“ชวน” เตือนให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น หากการประกาศหยุดยิงของกลุ่มโจรโนเนมเป็น “ของเก๊” จี้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัด ขณะเดียวกัน ระบุปัญหาชายตึงเครียดมาจากรัฐบาลสนับสนุนเขมรให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายชวน หลีกภัย ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (18 ก.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึง การแถลงข่าวยุติการก่อเหตุของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าการแถลงข่าวไม่สามารถครอบคลุมผู้ที่ก่อเหตุร้ายได้จริง เบื้องต้นอาจเป็นเจตนาดีของผู้ที่พยายามแก้ไขปัญหา แต่เมื่อฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น หากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง สถานการณ์ความรุนแรงคงหมดไป แต่ถ้าไม่เป็นความจริง เกรงว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุที่ไม่ยอมรับคำประกาศจะออกมาแสดงจุดยืนด้วยการก่อเหตุร้ายมากขึ้นกว่าเดิม
“รอให้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร แถลงความชัดเจนของที่มาที่ไป เหนือสิ่งอื่นใดขอให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังมากกว่าเดิม เพราะคนที่ปฏิเสธเรื่องนี้คงจะออกมาแสดงบทบาท เช่น การก่อเหตุมากกว่าเดิมเพื่อเป็นปฏิกิริยาตอบโต้แสดงให้เห็นว่าคำประกาศไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้น ต้องเตือนเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน นอกจากนี้ รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงควรออกมาแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจและรู้ถึงข้อเท็จจริง” นายชวน กล่าว
ทั้งนี้ นายชวนปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างโอกาสทางการเมืองหรือไม่ แต่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่ข่าวออกไปทั่วโลก คือทำให้กลุ่มคนที่ออกมาแถลงข่าวได้รับการยอมรับมากขึ้น และว่าถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.อ.เชษฐ ถูกหลอก เรื่องนี้คงเป็นบทเรียน แต่ถ้าเป็นความจริงก็คงมีส่วนช่วยทำให้รัฐบาลเกิดความสนใจในพื้นที่มากขึ้น
“การออกมาแสดงบทบาทของ พล.อ.เชษฐา น่าจะเป็นความปรารถนาดี แต่เบื้องหลังการจัดทำเทปบันทึกภาพการแถลงข่าวจะเป็นอย่างไร ต้องรอถาม พล.อ.เชษฐา แต่เชื่อว่าการเผยแพร่เทปบันทึกภาพดังกล่าว คงได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 แล้ว แม้อาจจะไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้บัญชาการทหารบก” นายชวน กล่าว
นอกจากนี้ นายชวนยังกล่าวถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางชายแดนจากกรณีปราสาทพระวิหารว่า ทุกฝ่ายควรใจเย็น และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาคือ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นผลพวงจากการสนับสนุนของรัฐบาลไทย
อย่างไรก็ตาม นายชวน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อดีทำให้เกิดความสนใจปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลไทยเคยลงนามบันทึกช่วยจำกับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เมื่อปี 2543 ดังนั้น ทั้งสองประเทศต้องปฏิบัติตามบันทึกช่วยจำดังกล่าว โดยเฉพาะการกำหนดข้อปฏิบัติว่า ทั้งสองประเทศจะไม่เข้าไปดำเนินการอะไรในพื้นที่ทับซ้อน จึงควรรอฟังการประชุมร่วม 2 ประเทศ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องชี้แจง โดยรัฐบาลต้องไม่มีอคติ แต่ต้องฟังเหตุผลเพื่อทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้น พูดกันดีๆ ดีกว่า ถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาก็พูดจากัน” นายชวน กล่าว