “สมัคร”แขวะคนต้าน “ดัดจริต”!
หลังนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน(พปช.) ได้ออกมาอ้างว่า มีคนจ้องยุบ 3 พรรครัฐบาล(พปช.ชท.-มฌ.) ซึ่งหากยุบ จะเท่ากับเป็นการฆ่าประเทศไทย ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็รีบออกมาส่งสัญญาณว่า ต้องเร่งแก้ รธน.มาตรา 237 เพื่อปลดล็อกไม่ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคง่ายเกินไป โดยบอก ต้องรีบแก้มาตราดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่คดียุบพรรคจะถูกส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า หลายฝ่ายในสังคมได้ออกมาตำหนิการเร่ง รธน.มาตราดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เช่น นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่าง รธน.2550 ตั้งข้อสังเกต(23 มี.ค.)ว่า ถ้าพรรคในรัฐบาลไม่ยอมรับ รธน. แล้วลงเลือกตั้งทำไม จัดตั้งรัฐบาลภายใต้ รธน.นี้ทำไม และเมื่อพรรคในรัฐบาลทำผิดกฎหมาย แล้วมาโทษ รธน.คงไม่ถูกนัก ด้านที่ประชุมวิปรัฐบาลที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธาน ไม่สนกระแสสังคมโดยมีมติ(24 มี.ค.)ว่า เห็นควรแก้ รธน.มาตรา 237 มาตราเดียว เพื่อให้การทำผิดของกรรมการบริหารพรรคเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวพันมาถึงพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ โดยจะแก้มาตราดังกล่าวให้เสร็จใน 1 เดือน ทั้งนี้ ท่าทีของรัฐบาลยิ่งทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะเห็นได้ว่า รัฐบาลต้องการแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ของตนและบางพรรคในรัฐบาลเพื่อหนีคดียุบพรรค เช่น พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.และอดีตรักษาการประธาน คมช.ชี้ การแก้ รธน.สามารถทำได้ แต่การแก้ไขนั้นต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อชาติ ไม่ใช่เพื่อกลุ่มคนเล็กๆ ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 บอกถึงวัตถุประสงค์ของ รธน.มาตรา 237 ว่า เพื่อให้ผู้บริหารพรรคเกิดความหลาบจำและกลัวการกระทำผิด แต่เวลานี้กลับมีความพยายามแก้ รธน.ในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะถูกยุบพรรค แล้วป้ายความผิดให้ รธน.ทั้งที่คนเหล่านี้รับรู้กติกาในมาตราดังกล่าวตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งแล้ว และยังสำคัญผิดอีกว่า ถ้ายุบพรรคแล้ว ประเทศจะตายตามไปด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง หลังรัฐบาลถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเร่งแก้ รธน.มาตรา 237 มาตราเดียว ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ออกมาแก้เกี้ยว(25 มี.ค.)ด้วยการอ้างว่า จะไม่แก้มาตราเดียว เมื่อแก้แล้วก็ต้องแก้ทั้งหมด นายสมัครยังอ้างอีกว่า มีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเพื่อฆ่าพรรคพลังประชาชนให้ตาย พร้อมยืนยัน การแก้ รธน.ของรัฐบาลไม่ได้เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ได้ แต่เห็นแก่บ้านเมือง ใครจะดัดจริตบอกว่าไม่ควรแก้ ก็ว่ากันไป วันเดียวกัน(25 มี.ค.)ชมรมสมาชิกสภาร่าง รธน.หรือ ส.ส.ร.2550(ที่มีทั้งอดีต สนช.-อดีต ส.ว.-นักวิชาการด้านนิติศาสตร์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขมาตรา 237 วรรค 2 โดยชี้ การแก้ รธน.ต้องไม่ใช่แก้ตามความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าแก้ได้ตามใจชอบ กฎหมายอาญาทั้งหลายเรื่องการปล้นฆ่า ชิงทรัพย์ ก็ต้องยกเลิกให้หมดเพราะโจรก็ไม่ชอบแน่นอน ด้านประธาน กกต.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ก็มอง(26 มี.ค.)ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะแก้ รธน.2550 และว่า ไม่ควรโทษว่า รธน.ไม่ดี เพราะ รธน.บังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ใช้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการแก้ไขต้องรอบคอบและทำโดยรวม ขณะที่ประธานวุฒิสภา นายประสพสุข บุญเดช ชี้ว่า มีการวางกติกาตาม รธน.มาตรา 237 มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่าทำผิดก็ต้องยุบพรรค ดังนั้นเมื่อทุกคนทราบล่วงหน้าแล้ว ก็ต้องเล่นไปตามกติกานั้น ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และมือกฎหมายพรรคพลังประชาชน เผย(26 มี.ค.)ว่า พรรคเห็นควรแก้ รธน.4 ประเด็น 1.มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค 2.มาตรา 261 เกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องการให้องค์กรอิสระและผู้นำทางทหารยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย 3.มาตรา 266 ที่ห้าม ส.ส.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ซึ่งพรรคพลังประชาชนอ้างว่า ทำให้ ส.ส.ไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ 4.ยกเลิกมาตรา 309 เพื่อไม่ต้องคุ้มครององค์กรที่ตั้งขึ้นตามประกาศ คมช. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การที่รัฐบาลต้องการยกเลิกมาตรานี้เพื่อเช็คบิล คมช.และ คตส. ขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีต ครม.พ้นผิดในคดีต่างๆ ที่ถูก คตส.กล่าวโทษ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด(29 มี.ค.)คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน(เช่น นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน)ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าจะมีการเสนอแก้ รธน.18 มาตรา โดยต้องรอที่ประชุมใหญ่ของพรรคพิจารณาก่อนในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมายืนยันว่า การแก้ รธน.ของรัฐบาลเพื่อทำให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง พร้อมโจมตีฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ รธน.ว่า เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของเผด็จการ ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้ใช้อำนาจที่ตนกำกับดูแลสื่อ สั่งการให้สื่อของรัฐให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการแก้ไข รธน. โดยนายจักรภพ ยืนยัน(27 มี.ค.)ว่า การให้สื่อของรัฐทำเช่นนั้น ไม่ใช่การโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ รธน.ของรัฐบาลแต่อย่างใด ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 เผย(29 มี.ค.)ว่า ขณะนี้นักวิชาการสายนิติศาสตร์กำลังเป็นห่วงการแก้ รธน.มาตรา 237 และ 309 อย่างมาก เพราะหากแก้ไขจริง จะเป็นเสมือนการการทำให้เรื่องที่ผิดกลับกลายเป็นเรื่องถูกได้ และผลจากการดำเนินการดังกล่าว จะนำไปสู่ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมและเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอีกได้ ดังนั้นสัปดาห์หน้านี้ คาดว่านักวิชาการสายนิติศาสตร์จะออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้มาตราดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงหลายฝ่ายในสังคมจะคัดค้านการเร่งแก้ รธน.ของรัฐบาล แม้แต่ ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเองบางส่วนก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน เช่น ส.ส.อีสานของพรรคพลังประชาชนประมาณ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ นำโดยนายปัญญา ศรีปัญญา ได้ออกมาบอก(27 มี.ค.)ว่า ไม่ใช่แค่ ส.ส.ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเร่งแก้ รธน. แม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเช่นกัน เพราะมองว่าแก้เพื่อตัวเองเพื่อหนีคดียุบพรรค ดังนั้นรัฐบาลควรสนใจการแก้ปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า ส่วนคดียุบพรรค หากเกิดขึ้นจริง ส.ส.ก็ยังอยู่ เพียงแต่ต้องหาพรรคใหม่สังกัด
3. “ที่ปรึกษากฎหมาย กกต.”ฟันธง ต้องส่ง “ศาล รธน.”ยุบ“ชท.-มฌ.”!
