xs
xsm
sm
md
lg

“นิตย์” ตอกกลับ “นพเหล่” ยัน"ขิงแก่"หนุน"พระวิหาร"จดร่วมเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม
อดีต รมว.ต่างประเทศ “นิตย์ พิบูลย์สงคราม” โต้ “นพเหล่” อ้างมั่ว - ยัน สมัย รบ.สุรยุทธ์ ไม่เคยหนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว ชี้ เคยไปเจรจาแล้วแต่ไม่ลงตัวเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เสี่ยงต่อการเสียดินแดน รัฐบาลชุดก่อนจึงยื่นประท้วงและไม่ยินยอมทำความร่วมมือใด ๆ กับเขมร

วันนี้ (5 ก.ค.) เว็บไซด์มติชนออนไลน์ รายงานข่าว นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวตอบโต้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบัน ที่อ้างว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ โดยอ้างถึงข้อมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ซึ่งจะดูแต่เพียงในย่อหน้าแรกที่ระบุข้อความว่า “ไทยและกัมพูชาเห็นพ้องถึงคุณค่าสากลที่โดดเด่นของปราสาทพระวิหาร และจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยเร็วที่สุด ดังนั้นกัมพูชาและไทยตกลงกันว่ากัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการในสมัยประชุมที่ 32 ของคณะกรรมการมรดกโลกในปี พ.ศ.2551 โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย” เท่านั้นคงไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 31 ที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ระบุไว้ว่า ไทยไม่เห็นด้วยที่กัมพูชาที่จะดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงลำพังโดยไม่มีความร่วมมือของไทย แต่กัมพูชาถือว่ามีสิทธิเพราะมีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร โดยที่สุดแล้วคณะกรรมการมรดกโลกให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพราะกัมพูชาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะเสนอเรื่องนี้โดยลำพัง เนื่องจากมีหลายประเทศแสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว

“ในมติของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนั้นระบุชัดว่า ไทยเห็นด้วยว่าปราสาทพระวิหารมีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเงินและเรื่องเทคนิค แต่การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทยและกัมพูชา นอกจากนี้เรายังเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นคือ การที่ทั้งสองประเทศต้องร่วมกันจัดทำแผนการบริหารพื้นที่ ซึ่งมีความเหมาะสมด้วยเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารมันยุติตั้งแต่คณะรัฐมนตรีไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 มีมติให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ดังนั้นไทยไม่ได้คัดค้านการที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียบปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ชัดเจนว่า เราไม่เห็นด้วยกับกัมพูชาในการประชุมที่เมืองไครส์เชิร์ชที่จะมีการดำเนินการฝ่ายเดียว สิ่งที่เรายืนยัน 2 เรื่อง คือ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และต้องหารือกันเกี่ยวกับการทำแผนบริหารจัดการ เป็นการสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข ถ้าไม่ทำตามนั้นเราก็มีสิทธิที่จะบอกว่าเราไม่เห็นด้วย” นายนิตย์ กล่าว

อดีต รมว.ต่างประเทศ ระบุต่อว่า การประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำรายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวเพื่อแจ้งต่อศูนย์มรดกโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเสียมเรียบเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย มีหลายประเด็นในการพูดคุยที่ยังอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่คลาดเคลื่อน รวมถึงเรื่องแผนที่ ซึ่งกัมพูชายังใช้แผนที่ฉบับเดิม ซึ่งยังทับซ้อนกับพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ทำให้ผู้แทนไทยแสดงความเห็นขัดแย้งในทันที แต่ที่ประชุมยังละเลยข้อโต้แย้ง ดังนั้น ผู้แทนไทยจึงได้ประท้วงและประกาศถอนตัวออกจากการทำรายงานร่วมดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการสรุปรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อส่งให้ นายสก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งยังคงเพิกเฉยต่อสิ่งที่ไทยทักท้วง ไทยก็ประกาศถอนตัวอีกครั้ง แต่ นายสก อัน บอกว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือการปักปันเขตแดนที่เราได้ทักท้วงไป ขณะที่การหารือครั้งต่อมาระหว่างผู้แทนไทยกับกัมพูชา ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น ก็หมดวาระของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น