ผู้จัดการออนไลน์ – สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รุมแฉแปรรูปรัฐวิสาหกิจยุค"แม้ว" ชี้เป็นแค่เครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง ส่วนประชาชนโดนหลอกด้วยนโยบาย และมายาคติ ชี้ หาก ปตท.ไม่แปรรูปราคาน้ำมันไม่ดีดตัวถึง 40 บาท/ลิตร จวกเอกชนเห็นแก่ได้อ้างแต่กลไกตลาดโลกไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนประชาชน หากปล่อยให้ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน-ไฟฟ้า ต้องแย่แน่ พร้อมจับตาเจ้าหน้าที่ กฟผ.หลายรายโดน “แม้ว” ซื้อตัว หวังไปลุยเจาะก๊าซที่เขมร เข้ามาขายเมืองไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เวทีเสวนา "ปัญหาแปรรูปรัฐวิสาหกิจ"
เวลา 19.40 น.วันนี้(3มิ.ย.)นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และ นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนรเพื่อประชาธิปไตย ที่เชิงสะพานมัควานรังสรรค์ โดยได้กล่าวขอบคุณกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ใส่ใจต่อความสำคัญในการคัดค้านการแปรรูป รัฐวิสาหกิจ โดยนำเรื่องดังกล่าวใส่ไว้ใน 12 ข้อ หรือสาเหตุในการชุมนุมขับไล่รัฐบาล
นายศิริชัย กล่าวว่า การที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถูกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจ ทำให้ประชาชนถูกจำกัดทางเลือกในเรื่องพลังงาน ทั้งจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อย่างเช่น กฟผ.นี้ ไม่สามารถหาทางออก หรือทางเลือกอื่นได้ และจำเป็นที่จะต้องรับซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจาก ปตท.ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ต้องขอบคุณการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อครั้งปี พ.ศ.2549 ซึ่งสามารถทำให้กฟผ.รอดพ้นจากแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน ด้วยการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แม้ช่วงนั้นกฟผ.จะกลายสภาพเป็นมหาชนไปร่วม 6 เดือน แต่ก็ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจแรกของโลกที่สามารถปรับสภาพกลับมาสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เพราะเคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ อาทิเช่น อาร์เจนตินา ที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจบริษัทน้ำมันแล้วทไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจได้ โดยได้มาเพียงหุ้นหรือสัดส่วนการถิอหุ้นเพื่อบริหารได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของ PTT นั้น ส่วนตัวมองว่า มีความเป็นไปได้ยาก หากจะให้แปรสภาพกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง นอกเหนือจากการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแข่งขันกับ ปตท.ไปเลย
นายสาวิทย์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจนั้นเกิดมาจากภาษีอากรของประชาชน ตัวอย่างเช่น ปตท.นั้น ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องขุดเจาะ อาคารปลูกสร้างต่างๆ เครื่องมือต่างๆ ล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น แล้วทำไมรัฐบาลในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร ถึงต้องการให้สินทรัพย์อันเกิดจากเงินภาษีของประชาชนชาวไทยตกไปเป็นของเอกชน หรือกลุ่มทุนอื่นๆ อย่างนี้ต้องถามประชนทุกคนว่ามันยุติธรรมกับคุณหรือเปล่า
“สิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ของ ปตท.ล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชน แต่ก็ถูกเขาแปรรูปไปให้เอกชน ดูจากหุ้นไอพีโอ 800 ล้านหุ้น ที่เปิดจองสามารถขายได้หมดภายในไม่ถึง 2 นาทีของวันแรกที่เปิดโต๊ะขาย แล้วก็มีแต่คนนามสกุล ดามาพงศ์ ชินวัตร หรือ จึงรุ่งเรื่องกิจที่ได้หุ้นครั้งไปในจำนวนมาก”
ทั้งนี้ การเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจนั้น ส่วนตัวมองว่ามีหลากหลายวิธี ที่ไม่จำเป็นต้องนำไปแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน
“ประชาชนเป็นเจ้าของ ปตท.อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแปรรูป เพราะเงินภาษีของประชาชนที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ ปตท.ลงทุน นั่นก็แสดงถึงความเป็นเจ้าของ ปตท.อยู่แล้ว เจตนารมณ์ของทักษิณ นั้นบิดเบือนความจริง วันนี้เจ็บปวดมาก และยังมีปัญหาที่ต้องให้คิดต่อไป นั่นคือ จะเอา ปตท.กลับมาได้อย่างไร”
นายศิริชัย กล่าวว่า กลุ่มทุน หรือพวกนักการเมืองต่างพยายามให้สังคมรับรู้ว่า กลไกในการดำเนินงานและการบริหารของรัฐวิสากิจนั้นยุ่งยากซับซ้อน แต่ความเป็นจริงการบริหารงานและการดำเนินของรัฐวิสาหกิจก็มีลักษณะเช่นเดียวกับภาคเอกชน เพียงแต่มีขั้นตอนในการดำเนินงานยุ่งยาง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็สามารถแก้ไขได้ หากต้องการให้การดำเนินงานลดความซับซ้อนลงไป
โดยพบว่า หลังจากแปรรูป ปตท.เป็นมหาชนแล้ว กลับไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนขึ้นจากเดิมที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจเท่าไร พนักงานจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 3,200 คน หลังจากแปรรูปแล้วก็ยังมีจำนวนพนักงานเท่าเดิม ส่วนที่มีการอ้างว่า หลังจากแปรรูปแล้วทำให้ประสิทธิภาพและศักยภาพในการดำเนินงานนั้นดีขึ้น เป็นเพียงแค่การกล่าวข้างเท่านั้น
ทั้งนี้ ในส่วนของ กฟผ.นั้น นับเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพสูงมาก ซึ่งคนทั่วโลกรู้จักในชื่อ “EGAT” โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาท และได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยจากก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี40 มีเครดิตอยู่ที่ A- แต่หลังจากเกิดวิกฤตก็มาอยู่ที่ระดับ B+ และต่อมาก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดย กฟผ.เคยติดอันดับ 1 ใน 5 ของหน่วยงานด้านพลังงานที่ดีที่สุดของโลก หรือกล่าวได้ว่าดีกว่าของมาเลเซีย และเทียบกับนานาประเทศในระดับสากลได้ ดังนั้น จากศักยภาพของ กฟผ.ที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุน และนักลการเมืองต่างๆเกิดความอยากได้
“กฟผ.สามารถปรับเปลี่ยนวัตุดิบในการใช้ผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดให้แก่ประชาชนได้ หรือไม่ก็สามารถพยุงราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแทนประชาชนได้เช่นกัน”
นายสาวิทย์ กล่าวถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ว่า สาเหตุหนึ่งเกิดมาจากการกักตุนน้ำมันเพื่อเก็งกำไร โดยทำการกักตุนน้ำมัน หรือสต๊อกไว้ รอคอยให้เกิดการขาดแคลนแล้วปล่อยน้ำมันล็อตนั้นออกมาขายตลาดก็จะได้ราคาที่สูง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องมายาคติ ที่รัฐบาลพยายามมาบิดเบือนประชาชนว่า ราคาน้ำมันที่แพงเกิดจาก พายุบ้าง หรือปัญหาทางสงครามบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในความจริง หาก ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้ว เรื่องดังกล่าวจะไม่ความเดือดร้อนเหมือนในขณะนี้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยเริ่มจากภาคเกษตร รัฐสามารถเสนอขายน้ำมันในราคาที่ถูกลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ เช่นเดียวกับภาคขนส่งสาธารณะ ซึ่งรถที่ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ หรือรถเมล์ รัฐบาลก็สามารถขายน้ำมันราคาถูกให้แก่หน่วยงาน หรือผู้ประกอบเหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน
“รัฐบาลมีหน้าที่ปัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อน ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาแก้ไข หากรัฐบาลแก้ไขไม่ได้แล้วจะอยู่เป็นรัฐบาลไปทำไม ต้องขับไล่รัฐบาลออกไป”
เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีสำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้มาร่วมชุมนุมในครั้ง เพราะท่ากับเป็นการยกระดับทางความรู้เพื่อประชาชน ซึ่งการแปรรูป การขายหุ้นชินคอร์ป โดยไม่เสียภาษีนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เราต้องป้องท้วงขับไล่
ส่วนการแก้ไขรัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพนั้น อะไรที่เป็นอุปสรรคในการทำงานก็แก้ไขไป เพราะรัฐวิสาหกิจเมื่อมีรายได้แล้ว รายได้ต่างๆ ก็จะถูกนำส่งไปที่รัฐบาบเพื่อลงทุนและสร้างสิ่งอื่นเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีผลดำเนินงานขาดทุน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแบกภาระดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของประชาชน อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รถไฟเดินทาง 1 กิโลเมตรต่อผู้โดยสาร 1 คน จะมีค่าใช้จ่าย 1.40 บาท แต่ ร.ฟ.ท.คิดค่าใช้จ่ายต่อบุคคลประมาณ 29 สต.เพราะแม้รัฐวิสาหกิจขาดทุน แต่ผู้ได้รับผลประโยชน์นั่นคือ ประชาชน
นายศิริชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2547 กฟผ.และ ปตท.มีมูลค่าทรัพย์สินใกล้เคียงกัน แต่หลังจากที่ ปตท.เข้าตลาดหุ้นได้มีการออกหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติมเข้ามาอีก แต่สิ่งที่น่าสังเกต นั่นคือราคาหุ้น ปตท.ที่สามารถสร้างผลกำไรให้นักลงทุนได้ถึงกว่า 10 เท่าตัว หรือประมาณ 200- 300 บาท
ยกตัวอย่างง่ายสำหรับผู้มีหุ้น ปตท.ในสมัยแรกๆ ราคาอยู่ที่ 35 บาท ต่อมาก็ปรับขึ้นถึง 300 –350 บาท ถ้ามีหุ้น 1,000,000 ตัว ต้องลงทุน 35 ล้านบาท แต่พอผ่านมาได้ประมาณ 5 ปี ราคาหุ้นอยู่ที่ 350 บาท ลองคิดดูว่าถ้าหากขายหุ้นออกไปจะได้กำไรขนาดไหน ทั้งนี้ เป็นเพราะสินทรัพย์ของ ปตท.ถูกตีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เมื่อเปิดซื้อขายในตลาดราคาจึงดีดตัวสูงขึ้น เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของมูลค่าสินทรัพย์
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลไทยต้องจ้างสถาบันต่างประเทศเข้ามาศึกษาหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทำให้ต่างรู้ข้อมูลต่างๆ ของประเทศไทยหมดสิ้น อีกทั้งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งบริษัท ปตท.ต้องผลดำเนินงานร้อยละ 3 หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทให้แก่ที่ปรึกษาทางการเงินด้วย
ดังนั้น โดยรวมแล้ว รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นแหล่งที่นักลงทุน และนักการเมืองแสวงหาที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ให้ตนและพรรค
“คนไทยมีแค่ประมาณ 2 แสนคนเท่านั้น ที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเล่นหุ้น หรือมีโอกาสเข้าสู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วทำไมคนพวกนี้ถึงเอาผลประโยชน์ของชาติเข้าไปในตลาดหุ้นด้วย”