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยังไม่ชี้ขาดว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยหรือไม่ หลังกรรมการบริหารพรรคของ 2 พรรคดังกล่าวกระทำการทุจริตซื้อเสียงจน กกต.มีมติให้ใบแดงไปแล้ว โดย กกต.เห็นต่างจากคณะอนุกรรมการ(ที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็น ปธ.)ที่สรุปว่า การทำผิดของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 พรรคเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงไม่เข้าข่ายที่พรรคจะถูกยุบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ กกต.จึงให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธานไปพิจารณาก่อนว่า กรณีที่กรรมการพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แม้หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ จะไม่ได้มีส่วนรู้เห็นการกระทำนั้น จะถือว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายมาตรา 237 วรรค 2 ของ รธน.และมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคหรือไม่? และ กกต.สามารถมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่? ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26มี.ค.คณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ได้ประชุมและมีมติ 6 : 1 ว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ถือว่าพรรคการเมืองกระทำการนั้น โดยเข้าข่ายมาตรา 103 วรรค 2 และ กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ทั้งนี้ ที่ปรึกษา กกต.เสียงข้างมากมองว่า แม้ถ้อยคำในกฎหมายจะไม่เขียนชัด แต่ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดเสียเอง ก็ถือว่าพรรครู้เห็นแล้ว โดยเป็นการตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์ของ รธน. ขณะที่ที่ปรึกษา กกต.เสียงข้างน้อย 1 คน คือนายขวัญชัย สันตสว่าง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า กรณีที่กรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งทำผิดกฎหมาย น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว โดยนายขวัญชัย บอก ต้องตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่นำเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตีความก่อน ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม บอก(27 มี.ค.)ว่า คาดว่าสัปดาห์หน้านี้ กกต.น่าจะได้รับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย และคงนำเข้าที่ประชุมได้ในวันที่ 2 เม.ย. แต่เชื่อว่า คงยังไม่ได้ข้อสรุปเพื่อลงมติ เพราะอาจจะมีกกต.บางคนนำเรื่องต่างๆ กลับไปดูก่อนที่จะลงมติ นายสุเมธ ยังเผยด้วยว่า หาก กกต.มีมติตามที่ปรึกษากฎหมาย ก็จะส่งให้อัยการพิจารณาว่าจะส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคหรือไม่ภายใน 30 วัน หากอัยการเห็นว่าไม่ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ อัยการและ กกต.ก็ต้องมาตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ถ้าอัยการยังยืนยันความเห็นเดิม ก็เป็นอำนาจของประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะตัดสินใจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้เอง
4. “แนวร่วมพันธมิตรฯ”ประกาศก้อง มธ. ต้าน“ทักษิณ-หุ่นเชิด”ลบล้าง-ตัดตอนความผิดตัวเอง!
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดสัมมนารายการ “ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ”ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งที่ 1 เพื่อต้านเผด็จการทุนนิยมสามานย์และรัฐตำรวจที่พยายามทำให้ระบอบทักษิณฟื้นคืนชีพ นอกจากนี้การสัมมนายังมีขึ้นหลังแกนนำพันธมิตรได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.คัดค้านและประณามการที่รัฐบาลจะแก้ รธน.มาตรา 237 เพื่อลบล้างความผิดของตนกรณีทุจริตซื้อเสียงไม่ให้ต้องถูกยุบพรรค และการแก้มาตรา 309 เพื่อโละ คตส.และลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพ้อง สำหรับบรรยากาศการสัมมนารายการ “ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ”ที่มีขึ้นตั้งแต่ 16.00-23.00น.