xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเบรก “หุ่นเชิด” ทุรังแก้ รธน.ชนวนนองเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการเตือนหุ่นเชิดอย่าจุดชนวนนองเลือด ด้วยการเร่งแก้ รธน.เชื่อชนชั้นกลางจะขยายวงกว้าง ชี้ สถานการณ์รุนแรงอยู่ใกล้แค่เอื้อม เมื่อรัฐบาลและทักษิณ อยู่ในภาวะจนตรอก แนะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าชิงยุบสภาหนี เย้ย พปช.หากเลือกตั้งเป็นธรรม เก้าอี้ ส.ส.สูสี ปชป.


วันนี้ (3 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา จัดเสวนาในห้วข้อ “สงครามการ (กลาง) เมือง พลังประชาชน-พันธมิตรฯ ชนวนวิกฤต 6 ตุลา ภาค 2” โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณะบดี คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

นายสุรชาติ กล่าวว่า มีคนบอกว่า การเมืองในปัจจุบันเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้น คิดว่าไม่เหมือนกัน เพราะเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นเป็นแบบซ้าย กับขวา พิฆาต แต่ปัจจุบันนั้นเป็นขวากับขวาพิฆาต ซึ่งสังคมไทยในยุคนี้จะแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ถ้าเปรียบสื่อ คือ สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี กับ พีทีวี หรือทุนนิยม กับ จารีตนิยม โดยมีแกนกลาง คือ ประชานิยม ทุนนิยม และโลกาภิวัตน์ อุดมการณ์เช่นนี้ถ้าเปรียบกับบทสวดมนต์ในพุทธศาสนา ก็คือ ไตรสรณคม ซึ่งอุดมการณ์ 3 ส่วนนี้ จะแบ่งเป็นจารีตนิยม ชาตินิยม และอุดมการณ์ ต่อต้านการเมือง จะเห็นได้ว่า ในละตินอเมริกาจะมีอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองเกิดขึ้น โดยมีทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง มีแกนกลางโดยมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวโยง โดยมีกระแสไม่รับการเมืองมาจากการเลือกตั้ง คือ เห็นแต่ด้านร้ายของการเลือกตั้ง คือ เชื่ออุดมการณ์ต่อต้านการเมืองมากกว่าผู้นำ เพราะเขาเชื่อว่าทหารเป็นผู้มีศีลธรรมสูง มากกว่านักการเมือง เพราะเขาคิดว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมักจะทุจริต คอร์รัปชัน และทำลายชาติ

คือ ไม่รักการเมืองแบบการเลือกตั้ง มองลบ เห็นแต่ด้านร้าย เขาบอกว่า คนที่เชื่ออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง มองว่า ผู้นำทหารมีสถานะศีลธรรมสูงกว่าพรรคการเมือง ผลจากวิธีคิดทำให้คนส่วนหนึ่งมองการเมืองแบบลบ เช่น มองนักการเมือง

ซึ่งจะต้องให้พลังอำนาจเข้ามาจัดการ คือ ทหาร หรือผู้นำทหารเข้ามาจัดการ ซึ่งกระแสอย่างนี้เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว แต่ไม่มีการอธิบายเชิงปรากฎการณ์ทางการเมือง ซึ่งทุกวันนี้จะมอง ขวา มองขวา ด้วยสีเฉดเดียวกันไม่ได้ จะต้องมองหลายเฉดสี

ผศ.ดร.สุรชาติ กล่าวอีกว่า กระแสนิยมเกิดขึ้นที่ชัดเจนคือเรื่อง ปราสาทพระวิหาร ที่มีไม่คำนึงข้อเท็จจริงการทำสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ของรัชกาลที่ 5 และ มติ ครม.ปี 2505 ซึ่งเรื่องนี้สิ้นสุดไปแล้วในปี 2545 แต่ก็มีนักวิชาการบางคนไปตีความว่าปราสาทพระวิหารยังอยู่ ตนเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ปราสาทในกัมพูชา ตั้งอยู่อาณาเขตกัมพูชา ถ้าตีความจริงก็เป็นของกัมพูชา แต่ปัญหาว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน แต่มีนักกฎหมายตีความอย่างนี้เหมือนไปเที่ยวบ้านเพื่อน แต่ลืมโทรศัพท์ ซึ่งเทียบกันไม่ได้ เพราะโทรศัพท์ หยิบจับได้ ไม่เหมือนปราสาทพระวิหาร “มีหลายคนบอก่ามีแผนที่ลับ และอนุสัญญาลับ นั้นความจริงไม่มีหรอก เพราะถ้าใครเก็บแผนที่ลับไว้ ถือว่าขายชาติ ซึ่งมีโทษหนัก แต่ถ้าคนไทยรักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงครามแต่ต้องพัฒนาบ้านเมืองร่วมกัน”

“เปลี่ยนพื้นที่สนามรบเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ถ้ารักชาติต้องไม่เอาชาติเข้าสงคราม ถ้ารักชาติต้องพาชาติออกจากสงคราม เพราะมีวิกฤตหลายอย่าง ทั้งเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันสิ้นปีอาจแตะ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และวิกฤตในบ้านเรื่องภาคใต้การทับซ้อนวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า หลังการยึดอำนาจทุกอย่างนี้แต่ 49 ไม่นิ่ง ทำให้กลุ่มที่ยึดอำนาจไม่สามารถคุมอำนาจได้ นี่คือ การเมืองใหม่ แต่ไม่ใช่คิดแบบสุดโต่ง จะเกิดสงครามการเมือง แต่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง คือ เป็นสงครามกลางเมือง เพราะเมื่อก่อนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตั้งแต่ 2516-2519 แต่ขณะนี้โลกที่มีสื่อเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากจะเกิดจราจลอย่างหนัก ถ้าคุมไม่ได้จะเป็นสงครามกลางเมือง แล้วจะเลือกเอารัฐประหารรอบใหม่หรือไม่ แล้วเมื่อมีการรัฐประหารทหารก็ไม่สามารถหาใครมาเป็นรัฐบาลได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถคุมการเลือกตั้งได้ หรือจะถอยเข้ามาจุดเดิมที่ให้ สภา เป็นสภา รัฐบาลเป็นรัฐบาล และศาลเป็นศาล แต่สังคมไทยเป็นสังคมตรวจสอบเกินถ่วงดุล โดยดำเนินภายใต้อำนาจตุลาการมากเกินไป” นายสุรชาติ กล่าว

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า อยากให้ผู้ที่เรียกร้องบนสะพานมัฆวาน เอาข้อเสนอบนถนนมาแปลงเป็นนโยบายทางการเมือง แล้วสู้กันในระบบเลือกตั้ง ถ้าสังคมเลือก ก็ดำเนินนโยบายอย่างนั้น ถ้าหากการเมืองกลับไปสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ให้เอาปัญญาเป็นที่ตั้ง แล้วบ้านเมืองจะเดินทางไปในทางที่ดี แต่ถ้าเล่นกันแบบหยาบๆ สุดท้ายก็จะลงเหวกันหมด ถ้าจะถามตนในขณะนี้อยากจะเสนอกว่าการยุบสภาเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่หลายคนอาจจะไม่รับ ซึ่งเราคิดแต่ว่าการเมืองขณะนี้เดินมาถึงทางตัน

ต้องเลิกคิดวาทกรรม เอาทหารล้างท่อ เลิกเชื่อว่าการยุบสภาผิดกฎหมาย เพราะการเมืองไม่มีทางตัน สังคมไทยต้องพ้นอวิชชาและต้องตั้งหลัก สุดท้ายทหารเป็นกรรมกรรื้อบ้าน

ด้าน นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวว่า สังคมไทยสะสมความขัดแย้ง เชิงโครงสร้างมายาวนาน เริ่มตั้งแต่มีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา แต่ต่อมาทหารได้สร้างวิธีคิดก่อการปฏิวัติ เพราะเห็นว่านักการเมืองแย่ จึงเข้ามากวาดล้างระบบรัฐสภา แต่แนวคิดนี้ต้องเจือจางไปสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี และทหารก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของรัฐ กระทั่งปี 2531 สมัย พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นจุดสูงสุดของกลุ่มทุนเกิดการคอร์รัปชัน กระจายตัวจนรัฐบาลถูกกล่าวหาเป็นบุฟเฟ่ต์ คาบิเนต จนเกิดการรัฐประหารปี 2534 แม้เหตุผลจะจริงดังที่ผู้ก่อการระบุหรือไม่ก็ไม่ทราบ ต่อมามีกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตย คือ กลุ่มทุนท้องถิ่น นักเลงอันธพาล เป็นความฉลาดของการใช้ระบบอุปถัมภ์ ในฐานะฐานเสียงของตัวเอง เมื่อตัวแทนในพื้นที่เข้ามาสู่วงการเมืองได้ จึงเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง กลายเป็นประชาธิปไตยตัวแทน ใช้ระบบอุปถัมภ์สร้างคอรัปชั่นให้เกิดขึ้น เหตุการณ์เดือนตุลาฯในอดีตที่ผ่านมาก็เกิดจากการยึดครองอำนาจของตระกูลหนึ่งและกลุ่มหนึ่ง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ได้เกิดการจัดสรรทรัพยากรไปชุมชนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามวันนี้กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นที่วันนี้อายุ 70 กว่า และเคยร่วมเหตุการณ์ดังกล่าว ก็กลับเข้ามาในสภา มาทั้งเจ้าพ่อ นักเลง อันธพาล ซึ่งคนพวกนี้ สามารถสร้างมวลชนขึ้นมาได้

นายพิชาย กล่าวต่อว่า เมื่อโภคทรัพย์กระจุกตัว เพราะทหารและนักการเมือง และทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมา ความพยายามของคนชั้นกลางที่จะสร้างกติกาการเมืองขึ้นมา และแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การสร้างระบบตรวจสอบจึงเกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีจุดอ่อน ทำให้ ส.ส.กลุ่มเดิมที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์กลับมาอีก อีกทั้งระบบการศึกษาถูกทำลาย ทำให้มีการซื้อการศึกษามาก ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี แต่ที่เกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมาย คือ ปรากฏการณ์ทักษิณ กลไกการตรวจสอบถูกบิดเบือนโดยนักการเมือง มีการทุจริตคอร์รัปชันนายหน้ากินเปอร์เซ็นต์ ทำให้สร้างความอึดอัดกับชนชั้นกลาง ในที่สุดก็เกิดกลุ่มพันธมิตรฯต่อต้านรัฐบาลทักษิณ เพื่อให้โภคทรัพย์กระจายไปทั่วสังคมและประชาชน แต่ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ แตกต่างจากนักการเมืองคนอื่น และทำให้เกิดการสถาปนาขึ้นมา หรือเป็นอุดมคติของชาวบ้าน ที่เหมือนมีคนมาโปรด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองในอดีตทำไม่ได้ ในที่สุดก็เกิดการประจันหน้ากันของกลุ่มสนับสนุนและต่อต้าน ทำให้เกิดคำถามว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ และวิกฤตที่เกิดขึ้น เกิดจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนเชิงพื้นที่ หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเชิงกลุ่มผลประโยชน์ที่ว่าใครมีทุน ซื้อเสียงก็จะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ การใช้อำนาจแทนประชาชนจึงเกิดคำถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการจัดสรรผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง แล้วโยนเศษเนื้อข้างเขียงให้ประชาชน มีจุดมุ่งหมายสถาปนาอำนาจตนเอง ซึ่งประชาธิปไตยแบบนี้เกลียดการตรวจสอบมาก เพราะตรวจสอบไปที่จุดไหน จะพบความเน่าเฟะ ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตก ที่ยินดีให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาต้องยอมรับว่าบทบาทของศาลในอีดีตไม่มีสมดุลย์กับอำนาจบริหาร ต่างจากต่างประเทศที่มีความสมดุล ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้รับผลกระทบ เมื่อกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งประชาธิปไตยจะยั่งยืนเหมือนเกาหลี

นายพิชาย วิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคต ว่า แนวโน้มน่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่าน วันนี้เราอยู่ในช่วงปริซึมเตรียมแยกเฉดสี เปลี่ยนผ่านการเมืองไทย ไม่ย้อนกลับสู่แบบเดิม ที่มีแต่นักการเมืองฉ้อฉล แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชนชั้นกลางจะเริ่มแสดงออกทางการเมือง เป็นกลุ่มหรือเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผันได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 16 6 ตุลาฯ 19 เกิดจลาจล แต่ในที่สุดก็ยุติได้ด้วยระบบพิเศษของสังคมไทย แต่วันนี้คนเป็นนายกฯ มีความคิดและการแสดงความเห็น ทำให้เกิดคำถามว่าอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้เกิดความเชื่อว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น คงเป็นเรื่องธรรมดา และนายกฯ ได้ออกมาพูดในลักษณะฝ่ายเขาฆ่าเรามามาก เราต้องฆ่าเขาบ้าง ซึ่งเป็นการเปรียบเปรย อาจไม่เป็นจริง แต่ประชาชนไม่เข้าใจ จึงเกิดกรณีม็อบอุดรฯ นี่คือการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ นอกจากนี้หากมองไปยังคนที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์บางคนวิชาชีพถูกปลูกฝังให้ใช้ความรุนแรง ซ้อมผู้ต้องหา นโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำให้ผู้ปฏิบัติตีความผิด ไปใช้ความรุนแรง เกิดกรณีมัสยิดกรือเซะ และตากใบ ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังในเหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดามาก มีทั้งกลุ่มนักเลงเจ้าพ่อ พวกคลั่งไสยศาสตร์ และมวลชนของคนกลุ่มนี้ก็เป็นฝ่ายซ้ายสุดขั้ว

เมื่อหันมามองดูแกนนำพันธมิตร ฯ 4 คน ไม่มีประวัติใช้ความรุนแรงมาก่อน โดยวิชาชีพ ยกเว้นพล.ต. จำลอง ศรีเมือง โดยลักษณะวิชาชีพมีการใช้ความรุนแรงมาก่อน แต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา พล.ต.จำลอง ได้เข้าไปอยู่สันติอโศก ปฏิบัติธรรม ที่สำคัญ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาชุมนุมเป็นผู้หญิงจากชนชั้นกลาง และการแสดงออกทางการเมืองแบบใช้ความรู้และสันติสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนมองว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อรัฐบาลและนายทุนเกิดภาวะจนตรอกและสิ้นคิด จนตรอกคือกลัวติดคุก และสิ้นคิดคือเมื่อจะติดคุกก็ทำลายให้มันพังไปหมด อยู่ที่ว่าจะเลือกจนตรอก หลีกหนี ลี้ภัย ความรุนแรงจะไม่เกิด แต่ถ้าจนตรอกแล้วสิ้นคิดจะเกิดความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกหลัก ถ้าสามารถแก้ได้จะล้างความผิดทั้งหมด เมื่อไหร่ที่ยื่นแก้รัฐธรรมนูญ หมายความว่าสิ้นคิด และจะเกิดจลาจลขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ ดังนั้นสังคมยังมีทางออกถ้านักการเมืองใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรมมีจริยธรรม ถ้าสามารถข้ามพ้นวิกฤตินี้ไปได้ก็จะมีการเมืองใหม่ที่ไม่เป็นแบบเดิม ผู้ที่เข้ามาจะถูกตรวจสอบเหมือนในอารยะประเทศอื่น ไม่เหมือนรัฐมนตรีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องแล้วก็ไม่ยอมออก

ด้านนายปริญญา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น คำถามคือเรามีทางออกหรือไม่ หรือจะปล่อยให้แตกหัก ซึ่งหากปล่อยไปจะนำไปสู่ความรุนแรงและนองเลือดได้ ทั้งนี้สาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากการใช้อำนาจไม่ชอบของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และมีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธีคือการยึดอำนาจ และทำให้สังคมไทยตกอยู่ในหลุม ที่ไม่สามารถขึ้นมาจากหลุมได้ รัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีปัญหาในหลายจุด เช่นระบบการเลือกตั้ง โดยจากการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งแบบแย่งเขตจำนวน 199 จาก 400 คน คิดเป็น 49,75 เปอร์เซ็น คะแนนที่ได้จากประชาชนคิดเป็น 36 เปอร์เซ็นเท่านั้น ซึ่งพรรคพลังประชาชนควรได้ 147 คนเท่านั้น หมายความว่าได้เกินมา 52 คน จุดนี้จงเป็นสาเหตุของความขัดแย้งเลือกตั้งไปแล้วปัญหาไม่จบ

นายปริญญา กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยปลูกฝังความเป็นพลเมืองไนระบบอนาประชาธิปไตย ที่ยองรับความแตกต่าง ไม่ใช้ความุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งคล้ายคลึงกับ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ประชาชนไทยแบ่งเป็นซีกซ้ายขวาชัดเจน ส่วนชนวนที่จะนำไปสู่การนองเลือดคือการแก้รัฐธรรมปี 50 ที่มีฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับว่าเป็นกติกาสูงสุด ยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ม.237 และม.309 และหากพลังประชาชนแก้จริง แต่แก้ไม่สำร็จ ซึ่งทางออกของเหตุการณืในเรื่องนี้คือหากปล่อยให้กระแสความรุนแรงไปเรื่อยๆสังคมจะเกิดความเสียหายในระยะยาว แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่เกิดก็มีโอกาสหลีกเลี่ยงความรุนแรง จึงขอเสนอแนวทางการหลีกเลี่ยงความรุน 4 ข้อ ได้แก่1.รักษากติกาไม่ใช้ความรุนแรงให้ได้ 2. พันธมิตรและกลุ่มต่อต้านต้องยึดมั่นในกติการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเหตุการณ์ที่จังหวัดอุดรธานี ฝ่ายต่อต้านเป็นฝ่ายเริ่มก่อน แม้พันธมิตรจะไม่ควรจัดการชุมนุมในพื้นที่สุ่มเสี่ยง แต่ฝ่ายต่อต้านก็ไม่มีสิทธิเข้าไปทำร้ายพันธมิตร ขณะที่ตำรวจจะต้องรักษากติกา และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากเกิดความรุนแรงรัฐบาลไปไม่รอดแน่ เพราะ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่เคยมีรัฐบาลไหนอยู่ได้ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันไม่ให้คนไทยฆ่ากันเอง 3.รัฐบาลจะต้องตัดชนวนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่การแก้ในขณะนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง ควรปล่อยให้คระกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นผู้ดำเนินการ และต้องเสนอร่างให้สาธารณะชนรับฟังความคิดเห็นก่อน และ4.แม้การยุบสภาไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่หากไม่มีทางเลือกอื่น การยุบสภาเป็นการแก้ปัญกหาเฉพาะหน้า เชื่อว่าจะทำให้ความรุนแรงที่เขมรเกลียวคลี่คลายออกไปได้ แล้วเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง หากใช้แนทางแก้รับธรรมนูญก้ควรแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้น หากจะทำได้จะต้องใช้ สสร.3 ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

