xs
xsm
sm
md
lg

คตส.ค้านแก้ รธน.รู้ทันแก้เพื่อใคร เซ็งทุ่มงบทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาม ยิ้มแย้ม ประธานคตส.
คตส.ประสานเสียง ค้านแก้ รธน.“นาม” ชี้ รู้อยู่เร่งแก้เพื่อใครบางคน ด้าน “อุดม” ให้สังคมตัดสินเหมาะสมหรือไม่ พร้อมค้านนายกฯทุ่ม 2 พันล้าน ทำประชามติ

วันนี้ (21 พ.ค.) นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยังกล่าวกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน เข้าชื่อยื่นเรื่องเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ว่า เรื่องนี้ คตส.คงไม่เกี่ยวข้องและไม่ขอออกความเห็น

เมื่อถามว่า แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มีการระบุในมาตรา 14 ว่า บรรดาประกาศคำสั่ง กฎ หรือการใดที่กระทำ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสืบเนื่องจากประกาศ คำสั่ง กฎ หรือการดังกล่าว หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดย คปค.ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ นายสัก กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราไม่เกี่ยว หน้าที่ใครก็หน้าที่มัน ถ้าให้เราทำเราก็ทำ ไม่ให้เราทำเราก็เลิก เพราะสิ้นเดือน มิ.ย.2551 เราก็จะไปแล้ว คตส.จึงไม่รู้สึกอะไร แต่ปกติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะให้มีผลย้อนหลังไม่ได้

ด้าน นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ตามหลักกฎหมาย ไม่เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น และไม่มีใครทำกันที่จะให้กฎหมายย้อนหลัง ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวเห็นว่าจะทำไม่สำเร็จ และคงต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ เช่นเดียวกับหน่วยงานหรือองค์กร อื่น เพราะคงไม่ใช่แค่ คตส.หน่วยงานเดียว ที่ทำหน้าที่ตามประกาศ คปค.หลังการปฏิรูปการปกครอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองเจตนาการเร่งรีบยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร เพราะไม่มีการประสานขอเสียงสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลอื่น นายนาม กล่าวว่า ดูก็รู้แล้วว่า เขามีเจตนาช่วยเหลือ ใครบางคนหรือเปล่า

เมื่อถามว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ แล้วมีผลย้อนหลัง จะทำให้หลักนิติรัฐขาดหายไปช่วงหนึ่งหรือไม่ นายนาม กล่าวว่า ไม่แน่ใจขอไปศึกษาในตัวร่างรัฐธรรมนูญก่อน และไม่ใช่ คตส.หน่วยงานเดียวที่ต้องศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องศึกษาด้วย

ส่วน นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.กล่าวว่า คตส.ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงควรปล่อยให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการไปตามขั้นตอน เรามีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะมีการแก้ไขมาตรา 309 ด้วยหรือไม่ ก็ไม่ขอออกความคิดเห็น แต่ต้องการให้ประชาชนและสังคม เป็นผู้ตัดสินและพิจารณาเอง แต่ทั้งนี้ เมื่อมีความมุ่งหมายแก้ไขเฉพาะองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เราก็ไม่ควรออก ความคิดเห็น เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกมาชะลอเรื่อง และจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติ นายอุดม กล่าวว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มีความเห็นว่า ขณะนี้คนไทยเดือดร้อนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จึงควรใช้เงินเพื่อเรื่องปากท้องชาวบ้านมากกว่าเรื่องการเมือง การทำประชามติ ไม่ใช่ใช้เงินแค่ 20-30 ล้านบาท แต่ใช้เป็นพันล้าน ซึ่งอาจดูเป็นจำนวนไม่มากของฝ่ายการเมือง แต่มีประโยชน์มาก สำหรับสังคมและชาวบ้าน

“ถ้าจะให้ดี รัฐบาล ควรจะนำเงิน 2,000 พันล้านบาท ไปช่วยนักศึกษา ที่สอบติดมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ 2 แสนคน เป็นค่าทุนการศึกษาให้ เชื่อว่า น่าจะใช้แค่เพียง 1 พันล้านบาท เหลืออีก 1 พันล้านบาท ก็อาจนำไปตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียน จะเป็นประโยชน์มากกว่า นำไปใช้เพื่อการเมือง ช่วยบอกนายสมัคร ด้วยว่า เพื่อนเก่าแนะนำมาเพราะไม่อย่างนั้น เงิน 2 พันล้านบาท จะสูญเปล่า หากนำมาใช้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรญนูญเพียงฉบับเดียว” นายอุดม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น