การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินใจไม่สั่งคดีหวยบนดินว่าศาลจะรับฟ้องหรือไม่ แต่เลือกที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส.ก่อนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตามที่จำเลยร้องขอ ได้ส่งผลให้คดีนี้ต้องหยุดลง จนกว่าจะรู้ผลศาลรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจของศาลฎีกาฯ ครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่ายว่าเหตุใดศาลฯ จึงไม่เลือกสั่งคดีก่อน แล้วค่อยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งจะทำให้คดีในมือศาลไม่ต้องหยุดเดินระหว่างที่รอผลศาลรัฐธรรมนูญ ...หวังว่าการตัดสินใจของศาลฎีกาฯ ครั้งนี้ จะเป็นไปด้วยเจตนาดี มิได้ต้องการสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือต้องการประวิงเวลาการพิจารณาคดีให้ล่าช้าออกไปแต่อย่างใด
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดคาดพอสมควรที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาคดีหวยบนดินเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ไม่สั่งคดีว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว ทั้งที่หลายฝ่ายในสังคมและผู้ตกเป็นจำเลยต่างลุ้นว่า ศาลจะรับฟ้องหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีมูลหรือไม่รับฟ้อง ย่อมสะท้อนถึงศักยภาพในการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่ามีแค่ไหน เนื่องจากคดีหวยบนดินเป็นคดีแรกที่ คตส.ใช้สิทธิลุกขึ้นมาฟ้องต่อศาลเอง หลังอัยการไม่ส่งฟ้องให้ โดยอ้างว่าสำนวนสอบไม่สมบูรณ์-ต้องสอบเพิ่ม แต่ถ้าศาลฎีกาฯ เมื่อวันก่อน มีคำสั่งว่ารับฟ้องคดีนี้ ไม่เพียงเป็นเครื่องสะท้อนว่าคดีทุจริตหวยบนดินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 47 คนตกเป็นจำเลย มีมูล แต่ยังจะส่งผลสะเทือนให้ 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันที่ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ต้องหยุดพักการทำหน้าที่ชั่วคราวด้วย คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง, นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีแรงงาน, นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม การยังไม่สั่งคดีของศาลฎีกาฯ จึงถือว่า 3 รัฐมนตรีดังกล่าวโชคดีไป
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ให้เหตุผลที่ยังไม่สั่งคดีหวยบนดินว่า เพราะจำเลยที่ 31-47 ในคดีนี้ (ซึ่งเป็นผู้บริหารและบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ได้ร้องโต้แย้งต่อศาลฯ ว่า คตส.ไม่มีอำนาจฟ้องพวกตน เพราะ คตส.เป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ตั้ง คตส.ขึ้นเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ดำเนินการโดย ครม.ที่พ้นตำแหน่งจากการปฏิรูปการปกครอง (การรัฐประหาร 19 ก.ย.) เท่านั้น มิได้ใช้บังคับกับบุคคลเป็นการทั่วไป ผู้ร้องจึงเห็นว่า การตั้ง คตส.ขัดต่อ รธน.2550 มาตรา 29 นอกจากนี้จำเลยดังกล่าวยังร้องด้วยว่า การที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมายแก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เพื่อต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ก็ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรใหม่ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งมิใช่องค์กรตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ใน รธน.2550 จึงเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าการจัดตั้ง คตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 คตส.ก็จะไม่มีอำนาจตรวจสอบและไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาฯ จึงให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสถานะ คตส.ก่อน เมื่อทราบผลจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลฎีกาฯ จึงจะพิจารณาสั่งคดีนี้ต่อไป นั่นหมายความว่า คดีหวยบนดินจะต้องสะดุดหยุดลงโดยไม่มีกำหนด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่า สถานะ คตส.ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อ รธน.2550 หรือไม่!
ลองไปดูกันว่า ฝ่ายต่างๆ ในสังคม รวมทั้งตัว คตส.เอง จะรู้สึกอย่างไรที่เหตุการณ์ออกมาในรูปนี้ และคิดว่า สถานะ คตส.ชอบด้วย รธน.2550 หรือไม่?
เริ่มด้วย นายแก้วสรร อติโพธิ 1 ในกรรมการ คตส.บอกว่า ไม่ติดใจที่ศาลฎีกาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ คตส.ว่าชอบด้วย รธน.หรือไม่ เพียงแต่ประหลาดใจว่าเหตุใดศาลฎีกาฯ จึงไม่สั่งคดีก่อนว่า จะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ถ้าสั่งว่ารับฟ้องจึงค่อยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส.ซึ่ง รธน.มาตรา 211 ก็ระบุไว้ว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีใดใด จะไม่เป็นเหตุให้คดีนั้นต้องหยุด ส่วนตัวแล้วจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมศาลฎีกาฯ ไม่เสียดายเวลาที่จะต้องเสียไปฟรีๆ ถ้าคดีต้องหยุด
“ปกติการพิจารณาว่า ขัด รธน.หรือไม่ขัดเนี่ย มันไม่ทำให้คดีหยุด คดีมันก็เดินของมันไป เหมือนคดีที่ดินรัชดาฯ เหมือนอะไรต่างๆ ทีนี้พอมาทำอย่างนี้ คดีเลยหยุดไปเลย ทั้งที่กฎหมายบอกอย่าหยุด ผมก็ไม่เข้าใจ ศาลเขาเอาเหตุเอาผลอะไรมาตรงไหน …คือ หลักมันมีอยู่ว่า ศาลเนี่ยมีหน้าที่ใช้กฎหมาย คุณใช้กฎหมายของคุณไป และถ้าเกิดคุณสงสัยว่ามันขัด รธน.คุณก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกัน ส่งไปแล้ว คุณก็ลืมไปเถอะ คุณก็ทำของคุณต่อไป การพิจารณาของศาล รธน.มันจะไม่ทำให้คดีในศาลธรรมดาหยุด หลักมันเป็นอย่างนั้น (ถาม-เหมือนกับว่าคดีนี้มีมูลไม่มีมูล คุณก็พิจารณาไป?) ว่าไป (ถาม-แต่สุดท้ายจะเอาผิดได้มั้ย อาจจะไปพันถึงสถานะ คตส.ได้ ซึ่งต้องรอศาล รธน.?) ซึ่งตอนนั้นศาล รธน.เขาก็ว่าของเขาไป กฎหมายบอกแต่เพียงว่า ให้ศาลธรรมดาเนี่ยเดินคดีไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรอฟังผลศาล รธน. แต่ห้ามพิพากษา ถ้าพิจารณาเสร็จแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสิน ก็ให้รอ”
“(ถาม-โดยส่วนตัวที่อาจารย์เป็นนักกฎหมายด้วย เป็น คตส.ด้วย ห่วงมั้ย 2 ประเด็นที่เขาร้องไปศาลรัฐธรรมนูญว่า คตส.ชอบด้วยกฎหมายมั้ย?) ผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร ร้องก็ร้องมา เราไม่ต้องไปกลัวหรอก และขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ท่านตัดสินไป ก็ไม่ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “เวลา” อย่าให้ประเด็นเรื่องความชอบด้วย รธน.เนี่ยมันมาประวิงการดำเนินคดีตามปกติ ตรงนี้เสียเวลา โดนอัยการมาทุกคดี นี่มาโดนเตะไปศาลรัฐธรรมนูญ แล้วคดีไม่เดินอีก ตรงนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใจว่าทำไมศาลฎีกาฯ ในคดีนี้ไม่หวงเวลา ไม่รักษาเวลา (ถาม-อย่างนี้เดี๋ยวก็เป็นบรรทัดฐานให้คดีต่อๆ ไปอีกสิ?) คดีต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ มันก็หยุดกันหมด ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าศาลรัฐธรรมนูญดีเลย์ครึ่งปี มันก็หยุดหมด เกิดศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขัด รธน.เดินหน้าต่อ เราก็เสียเวลาไปฟรีๆ 6 เดือน (ถาม-ถึงตอนนั้น คตส.ก็หมดอายุไปแล้วด้วย?) ไม่เป็นไร หมดไม่ว่า แต่มันไม่ควรจะเสียเวลากันอีกน่ะ ประเด็นวันนี้มันไม่ใช่เรื่องว่า กลัวศาล รธน.หรือไม่กลัว ประเด็นคือว่า ส่งก็ส่งไป ไม่ว่า แต่อย่าให้คดีปัจจุบันมันหยุดอยู่แค่นั้นล่ะ ไม่เข้าใจทำไมเป็นอย่างนี้”
นายแก้วสรร ยังยืนยันด้วยว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้สนใจว่ามาตรา 309 ของ รธน.2550 จะคุ้มครอง คตส.ว่าเป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ และไม่ได้ห่วงว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วคดีต่างๆ ที่ คตส.ตรวจสอบมาจะเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ คตส.ลิขิตไม่ได้ จึงไม่ต้องลุ้นว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แค่ทำหน้าที่ของ คตส.ให้ดีที่สุดเท่านั้น
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พูดถึงกรณีที่ศาลฎีกาฯ จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส.ตามที่จำเลยร้องขอว่า เป็นเรื่องปกติที่จำเลยคดีต่างๆ จะต้องหาทางสู้ทุกจุดอยู่แล้ว เมื่อพบว่ามีช่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอะไรที่อาจเป็นประโยชน์กับตัวเองได้ ก็หยิบขึ้นมาใช้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วไม่ห่วงเรื่องสถานะ คตส. เพราะมาตรา 309 ของ รธน.2550 รับรองความชอบด้วยกฎหมายไว้อยู่แล้ว คตส.จึงไม่ใช่องค์กรที่ขัดต่อ รธน.แต่อย่างใด
“ขัดมั้ย ผมว่าไม่ขัดน่ะ เพราะว่าประกาศ คปค.นั้นเนี่ย เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารเสร็จ เขาก็ได้อำนาจรัฐนั้นไป พอได้อำนาจรัฐไปแล้วเนี่ย ต่อมา เขาก็มี รธน.2550 มาตรา 309 เนี่ยมารองรับว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 309 บอกว่า บรรดาการใดใดที่รับรองไว้ใน รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2549 ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม รธน.รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้ รธน.นี้ ก็ให้ถือว่าการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นอำนาจของสภานะ เมื่อสภานิติบัญญัติฯ ต่อ(อายุการทำงาน)ให้(คตส.) ก็มีผลอยู่แล้ว แต่คนที่สู้คดีเขาก็หาช่องทุกช่องน่ะ ก็ไม่น่าห่วงอะไร ศาลก็ตัดสินมาละกันว่าเป็นยังไง”
ขณะที่ ดร.วิชา มหาคุณ 1 ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มองกรณีที่ศาลฎีกาฯ ยังไม่สั่งคดีหวยบนดินว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง แต่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของ คตส.ก่อนว่า เป็นดุลพินิจและอยู่ในอำนาจของศาลที่จะดำเนินการ โดยศาลอาจเกรงว่า หากพิจารณาคดีไปก่อน แล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดในภายหลังว่า คตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระบวนการพิจารณาของศาลอาจเสียเปล่าได้ ดร.วิชา ยังเชื่อด้วยว่า จำเลยในคดีนี้หวังผลให้ คตส.เป็นโมฆะเช่นเดียวกับ คตส.ในสมัย รสช. ซึ่งส่วนตัวแล้ว มองว่า คตส.ยุคนี้ไม่ได้มีอำนาจหรือใช้อำนาจแทนศาลเหมือน คตส.ยุคนั้น จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบทสรุปที่เหมือนกัน
“ถ้าผมเดาไม่ผิด (จำเลยคดีหวยบนดิน)ก็คงอาศัยแนวทางเดิมตั้งแต่สมัย รสช.มั้ง ที่ที่ประชุมใหญ่(ศาลฎีกา)ได้มีข้อวินิจฉัยว่า การตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยเช่นเดียวกับศาลเนี่ย เป็นไปโดยไม่ชอบ แต่ตอนนั้นบังเอิญว่า มันเป็นเรื่องการยึดทรัพย์ ...สมัยรัฐมนตรีเสนาะ เทียนทอง ที่ร้องว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เนี่ย ไม่ชอบ ว่าที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คตส.ขึ้น ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่เนี่ยและออกคำสั่งอายัดห้ามจำหน่ายทรัพย์สินและวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ เพราะฉะนั้นก็เลยให้ยึดทรัพย์ไว้หมด คือทีแรก มีคำสั่งอายัดและห้ามจำหน่ายทรัพย์สิน และต่อมาก็ให้วินิจฉัยว่าร่ำรวยผิดปกติ ก็เลยให้ยึดไว้เลย ผู้ร้องเขาก็เห็นว่า คำวินิจฉัยไม่ชอบด้วย รธน. ไม่เป็นไปตามหลักสากลในนานาอารยประเทศ ที่ต้องไม่ขัดต่อ รธน. ไม่ขัดต่อหลักเสรีภาพ ...การที่ให้ คตส.(ยุค รสช.)พิจารณาโดยไม่มอบให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเนี่ย มันก็เลยล่อแหลมต่อการที่จะถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในทางศาลหรือไม่ โดยที่ประชุมใหญ่(ศาลฎีกาขณะนั้น)ก็เลยบอกว่า มันไม่ชอบ เป็นกระบวนการที่ถือว่า ประกาศหรือคำสั่งเนี่ย คือประกาศ รสช.เนี่ย ใช้บังคับได้เช่นกฎหมาย แต่ไม่ได้บัญญัติรับรองไปถึงว่า ให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครอง 2534 ก็คือ รธน.นั่นเอง เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยของศาลที่ว่านั้น ได้กล่าวไว้แล้วว่า ประกาศหรือคำสั่งของ รสช.หรือของผู้ใช้อำนาจปฏิวัติเนี่ย มันมีผลให้ใช้บังคับใช้เช่นกฎหมาย แต่ต้องดูว่าเนื้อหาเนี่ย มันขัดต่อ รธน.มั้ย”
“(ถาม-อาจารย์เห็นว่า การตั้ง คตส.ยุค รสช.มีความแตกต่างกับการตั้ง คตส.ในยุคนี้มั้ย?) มันต่างกัน ก็คือว่า คตส.ปัจจุบันนี้ มีอำนาจในการเข้าไปอายัดทรัพย์สินได้ แต่ยึดไว้เลยไม่ได้ และวินิจฉัยเองไม่ได้ ต้องส่งไปให้ศาลวินิจฉัย คือ ทุกอย่างต้องไปที่กระบวนการศาลหมด คือ คตส.จะดำเนินการเองไม่ได้ ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ว่า ผู้ร่างประกาศ รสช.ไปให้อำนาจ คตส.เด็ดขาดเลยในการวินิจฉัยว่าร่ำรวยผิดปกติ และยึดทรัพย์ได้ แต่ในประกาศ คปค.ที่ว่าด้วย คตส.เนี่ย มันเป็นการไต่สวน ไต่สวนเพื่อให้ได้ความจริงว่าได้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอะไรมั้ย และให้ดำเนินกระบวนการทางศาล แต่ในขณะที่ดำเนินกระบวนการอยู่นั้น ก็ให้อายัดทรัพย์ไว้ด้วย”
ด้าน อ.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองกรณีที่ศาลฎีกาฯ ยังไม่สั่งคดีหวยบนดินว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง แต่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของ คตส.ก่อนว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณามาตรา 211 ของ รธน.2550 ที่ต้องการอุดช่องโหว่ของ รธน.2540 หลังทำให้คดีสะดุดหยุดลงและเกิดความล่าช้าจากการส่งปัญหาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้น มาตรา 211 ของ รธน.ปัจจุบันจึงไม่ต้องการให้การพิจารณาคดีสะดุดหยุดลง นั่นหมายถึง ศาลควรสั่งคดีก่อนว่าจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาหรือไม่ แล้วค่อยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความปมที่อาจขัดแย้งต่อ รธน. การที่ศาลฎีกาฯ ไม่สั่งคดีหวยบนดิน แต่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน จึงสะท้อนว่า ศาลกำลัง “สร้างบรรทัดฐานใหม่” ให้กับมาตรา 211 โดยศาลจะสั่งคดีก่อนหรือไม่ก็ได้ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งหากใช้บรรทัดฐานใหม่แบบนี้ นอกจากจะทำให้คดีเกิดความล่าช้าแล้ว ยังจะเข้าทางจำเลยในคดีต่างๆ ที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้ทุกคดีไปเพื่อประวิงเวลาการพิจารณาคดี
“เรื่องนี้ต้องดูมาตรา 211 ของ รธน.ฉบับปัจจุบัน มาตรานี้ได้อุดช่องว่างจาก รธน.2540 คือมาตรา 264 เพราะ รธน.2540 ถ้าคดีอยู่ในศาลเนี่ย ไม่ว่าศาลอะไรก็แล้วแต่ และมีการโต้แย้งกันว่า บทบัญญัติที่ศาลได้ใช้นั้น ขัดต่อ รธน.ในกรณีอย่างนี้ก็ให้ศาลส่งเรื่องไปให้ศาล รธน.วินิจฉัย เพื่อชี้ขาดว่าขัดหรือไม่ขัด ซึ่งตาม รธน.2540 เนี่ย เมื่อส่งไปอย่างนั้นแล้ว การพิจารณาคดีจะต้องหยุดชั่วคราวเลย ทำอะไรไม่ได้ จนกว่าศาล รธน.จะวินิจฉัย มันก็เป็นช่องทางทำให้คู่ความหรือฝ่ายจำเลยก็แล้วแต่ มักจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้ว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ศาลหยิบกฎหมายมาเนี่ย ขัดต่อ รธน. ทำให้คดีเกิดความล่าช้า และมันก็เป็นการยืดระยะเวลาออกไปตามที่ตัวเองต้องการ ซึ่ง รธน.ฉบับใหม่(2550)ได้อุดช่องว่างตรงนี้ บอกไว้ว่า แม้ศาลจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย แต่คดีสามารถพิจารณาต่อไปได้ เรื่องนี้สำคัญ คือไม่ต้องหยุด พูดกันง่ายๆ พิจารณาคู่กันไปเลยกับศาลรัฐธรรมนูญเลย แต่ยังไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด รอไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และส่งเรื่องกลับมาว่าขัดหรือไม่ขัด ถ้าไม่ขัด ศาลนั้นก็สามารถที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ ก็ไม่ทำให้คดีเกิดความล่าช้า นี่คือสิ่งที่ดีของ รธน.ฉบับปัจจุบัน”
“แต่ในเรื่องนี้ถ้า รธน.ฉบับปัจจุบัน ศาลจะต้องรับคดีไว้พิจารณา เรื่องนี้สำคัญ 1.จะต้องรับคดีไว้พิจารณา แต่กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ปรากฏว่า ศาลยังไม่ได้รับคดีไว้พิจารณา ตรงนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อศาลส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เขาต่อสู้ว่าขัด รธน.มันก็เลยทำให้เรื่องนี้เกิดความล่าช้า เพราะอะไร เพราะเมื่อศาลยังไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ศาลก็ไม่อาจจะที่จะพิจารณาต่อไปได้ อันนี้เป็นข้อกฎหมายที่น่าคิดอย่างมากเลย มาตรา 211 เนี่ย ที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปเมื่ออ่านกฎหมายมาตรานี้แล้ว ศาลจะใช้มาตรา 211 นี้ได้เนี่ย ก็ต่อเมื่อศาลต้องรับเรื่องไว้พิจารณาก่อน เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิด “บรรทัดฐานใหม่”ขึ้นมาในมาตรา 211 แม้ศาลจะยังไม่รับเรื่องไว้พิจารณาหรือรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ศาลก็ใช้มาตรา 211 ได้ทั้งสองกรณี ก็คือส่งเรื่องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ”
อ.ปรีชา บอกด้วยว่า ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า มาตรา 309 ของ รธน.2550 ให้การรับรองความชอบด้วยกฎหมายของ คตส.และประกาศต่างๆ ของ คมช.อยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ถ้าศาลฎีกาฯ ได้พิจารณามาตรา 309 ก็คงไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส.อีก
ทั้งนี้ ยังมีนักกฎหมายอีกหลายท่านที่เห็นเหมือนกันว่า มาตรา 309 ของ รธน.2550 ได้รับรองสถานะ คตส.ไว้อยู่แล้วว่าชอบด้วย รธน. เช่น อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยบอกว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าอย่างไร แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า อำนาจของ คตส.ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 309 ของ รธน.2550 ดังนั้นการกระทำใดใดของ คตส.จึงชอบด้วย รธน.แล้ว
คงต้องติดตามว่า การที่ศาลฎีกาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส.จะทำให้คดีหวยบนดินสะดุดหยุดลงเป็นเวลานานเท่าใด? ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้นานแค่ไหน? และสุดท้ายจะตีความว่า คตส.เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมาย รธน.หรือไม่? แต่ยังไม่อยากมองไกล เอาแค่ว่า...บรรทัดฐานใหม่ของศาลฎีกาฯ ครั้งนี้ที่ไม่สั่งคดีก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะ คตส. จะนำมาซึ่งปัญหาที่ไม่คาดคิดหรือไม่ เช่น เมื่อศาลฎีกาฯ ยังไม่ได้สั่งคดี-ยังไม่รับฟ้องคดีหวยบนดิน จะถือว่าเรื่องนี้ยังไม่มีคู่ความ-ยังไม่มีจำเลยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้ตีความหรือไม่? ซึ่งประเด็นนี้ นักกฎหมายบางคนบอกว่า เป็นประเด็นที่น่าคิด และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดขึ้น โดยศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ายังไม่สามารถรับพิจารณาเรื่องนี้ได้ละก็ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดสุญญากาศ ที่ศาลนี้ก็ไม่สั่งคดี ศาลนั้นก็ไม่รับตีความ แต่ยังจะเกิดปัญหาระหว่าง 2 ศาลอีกด้วย
...ก็หวังว่าสถานการณ์จะไม่ลามเลยไปถึงขั้นนั้น หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่น และหวังใจไว้อย่างยิ่งว่า ผู้พิพากษาทุกคนจะ“ดำรงความยุติธรรม”ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทกับผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา!!