ปรากฏว่า มีประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเกือบ 2 หมื่นคน ส่งผลให้หอประชุมใหญ่ไม่สามารถรองรับคนได้ทั้งหมด ต้องดูจากจอโปรเจคเตอร์ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ภายนอกหอประชุม โดยกิจกรรมในงานเปิดฉากด้วยการอภิปรายของตัวแทนนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่มาพูดถึงมุมมองของตนว่า จะฝ่าข้ามการเมืองที่น่าอึดอัด เบื่อหน่าย และไร้ความหวังได้อย่างไร? ต่อด้วยการอ่านบทกวีของศิลปินแห่งชาติอย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ ที่มาร่วมปลุกจิตสำนึก-ประจานพวกคนโกงชาติ จากนั้นเป็นการขับกล่อมดนตรีเพื่อชีวิตของผู้ที่ร่วมต่อสู้กับพันธมิตรฯ มาตลอดอย่าง หงา คาราวาน ต่อด้วยการอภิปรายของพันธมิตรภาคต่างๆ เกี่ยวกับ“รัฐบาลเลือกตั้งกับการเมืองภาคประชาชน” และการอภิปราย “เหลียวหลังแลหน้าการเมืองไทย”โดยคณาจารย์จากหลายสถาบัน สำหรับกิจกรรมที่เรียกความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ก็คือ งิ้วธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อตอนว่า “2551 อันธพาลครองเมือง” ทั้งนี้ ก่อนจะถึงช่วงไฮไลต์ที่แกนนำพันธมิตรฯ จะขึ้นพูดบนเวที ได้มีการเปิดตัวคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเรื่องต่างๆ 6 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและเครือข่าย(ได้แก่ นายวีระ สมความคิด ,อ.ภูวดล ทรงประเสริฐ ฯลฯ) 2.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการคุกคามกลั่นแกล้งและการละเมิดศักดิ์ศรีของข้าราชการ(ได้แก่ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ,อ.ไชยันต์ ไชยพร ฯลฯ) 3.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการจัดระเบียบสื่อสารมวลชน(ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ,นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ฯลฯ) 4.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไข รธน.(อ.คมสัน โพธิ์คง ,อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ฯลฯ) 5.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน(ได้แก่ นายสุวิณัย ภรณวลัย ,นายสุริยัน ทองหนูเอียด ฯลฯ) 6.คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการขายรัฐวิสาหกิจ(ได้แก่ นายศิริชัย ไม้งาม ,นายกิตติชัย ใสสะอาด ฯลฯ) ส่วนประเด็นที่แกนนำพันธมิตรฯ แต่ละคนขึ้นพูดบนเวทีนั้น ที่น่าสังเกตก็คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาแฉว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีคนคนหนึ่งเสนอเงินสดให้ตน 500 ล้าน เพื่อยุติการเป็นปฏิปักษ์กับคนคนหนึ่ง โดยคนดังกล่าวพยายามขอพบเพื่อคุยกับตน เมื่อตนบอกว่า ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะพูดคุยกัน คนดังกล่าวก็โมโหแล้วออกมาด่าตน พร้อมข่มขู่ว่าตนต้องติดคุก นายสนธิยังบอกด้วยว่า มีอีกรายหนึ่งโทรศัพท์มาหาตนเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน บอกว่า มีต่างชาติสนใจจะขอซื้อเอเอสทีวี และขอเข้าพบตน ตนก็ให้พบ แต่พอตนถามชื่อคนที่จะซื้อเอเอสทีวี คนที่เข้ามาคุยกลับไม่ยอมบอก โดยบอกว่า บอกไม่ได้ ตนจึงไม่คุยด้วย แล้วคนคนนั้นก็หายไป ทั้งนี้ ไฮไลต์ของยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษเมื่อวันที่ 28 มี.ค. นอกจากแกนนำพันธมิตรฯ จะชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นปัญหาของแผ่นดิน และรัฐบาลนอมินีพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งจะแก้ รธน.เพื่อให้ตนและพวกพ้องพ้นผิดในคดียุบพรรค และตัดตอนคดีของพ.ต.ท.