ประธานสหภาพแรงงาน กฟผ.กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน เช่น ไฟฟ้า และน้ำมัน นั้น หากภาครัฐผูกขาดได้จะเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชน เพราะสามารถแบกรับต้นทุน หรือแก้ความเดือดร้อนของประชาชนได้ แต่หากปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นของเอกชน ให้พวกเขาผูกขาด ก็จะมีแต่การอ้างราคาตลาด ปล่อยไปตามกลไกโลก ราคาของน้ำมัน และไฟฟ้าก็จะยิ่งสูงขึ้นไปมากกว่านี้
“ตอนนี้ราคาก๊าซแพงขึ้น รมว.พลังงาน ปิยสวัสดิ์ ออกมาให้ ปตท.และ กฟผ.ช่วยแบกภาระแทนประชาชน 6,000 ล้านบาท โดยแบ่งกันไปคนละ 3,000 ล้านบาท วันต่อมาก็มีนักลงทุนเอกชนรายหนึ่งมาโวยวาย หาว่าเราไม่ยอมปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกลไกตลาดโลก แต่ในความจริงถ้าปล่อยให้เอกชนผูกขาด ก็ไม่มีวันยอมตรึงราคาเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนแน่ โดยจะอ้างว่าขึ้นตามกลไกตลาดแทน”
ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันของ ปตท.ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ขายอยู่ที่ประมาณ 15 บาทต่อลิตร แต่พอเข้าตลาดราคาขายขึ้นอยู่ที 40 บาทต่อลิตร ทั้งที่ความเป็นจริงน้ำมันเหล่านี้ต้องทำการซื้อขายล่วงหน้า 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งต้องให้ใช้น้ำมันเดิมให้หมด่กอนที่จะปรับขึ้นราคาขายซึ่งมาจากน้ำมันที่ซื้อมาใหม่ ไม่ใช่ปรับขึ้นราคาขายแบบวันต่อวันอย่างนี้
นายสาวิทย์ กล่าวทิ้งทายว่า ลองมองย้อนกลับไปดูมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำไมราคาน้ำมันถึงถูกกว่าไทย ทั้งที่ไทยมีปริมาณน้ำมันที่สามารถขจุดขึ้นเองในประเทศได้เท่ามาเลเซีย และมีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีอยู่มาก เพราะมาเลเซียไม่อิงราคาน้ำมันกับประเทศอื่น เหมือนไทยที่ต้องไปอิงราคาน้ำมันกับสิงคโปร์นั่นเอง
นอกจากนี้ สิ่งที่อยากให้ประชาชนทุกคนจับดู นั่นคือ การผูกขาดก๊าซเอ็นจีวีของ ปตท.ที่สามารถผลิตได้เพียงรายเดียว ว่าต่อไปในอนาคตราคาก๊าซดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นสูง และบริษัทก็จะว่าเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในอนาคตแน่
นายศิริชัย กล่าวถึงข่าวที่ นายทักษิณ สนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติ บริเวณอ่าวไทย ในประเทศกัมพูชา ว่า กฟผ.รู้ถึงเรื่องแหล่งดังกล่าวมานานแล้ว ว่ามีขนาดใหญ่ ซึ่งทักษิณ มีความคิดจะตั้งบริษัท ชิน-เพาเวอร์ เข้าลงทุนด้านพลังงาน ซึ่งจะขุดเจาะนำก๊าซขึ้นมาพักไว้ที่เกาะกง (ที่ทักษิณ จะเข้าไปลงทุนระยะยาว ) และวางท่อส่งขายต่อเข้ามาในไทย ซึ่งถ้าทำได้ก็จะสามารถรับรู้กำไรได้เป็นมหาศาล เพราะไทยมีความจำเป็นต้องซื้อและนำเข้าพลังงาน นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า ผู้บริหาร กฟผ.หลายคนโดนถูกซื้อตัว และกำลังจะเข้าไปช่วยงานดังกล่าวแล้ว
นายศิริชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องไฟฟ้าเป็นต้นทุนทางสังคม และเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือครัวเรือน ตั้งแต่เกิดถึงตายต้องใช้ไฟ ฉะนั้นกิจการสำคัญนี้ต้องรักษาไว้ ทั่วโลกที่ต่อสู้เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้คือประชาชน
ด้าน นายสาวิทย์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน อย่าสับสนในสิ่งที่รัฐบาลชวนเชื่อ ว่าขายหุ้นรัฐวิสาหกิจแล้วประชาชนจะได้เป็นเจ้าของ รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชนโดยเสียภาษีให้รัฐ ฉะนั้น หนาที่ในการรักษารัฐวิสาหกิจ คือ ประชาชน ถ้ารัฐบาลหน้าไหนก็แล้วแต่มาโกงกินและขายรัฐวิสาหกิจ เราต้องลุกขึ้นมาสู้แล้วขับไล่มัน