xs
xsm
sm
md
lg

จวก"หมัก"หนุนหลัง"ผีทีวี" "กรมกร๊วก"อ้างไม่มีกม.คุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการฟื้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พีทีวี ว่า ดูรูปการณ์แล้ว ทีวีช่องนี้ไม่ว่าช่วงระยะเวลาการออกอากาศจะมากหรือน้อยเพียงใด อยู่ที่ปัจจัยทุนเป็นหลัก เพราะเป็นทีวีที่เติมเงิน หากมีนายทุนเติมเงินมาก ก็จะอยู่ได้ยาว วันนี้เห็นได้ว่า การสร้างทีวีช่องนี้ขึ้นมา นอกจากจะใช้โต้กับ เอเอสทีวีแล้ว จะเป็นการสร้างเพื่อรองรับการว่างงานของ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะดูพิธีกรทั้ง 4 คน ซึ่งมี 2 คนที่มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในรัฐบาลชัดเจนคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาลและนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน แต่อีก 2 ท่าน เป็นอดีตผู้ต้องหา อดีตนักโทษคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และอีกคนกำลังจะเป็นผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันฯ เช่นกัน
"ผมคิดว่าหากการเปิดทีวีช่องนี้ เพื่อรองรับคนว่างงาน 2 คน ก็อยากเรียกร้องให้ 2 ท่าน เป็นเพื่อนฝูงกันออกมา เพราะมีหน้าที่ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ควรเอาตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลมาจัดรายการ เพื่อให้เกิดความขัดแย้งกับ เอสทีวี"
นายเทพไท ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูดผ่านรายการ"สนทนาประสาสมัคร" ถึงเรื่องนี้ จะเห็นว่า นายสมัครพยายามปกป้องพีทีวี อย่างออกหน้าออกตา และให้ท้ายการเผยแพร่ภาพของพีทีวี ซึ่งนายกฯเรียกร้องมาตลอดว่า เอเอสทีวี เป็นสื่อที่ผิดกฎหมาย จึงไม่เข้าใจว่า เมื่อนายกฯเห็นเอเอสทีวี ผิดกฎหมาย แต่วันนี้กลับมาสนับสนุน พีทีวี ซึ่งเป็นสื่อที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน ให้ถูกกฎหมาย
"การเปิดพีทีวีขึ้นมา ผมคิดว่านอกจากนายกฯจะเห็นด้วยแล้ว นายกฯกำลังทำผิดนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภา เป็นนโยบายเร่งด่วนข้อแรก คือสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นอยากถามนายกฯว่า การที่เปิดโอกาสให้พีทีวี ออกมาแพร่ภาพ เพื่อเป็นการแก้ต่างกับ เอเอสทีวี ตามที่นายกฯประกาศ จึงไม่เข้าใจว่า นายกฯ ทำผิดนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ อยากให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะหากว่า พีทีวี เผยแพร่ภาพขึ้นมา และทำให้สถานการณ์บ้านเมืองบานปลายขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ จึงอยากเรียกร้องนายกฯ ให้รับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ" นายเทพไท กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีรัฐมนตรีของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง ถือว่าผิดหรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า ต้องไปดูว่าบริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ มีใครถือหุ้น หากมี 4 คนนี้เป็นผู้ถือหุ้น ก็ผิดกฎหมาย ถึงแม้จะอ้างว่าในฐานะผู้จัดรายการ ไม่รับเงินก็ตาม แต่ในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มาดำเนินกิจการเรื่องนี้ ก็คงผิดตามรัฐธรรมนูญ
นายเทพไท กล่าวด้วยว่า การฟื้นพีทีวี ครั้งนี้ เพราะต้องการใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลอาจใช้สื่อทีวีเสรี ที่รัฐบาลควบคุมดูแล อยู่แล้วอาจใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะอาจถูกตำหนิ ก็เลยทำเป็นทีวีใต้ดินขึ้นมาอีกช่อง เพื่อโจมตี เอเอสทีวี ในลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเมืองในประเทศ
เมื่อถามว่า การที่นายกฯ ออกมาแสดงการสนับสนุนออกนอกหน้า เป็นการใช้อำนาจมิชอบหรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า เรื่องนี้อาจไม่ผิดกฏหมาย แต่ความเหมาะสมของนายกฯ มีหรือไม่ นายกฯ กำลังใช้สื่อของรัฐบาล โดยใช้รายการของนายกฯ เหมือนกับเป็นการเปิดตัวกลายๆให้กับ พีทีวี และเหมือนเชิญชวนให้คนที่ฟังรายการสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที เหมือนกับเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับคน 4 คนนี้ ถ้าจะกล่าวหาว่านายกฯอยู่เบื้องหลังการฟื้น พีทีวี ในครั้งนี้ก็ไม่น่าผิดไปจากความจริง
"เอเอสทีวี ก่อตั้งโดยเอกชน แต่พีทีวี ก่อตั้งโดยคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากพรรคพลังประชาชนมีสื่อที่เป็นพีทีวี เป็นกระบอกเสียงของตัวเองได้ ต่อไปพรรคการเมืองอื่น ก็สามารถตั้งได้ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาฯ หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีสิทธิ์ตั้งสื่อทีวี เป็นของตัวเองได้ ผมคิดว่าวันนี้พรรคพลังประชาชน จะไปเลียนแบบ เอเอสทีวี ไม่น่าถูกต้อง เพราะเขาก่อตั้งขึ้นมาโดยภาคเอกชน ไม่ได้มีการเมืองเกี่ยวข้อง" นายเทพไทกล่าว