ทักษิณให้ไม่ต้องขึ้นสู่ศาลแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ และประชาชนผู้ร่วมงานเกือบ 2 หมื่นคนยังได้ร่วมกันประกาศและปฏิญาณว่า จะร่วมกันขยายเครือข่ายประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อต่อต้านเผด็จการทุนนิยมสามานย์จนถึงที่สุด และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งจะต่อต้านการกระทำของรัฐบาลหุ่นเชิดที่ไม่ซื่อตรงต่อคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และพฤติกรรมทั้งปวงที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและลบล้างความผิดส่วนตน นอกจากนี้จะร่วมกันปกป้องข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่ให้ถูกข่มเหงหรือจองเวรจากระบอบทักษิณ จะขจัดคนไม่ดีและรัฐมนตรีพาลทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจด้วยวิถีทางตาม รธน. และขอส่งกำลังใจให้กระบวนการยุติธรรมพิพากษาคดีความที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง ด้วยความกล้าหาญและรวดเร็ว เพื่อนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมไทย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้พันธมิตรฯ จะยึดหลักสันติวิธีในการจัดสัมมนาครั้งนี้ แต่ก็ไม่วายมีกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็น“กลุ่มรักประชาธิปไตยก้าวหน้า”ประมาณ 300 คน มาชุมนุมด่าทอพันธมิตรฯ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายบริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวง พร้อมแสดงความก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงด้วยการขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินใส่ฝ่ายตรงข้าม ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประกาศว่า หากไม่หยุดพฤติกรรม จะสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม หลังการสัมมนาจบลงในช่วงดึก ปรากฏว่า สมาชิกกองทัพธรรมที่มาร่วมฟังสัมมนาครั้งนี้ ได้ถูกม็อบดังกล่าวรุมปาก้อนหินใส่ระหว่างไปขึ้นรถที่กองทัพธรรมจอดไว้ที่กลางสนามหลวง ส่งผลให้สมาชิกกองทัพธรรมดังกล่าวซึ่งมีแต่ผู้หญิง คนแก่และเด็กได้รับบาดเจ็บนับสิบคน โดยผู้บาดเจ็บได้เข้าแจ้งต่อ สน.ชนะสงครามแล้ว ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน และโฆษกกลุ่มมหาประชาชนรวมพิทักษ์ประชาธิปไตย ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะจัดกิจกรรมต้านพันธมิตรฯ พร้อมกับที่พันธมิตรฯ จัดทุกเวที รีบออกมาอ้างว่า กลุ่มรักประชาธิปไตยก้าวหน้าที่คัดค้านกลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับกลุ่มตน เพราะกลุ่มตนได้เลื่อนวันชุมนุมออกไปแล้ว แต่จะจัดกิจกรรมใน 6-7 วันนี้แน่นอน โดยเตรียมขอใช้หอประชุมธรรมศาสตร์แล้ว หากไม่ได้ ก็จะไปใช้ที่สวนลุมพินีแทน
5. “จักรภพ”ส่อขัด รธน. สั่งกรมประชาฯ ยึดคลื่นวิทยุคืน 5 สถานี แถมขู่ปลด “ผอ.อสมท”!
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้แถลงถึงการปรับปรุงสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มาเป็นสถานีข่าวและสาระเต็มรูปแบบภายใต้ชื่อใหม่ เอ็นบีที(National Broadcasting of Thailand) หรือสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าผังรายการใหม่ ผู้ประกาศจะมาจากพนักงานทีไอทีวีเดิม นายจักรภพ ตอบว่า ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มพนักงานทีไอทีวี แต่มาจากช่อง 11 ด้วย และจะแก้ปัญหาลูกจ้างช่อง 11 ให้เป็นข้าราชการ เพื่อให้มีรายได้ดีขึ้น นายจักรภพ ยังดิสเครดิตทีวีสาธารณะไทยพีบีเอสด้วยการเปรียบกับช่อง 11 ที่จะปรับปรุงเป็นเอ็นบีทีด้วยว่า ดูเผินๆ ก็เป็นทีวีสาธารณะที่มุ่งแข่งขันเชิงสร้างสรรค์เหมือนกัน ต่างแค่ว่าไทยพีบีเอสเริ่มต้นตอนที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เอ็นบีทีเกิดขึ้นตอนที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว นายจักรภพ ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานี ได้แก่ เอฟเอ็ม 88 เมกะเฮิร์ตซ์ ,เอฟเอ็ม 93.5 ,เอฟเอ็ม 95.5 ,เอฟเอ็ม 97.0 และวิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม 105(รายการของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ถูกปลดก่อนหน้านี้ก็อยู่ที่วิสดอมเรดิโอ) โดยนายจักรภพ อ้างเหตุที่ให้กรมประชาสัมพันธ์ดึงคลื่นวิทยุดังกล่าวกลับมาดูแลเองว่า เพื่อให้การเสนอข่าวมีความสมดุล-เป็นกลาง ไม่ใช่ว่าเป็นสถานีวิทยุของรัฐแล้วมีแต่รายการที่ชี้แต่ความพินาศของบ้านเมือง นายจักรภพ ยังอ้างด้วยว่า การยึดคลื่นคืนครั้งนี้ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นช่วงที่คลื่นดังกล่าวหมดสัญญาพอดี แต่สังคมทราบว่านายจักรภพโกหก เพราะภายหลังผู้บริหารคลื่นวิสดอมเรดิโอ เอฟเอ็ม 105 ได้ออกมายืนยันว่า สัญญาสัมปทานคลื่นดังกล่าวยังไม่หมด และอีกนานกว่าหมดสัญญา ทั้งนี้ ไม่เพียงนายจักรภพจะสั่งกรมประชาสัมพันธ์ให้ยึดคลื่นวิทยุคืน 5 สถานีทั้งที่บางคลื่นยังไม่หมดสัญญา แต่นายจักรภพ ยังอาจใช้อำนาจเกินรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อ ด้วยการส่งสัญญาณขู่ว่าจะปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ พ้นตำแหน่ง กก.