"เหตุการณ์นองเลือดยังไม่เกิด เพียงแต่มีแนวโน้มว่าจะเกิด ดังนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องยึดหลักประชาธิปไตย ปฏิเสธ ความรุนแรง เพราะเราผ่านเหตุการณ์นองเลือด 3 ครั้ง การปฏิวัติ 8 ครั้ง แต่ทำไมสังคมไม่ดีขึ้นมาเลย ดังนั้นต้องอาศัยสันติวิธี ผมเชื่อว่าระบบอบประชาธิปไตยจะเกิดสันติสุขได้"นายปริญญา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากรัฐบาลปล่อยมาตรการ 6 เดือน จะทำให้ผลการเลือกตั้งหลังยุบสภา เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ นาย ปริญญา กล่าวว่า ถ้าจะปกครองด้วยระบอบประชธิปไตยต้องยอมรับการตัดสินของประชาชน แต่ระบอบต้องอยู่แบบอิสระ ไม่ใช่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมป์ แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาซื้อเสียงไม่ได้เลย การเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 50 ในระบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคพลังประชาชนเพียง 2 แสนคะแนนเท่านั้น คิดเป็น 40.44 เปอร์เซ็น กับ 41.08 เปอร์เซ็น ซึ่งหากประเทศไทยใช้ระบบการเลือกตั้งที่เป็นธรรม พรรคประชาธิปัตย์จะมี ส.ส.น้อยกว่าพลังประชาชนแค่ 3 คนเท่านั้น ดังนันการแก้ไขระยะยาวต้องแก้ที่ระบบเลือกตั้ง ขณะที่ยุบสภาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนที่กลุ่มพันธมิตร เสนอการเมืองใหม่ที่ให้มีการแต่งตั้ง 70 และเลือกตั้ง 30 ก็ควรเสนอให้พรรคการเมืองพิจารณา เพื่อปรับให้เป็นการเมืองใหม่ ไม่ใช่ยึดการเมืองแบบนองเลือดอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การปรับ ครม.สมัคร 4 ได้ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นหรือไม่ นาย ปริญญา กล่าว่า ช่วยได้ จะทำให้คะแนนนิยมมีมากขึ้น แต่ไม่คิดว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะมีมากขึ้น โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ยาวก็มีหากแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าหากแก้รัฐธรรมนูญ โอกาสจะอยู่สั้นลง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะมีแนวทางป้องกันปัญหาไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยวิธีนอกระบบ นายสุรชาติ กล่าว เราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะอยู่ในการเมืองนอกระบบหรือในระบบ เพราะประช่ธิปไตยไม่มีเส้นทางลัด แม้จะมีส่วนเสีย แต่อย่งน้อย หลักประกันคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อประสพปัญหาต่างๆก็ต้องร่วมกันฝ่าไป สังคม ไทยจะลดความเป็นคนเจ้าอารมณ์ลง กรณีเขาพระวิหารสังคมไทยต้องทำความเข้าใจให้ชัด เพราะหากไปตีความว่าแถลงการณืร่วมเป็นหนัสือสัยญา ภาควิชาที่ตนสอนต้องปิด หรือถ้าอย่าน กรรีที่นาย เตช บุญนาค รมว.ต่างประเทศไปร่วมประชุมและมีข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา นายเตช จะต้องนำข้อตกลงนั้นมาเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญ ม.190 วรรค 2 และถ้าสภาไม่เห็นชอบสิ่งที่ดำเนินมาก็เป็นศูนย์ และรัฐบาลไทยก็จะขาดความน่าเชื่อถือ


กำลังโหลดความคิดเห็น