“กรมประชาสัมพันธ์” หมดสภาพไร้อำนาจตรวจสอบพีทีวี ไม่กล้าแตะต้องสัญญาณ โยนเผือกร้อนให้ กสช.ทั้งที่ยังไม่ตั้งท้อง หวั่นข้อครหาแทรกแซง ชี้หากใครถูกหมิ่นประมาทให้ไปฟ้องคดีเอาเอง
วันนี้ (7 ก.ค.) นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากทางช่องเอ็มวีทีวี ที่พีทีวี ไปเช่าช่องสัญญาณออกอากาศได้ใช้เครือข่ายสถานีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เหมือนกับเราจะไปก้าวล่วงการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศไม่ได้ และในฐานะกรมประชาสัมพันธ์ วันนี้หลังจาก พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2551 มีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ที่ให้อำนาจกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานกำกับดูแล เพราะฉะนั้น กรมประชาสัมพันธ์จึงไม่มีอำนาจไปดูแลเรื่องนี้ โดยอำนาจทั้งหลายทั้งปวงจะไปอยู่ที่ กทช.แต่ กทช.ดูแลเพียงชั่วคราวและหลังจากนั้น กสช.จะไปดูแลแทน แต่ต้องรอหลังจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เข้าสภาและประกาศใช้แล้ว ก็จะมีการเลือก กสช.ก็จะมาวางแผนแม่บท จัดระเบียบวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมด รวมทั้งเคเบิลท้องถิ่น วิทยุชุมชน
“สรุปวันนี้ คือ กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจในการไปดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิกแล้ว และการที่เราจะไปก้าวล่วงการออกอากาศก็คงทำไม่ได้ เพราะเขาไปออกในเครือข่ายของลาว ส่วนเอเอสทีวีที่ส่งสัญญาณจากฮ่องกงและถ่ายทอดกลับมายังไทย เพราะฉะนั้นสัญญาณที่ส่งมาจากต่างประเทศเราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย แค่เหลือบตามองเขาก็หาว่าไปแทรกแซงแล้ว คงต้องรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาก่อน” นายเผชิญ กล่าว
เมื่อถามว่า หากการออกอากาศไปกระทบบุคคลอื่น นายเผชิญ กล่าวว่า หากมีการออกอากาศที่จะไปกระทบใดๆ สามารถทำหนังสือแจ้งไป กสช.ได้ที่เป็นหน่วยงานเตรียมพร้อมจะดำเนินการในเรื่องนี้ หากมีการหมิ่นประมาทก็ฟ้องร้องได้ ไม่ใช่เฉพาะพีทีวีหรืออะไร โทรทัศน์ช่องอื่นหากหมิ่นประมาทก็ฟ้องร้องได้อยู่แล้ว
นายเผชิญ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ยังอยู่กระทรวงไอซีที รอผ่านความเห็นชอบจากกฤษฎีกา จากนั้นนำเข้าสู่ ครม.เมื่อพิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จส่งต่อให้รัฐสภา คาดว่าน่าจะเป็นในเดือนสิงหาคมเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เตะถ่วงให้ร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสภาแต่เร่งดำเนินการ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีได้เร่งอยู่ทุกวันเชิญกรมประชาสัมพันธ์ องค์กรที่เกี่ยวข้องไปหารือ ซึ่งรัฐบาลอยากให้ออกโดยเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนไทย