xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกกรอก” ตะแบงชี้สถานภาพ ป.ป.ช.ขัดจารีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชูศักดิ์ ศิรินิล
“ชูศักดิ์” กระต่ายขาเดียวดันทุรังแก้ รธน. ตะแบงไม่เกี่ยวตัดสินยุบพรรค ยันสถานภาพ ป.ป.ช.ขัดต่อจารีตประเพณีตามระบอบ ปชต. หรือไม่ชี้อยากอยู่ต่อก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 180 วัน จากนั้นต้องสรรหาใหม่

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาลมีมติเดินหน้าเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้คณะทำงานยกร่างชุดของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มาดำเนินการว่า เป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลหารือกันและคิดว่าควรจะมีการถามความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในวิปรัฐบาล ส่วนใหญ่เห็นว่าสมควรจะแก้ไขแต่ต้องไปคิดกันว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง อาจจะแก้บางส่วนหรือแก้ทั้งฉบับ ซึ่งเวลานี้ความคิดเห็นยังไม่ตกผลึก ส่วนอนุกรรมการที่เคยตั้งไว้น่าจะหมดไปแล้วตนคิดว่าน่าจะตั้งขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอนุกรรมการเดิมมีหลายท่านไปดำรงตำแหน่งต่างๆ น่าจะมีตัวแทนมาพิจารณากันใหม่ให้เกิดความรอบคอบ ส่วนจะแก้ไขมาตราใดนั้นตนคิดว่าควรดูมาตราใดมีปัญหาก็อยู่ในความรับรู้ของสังคมโดยทั่วไป แต่ที่ตนย้ำมาตลอดก็คือแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง

“ผมยกตัวอย่างให้วิปรัฐบาลฟังว่า อย่างเรื่องการยุบพรรค เดิมทีผมทำไว้ไม่ได้ห้ามการยุบพรรคยังมีเหมือนเดิมเพียงแต่ถ้าจะยุบต้องมีเหตุผลจริงๆ เช่น กระทำการใดๆ ที่ขัดต่อความมั่นคง กระทำการอย่างร้ายแรงไม่ใช่มาเขียนเพียงว่าทำผิดกฎระเบียบของกกต.ก็ยุบพรรคแล้ว ผมว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไป โดยคนร่างรัฐธรรมนูญเอาผลวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉะนั้นสังคมต้องเข้าใจด้วยว่าที่คิดจะแก้ไม่ได้แก้เพื่อให้คนใดคนหนึ่งทีทำผิดต้องพ้นผิด มันไม่ใช่ ผมก็ย้ำให้วิปรัฐบาลฟังเพื่อที่จะได้ไปชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจถึงเจตนาการแก้รัฐธรรมนูญ” นายชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจังหวะเวลาที่แก้รัฐธรรมนูญจะแก้ข้อครหา ข้อกล่าวหาที่ว่าเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีคดียุบพรรคได้ทันหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราไม่ได้คำนึงว่าจะเป็นอย่างไร จะทันหรือไม่ แต่เมื่อถึงเวลาต้องแก้ไขก็น่าจะแก้ไข อย่าไปคิดว่าจำเป็นต้องทันยุบพรรคหรือไม่ทัน เพราะกระบวนการยังต้องผ่านรัฐสภาหรืออะไรอีกก็ต้องว่ากันไป ที่สำคัญพรรคร่วมเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดหรือไม่ซึ่งต้องมาหารือกันอีกที และวุฒิสภาจะเห็นว่าอย่างไร แต่ตนว่าทุกอย่างดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 291 ที่ให้อำนาจไว้ โดยให้ ส.ส.เข้าชื่อกัน ประชาชนเข้าชื่อ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญเพียงแต่ว่าความถูกต้องจะแก้ตรงไหนอย่างไรให้ไปคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเคลื่อนไหวที่พรรคพลังประชาชนเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอน 4 องค์กรอิสระแต่ดูเหมือนว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่ารัฐบาลตีรวนเพื่อดิสเครดิตฝ่ายที่ตรวจสอบมากกว่าที่จะใช้สิทธิตรวจสอบองค์กรอิสระตามกฎหมายที่สามารถทำได้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าการถือเอาว่าประกาศ คปค.หรือประกาศ คมช.ลงนามโดยคนคนเดียวเป็นกฎหมาย แล้วไปรองรับในรัฐธรรมนูญ มาตรา 299 ข้อสังเกตของตนมีเพียงว่าถ้าจะอ้าง มาตรา 299ที่ได้รับการยกเว้น แต่ถามว่าบทบัญญัติเช่นนี้ขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ อย่าง ป.ป.ช.ต้องมีกระบวนการสรรหา เมื่อสรรหาเสร็จต้องนำเสนอโปรดเกล้าฯ แต่พวกคุณถือว่าแต่งตั้งไว้แล้วก่อนรัฐธรรมนูญ และมารองรับไว้เลย ที่สำคัญคือว่าให้อยู่ 9 ปีโดยไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ

“ผมถามว่าการยอมรับบทบัญญัติอย่างนี้ขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ส่วนใหญ่เวลามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในอดีตจะให้อยู่ 180 วัน หรือ 120 วัน หรืออยู่บางส่วนแล้วดำเนินการสรรหาใหม่ ที่ต้องให้อยู่บางส่วนเพราะที่มาเดิมตามกฎหมายไม่เหมือนกัน เช่น ป.ป.ช.ที่มาเดิมแต่งตั้งโดยคนคนเดียว แต่ถ้าไปดูบทบัญญัติที่ว่าด้วย ป.ป.ช.ต้องสรรหาให้ได้มา 9 คน ที่ผ่านมาจะเห็นว่า คมช.แต่งตั้งมาทั้งหมด 9 คนซึ่งตรงกับที่กำหนดเอาไว้” นายชูศักดิ์ กล่าว และว่าตนก็ไม่แน่ใจว่า ป.ป.ช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องสถานะได้อย่างไรและไม่รู้ว่ายื่นได้หรือไม่

ต่อข้อถามว่า ป.ป.ช.อ้างว่าได้รับการแต่งตั้งมาอย่างถูกต้องโดยผ่านอำนาจรัฐฐาธิปัตย์เป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็อ้างได้ว่าขณะนั้นเป็นรัฐฐาธิปัตย์ แต่ตนถามว่าถ้าหากจะร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนมาตรา 299 ได้นึกถึงบทบัญญัติเรื่อง ป.ป.ช.หรือไม่ว่าโดยปกติ ป.ป.ช.จะต้องมีการสรรหาและต้องมีการโปรดเกล้าฯ แต่นี่ยอมรับไว้เลยว่าต้องอยู่ 9 ปี โดยไม่คำนึงถึงบทบัญญัติสรรหา แต่ว่ากฎหมายเรื่อง ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องสรรหาจนกว่าจะครบ 9 ปี ตนถึงบอกว่าประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขน่าคิด

ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนจะยื่นถอดถอนตามมาตรา 248 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามกระบวนการตามกฎหมายว่าถอดถอนได้หรือไม่ แต่ที่ตนยังงงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือจะถอดถอนใครจะต้องส่งประธานวุฒิสภา และต้องส่งไปที่ ป.ป.ช.ทำให้สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนต้องตีความกันให้ดี เมื่อถามว่าการที่อ้างว่าเป็นรัฐฐาธิปัตย์หมายความว่าอำนาจในการแต่งตั้งชอบด้วยกฎหมาย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยถืออย่างนี้ตลอด ว่าเมื่อผู้มีอำนาจลงนามอะไรก็เป็นกฎหมายแต่ตนก็ไม่ค่อยยอมรับเพราะเซ็นโดยคนคนเดียว แต่ถ้าจะอ้างอย่างนั้นแต่อย่าลืมว่า ป.ป.ช.ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯต้องมีการสรรหา แต่ที่ผ่านมาได้มีการยอมรับและให้อยู่ 9 ปี ถามว่าขัดต่อประเพณีการปกครองหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น