ผอ.ใหญ่ บริษัท อสมท โดยนายจักรภพ ได้ออกมาอ้าง(25 มี.ค.)ว่า อสมท.ขาดทุนถึง 27 ล้านบาทในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปีของ อสมท พร้อมกันนี้นายจักรภพได้สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของ อสมท.โดยมีตนเป็นประธาน นายจักรภพ ยังบอกด้วยว่า สัปดาห์หน้าตนจะเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นกรรมการบริหาร(บอร์ด)อสมท ที่ว่างอยู่ 9 คนจาก 13 คน พร้อมยืนยัน บอร์ดที่จะตั้งจะไม่มี นพ.เหวง โตจิราการ หรือนายจรัล ดิษฐาอภิชัย หรือ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย และว่า รายชื่อบอร์ดทั้ง 9 ต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะพิจารณาว่า ต้องปรับเปลี่ยนผู้บริหารคนปัจจุบัน โดยเฉพาะ กก.ผอ.ใหญ่หรือไม่ ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาทำงาน อสมท ในเดือน มี.ค.2550 จะเห็นว่าผลประกอบการครึ่งแรกของปีสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ครึ่งปีหลัง ผลประกอบการก็สูงกว่าครึ่งปีแรก 35% และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นอีกในปีนี้ ส่วนผลประกอบการในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น นายวสันต์ ชี้แจงว่า ทุกคนก็รู้ว่ามีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น(สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์) แต่ยังมั่นใจว่า ผลประกอบการปีนี้จะเป็นไปตามเป้า คือ ขยายตัว 15-20% ทั้งนี้ บรรดาโบรกเกอร์หลายราย ต่างมองว่า นายวสันต์สามารถอธิบายเหตุผลได้ เพราะเดือน ม.ค.มีรายการพิเศษมาก รายการบันเทิงน้อย ทำให้รายได้จากโฆษณาลดลง ซึ่งเป็นแนวโน้มของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องอยู่แล้วที่ไตรมาสแรกรายได้ลดลง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำพูดของนายจักรภพที่อ้างว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้าน ได้ส่งผลให้ราคาหุ้น อสมท ตกลง 2 วันซ้อน วันละ 1 บาท ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การออกมาพูดของนายจักรภพ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหลักทรัพย์ฯ ฐานให้ข้อมูลเท็จและปั่นหุ้น อย่างไรก็ตาม นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้ออกมาป้องนายจักรภพ โดยบอก การที่รัฐมนตรีที่กำกับดูแล อสมท ออกมาระบุว่า อสมท ขาดทุน 27 ล้าน ไม่ถือเป็นความผิด แค่ไม่เหมาะสม ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ก็ป้องนายจักรภพว่าไม่น่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 239 และ 240 เพราะนายจักรภพไม่ได้เป็นผู้บริหารหรือกรรมการใน อสมท เป็นเพียงรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ม.239 ระบุห้ามบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เผยแพร่ข้อมูล ส่วน ม.240 ระบุห้ามบุคคลเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ด้านสมาคมวิชาชีพสื่อ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ประชุมและมีมติว่ากรณีที่นายจักรภพสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานี แถมแสดงพฤติกรรมข่มขู่คาดโทษและสั่งตั้งกรรมการสอบ กก.ผอ.ใหญ่ อสมท อาจเข้าข่ายกระทำการต้องห้ามตาม รธน.2550 มาตรา 268 ดังนั้นสมาคมวิชาชีพสื่อจะดำเนินการเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.เร็วๆ นี้ ขณะที่นายจักรภพ ได้ออกมาพูดใหม่ โดยอ้าง(28 มี.ค.)ว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสรรหาบอร์ด อสมท ที่ว่างลง หรือการเปลี่ยนแปลงตัว กก.ผอ.ใหญ่แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของบอร์ดโดยตรง ส่วนที่บอกว่าถึงเดือน เม.ย.แล้วค่อยจัดการนั้น ตนก็เพียงรายงานปฏิทินเวลาให้ทราบเท่านั้นว่านั่นคือเวลาของการประชุมผู้ถือหุ้น.