**"ณัฐวุฒิ"อ้างไม่มีหุ้นแค่ร่วมจัดรายการ
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การฟื้นสถานีโทรทัศน์พีทีวี เริ่มต้นจาก นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ไปได้ช่วงเวลามา จากนั้นจึงมาชักชวนตน นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ให้มาช่วยกันจัดรายการ พวกตนจึงตัดสินใจไปร่วม
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ในอดีตสถานีโทรทัศน์ พีทีวี เคยถือกำเนิดขึ้น จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลของนายสมัคร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เปรียบเสมือนเสร็จสิ้นภาระกิจแล้ว จึงปิดสถานีโทรทัศน์พีทีวี และลอยแพพนักงานของบริษัทหลายต่อหลายคนในขณะนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เนื่องจากสถานีโทรทัศน์พีทีวี ในขณะนั้นมีปัญหาเงินไม่พอ ผู้บริหารจึงตัดสินใจว่า จะนำเงินที่ยังพอเหลืออยู่ มาจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานแทน ซึ่งแต่ละคนก็ได้รับเงินชดเชยประมาณคนละ 5-6 เดือน
สำหรับกรณีที่มีการมองว่า อาจเข้าข่ายผิด มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปมีหุ้นในบริษัทของเอกชนนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรณีนี้ไม่เหมือนกัน เพราะครั้งนี้นายวีระ ได้ไปเช่าช่วงเวลามา แล้วก็มาชวนพวกตนไปจัดรายการ ไม่ได้เป็นสถานีโทรทัศน์ใหญ่โตอะไร มีพนักงานเพียงไม่กี่คน อีกทั้งเราก็ไม่ได้ไปมีหุ้น หรือไปรับจ้างอะไร เป็นเพียงแค่นายวีระ มาเชิญให้ไปร่วมจัดรายการเท่านั้น

**กรมกร๊วกอ้างไม่มีกม.จัดการ
นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พีทีวี ที่มีการตั้งข้อสังเหตุว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากทางช่อง เอ็มวีทีวี ที่พีทีวี ไปเช่าช่องสัญญาณออกอากาศได้ใช้เครือข่ายสถานีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เหมือนกับเราจะไปก้าวล่วงการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศไม่ได้ และในฐานะกรมประชาสัมพันธ์ วันนี้หลังจากพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.51 มีผลให้ยกเลิกพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ที่ให้อำนาจกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานกำกับดูแล เพราะฉะนั้นกรมประชาสัมพันธ์จึงไม่มีอำนาจไปดูแลเรื่องนี้ โดยอำนาจทั้งหลายทั้งปวงจะไปอยู่ที่ กทช. แต่ กทช.ดูแลเพียงชั่วคราว และหลังจากนั้น กสช.จะไปดูแลแทน แต่ต้องรอหลังจาก พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เข้าสภา และประกาศใช้แล้ว ก็จะมีการเลือก กสช. ก็จะมาวางแผนแม่บท จัดระเบียบวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมด รวมทั้งเคเบิลท้องถิ่น วิทยุชุมชน
"สรุปวันนี้คือกรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจในการไปดำเนินการใดๆทั้งสิ้น เพราะกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิกแล้ว และการที่เราจะไปก้าวล่วงการออกอากาศ ก็คงทำไม่ได้ เพราะเขาไปออกในเครือข่ายของลาว ส่วน เอเอสทีวี ที่ส่งสัญญาณจากฮ่องกง และถ่ายทอดกลับมายังไทย เพราะฉะนั้นสัญญาณที่ส่งมาจากต่างประเทศเราไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย แค่เหลือบตามองเขาก็หาว่าไปแทรกแซงแล้ว คงต้องรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาก่อน" นายเผชิญกล่าว
เมื่อถามว่า หากการออกอากาศไปกระทบบุคคลอื่น นายเผชิญ กล่าวว่า หากมีการออกอากาศที่จะไปกระทบใดๆ สามารถทำหนังสือแจ้งไป กสช.ได้ที่เป็นหน่วยงานเตรียมพร้อมจะดำเนินการในเรื่องนี้ หากมีการหมิ่นประมาท ก็ฟ้องร้องได้ ไม่ใช่เฉพาะพีทีวี หรืออะไร โทรทัศน์ช่องอื่นหากหมิ่นประมาทก็ฟ้องร้องได้อยู่แล้ว
นายเผชิญ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังรอกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ยังอยู่ที่กระทรวงไอซีที รอผ่านความเห็นชอบจากกฤษฎีกา จากนั้นนำเข้าสู่ ครม. เมื่อพิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จส่งต่อให้รัฐสภาคาดว่าน่าจะเป็นในเดือนสิงหาคม เพื่อนำไปดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เตะถ่วงให้ร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสภา แต่เร่งดำเนินการ โดยเฉพาะรมว.ไอซีที ได้เร่งอยู่ทุกวัน เชิญกรมประชาสัมพันธ์ องค์กรที่เกี่ยวข้องไปหารือ ซึ่งรัฐบาลอยากให้ออกโดยเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น