xs
xsm
sm
md
lg

บทอวสานคตส. - ฟอกผิดทักษิณและพวก - ล้างคำสั่งอายัดเงิน7หมื่นล้าน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัก กอแสงเรือง
“หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า คตส.ไม่มีอำนาจในการปฏิบัติ สิ่งที่ คตส.ปฏิบัติมาทั้งหมดคงจะเสียเวลา เสียแรงเปล่า ส่วนตัวรู้สึกเห็นใจแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ หากมีการยุบ คตส.จริง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อป้องกันเหตุการณ์วุ่นวายที่อาจตามมาได้” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 51หลังเป็นประธานพิธีรับมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพม่า กรณีที่ศาลฎีกาฯ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

.............................
อาจกล่าวได้ว่า ภารกิจสำคัญของรัฐบาลหุ่นเชิด นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชน หาใช่การบริหารประเทศเพื่อบำบัดทุกข์อำนวยสุขให้ชาวประชาทั้งปวง หากแต่เป็นการกลับมาเพื่อสางแค้นทวงคืนอำนาจ และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ต้องจัดการก็คือ คตส. เพื่อฟอกความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว รวมถึงพวกพ้องบริวาร ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทุจริตประพฤติมิชอบในหลายคดี

การเร่งกระบวนการฟอกความผิดแบบดิบๆ ห่ามๆ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่รับรองสถานะและการดำเนินการตรวจสอบทุจริตของ คตส.เปลือยให้เห็นธาตุแท้ของขั้วอำนาจเก่าซึ่งต้องการล้มล้างองค์กรนี้ให้สิ้นสภาพ อีกทั้งยังทำให้เกราะคุ้มครองป้องกันคตส. หมดไป ง่ายต่อการฟ้องร้องเล่นงานกลับ ซึ่งกลุ่มทักษิณและพวก ยื่นฟ้องคตส.ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญารวมสิบกว่าคดี เรียกค่าเสียหายนับแสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 309 กำหนดว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งธงรวบรัดอย่างรวดเร็วกลับต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย เพราะกระแสค้านจากสังคมบวกกับการยึกยักของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ คตส. ได้ตั้งเป้าเร่งมือสรุปคดีขึ้นสู่ศาลให้หมดก่อนอายุของ คตส. จะหมดลงภายในสิ้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หรือหากไม่ทันการณ์ก็เตรียมโอนคดีส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เมื่อคตส.ไม่ยอมรามือ ไม่ยอมลดความเข้มข้นในการตรวจสอบทั้งที่ใกล้จะหมดอายุลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า กระบวนการสกัดคดีขึ้นสู่ศาลผ่านทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งต้องส่งฟ้องคดีต่างๆ ในฐานะทนายของแผ่นดิน ก็เกิดขึ้น

ถึงแม้หน่วยงานทั้งสองจะปฏิเสธเสียงแข็ง โดยเฉพาะคณะอัยการต่างยืนยันว่ามีอิสระในการพิจารณาสำนวนคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องก็ตาม แต่ความเห็นแย้งและแตกต่างของอัยการกับคตส.ในหลายคดี ล้วนชวนให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ว่าจะเป็น หวยบนดิน, เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า, ทุจริตจัดซื้อกล้ายาง หรืออาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากคดีจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ แล้ว คดีอื่นๆ คณะอัยการล้วนเห็นต่างจากคตส.

เกมสกัดคดีทุจริตที่คตส.ตรวจสอบที่ถูกติดเบรกไว้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขีดเส้นให้ คตส. ต้องเดินหน้าด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง (สภาทนายความแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่เข้ามารับฟ้องคดีให้กับ คตส.) โดยมีคดีหวยบนดิน เป็นบททดสอบนำร่อง

การให้อำนาจคตส.ยื่นฟ้องคดีเอง หากสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่ดำเนินการให้ ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 เสมือนหนึ่งรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดการพลิ้วของคณะอัยการเมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศ แต่การปิดช่องโหว่นี้กลับกลายเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการวางแผนซ้อนแผนเพื่อพลิกเกมในนาทีสุดท้าย

ดังนั้น เมื่อทนายของ คตส. ยื่นคดีเข้าสู่ศาลฎีกาฯ จึงมีการยกประเด็น “สถานะ” ของคตส.ขึ้นมาโต้แย้งทันที ส่งผลให้ศาลฎีการฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 แต่งตั้ง คตส. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการต่ออายุของ คตส. ให้ทำงานต่อไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่

นอกจากนั้น สถานะของ คตส.ยังมีคำถามเพิ่มเติมจากสังคมด้วยว่า สามารถยื่นเรื่องสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะคดีที่จะขึ้นสู่ศาลฯ นี้ได้กำหนดว่า “ผู้ที่เป็นโจทก์จำกัดเฉพาะอัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช. ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเองหรือเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้”

ความจริงแล้ว ข้อโต้แย้งข้างต้น สัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. อธิบายไว้ชัดเจนหลายวาระหลายโอกาส และในรายงานสรุปผลการดำเนินงาน ครบรอบ 1 ปี ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 ระบุว่า

“สถานะของคตส. มีกฎหมายรับรอง รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 มาตรา 36 รับรองว่า ประกาศ คำสั่ง คปค. มีผลบังคับใช้ต่อไป ให้ถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ชอบดวยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 309 ก็รับรองการกระทำที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรับรองว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ว่าก่อนหรือหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นการกระทำและเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น จะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีการรับรองจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าว”

นอกจากนั้น ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 กำหนดให้คตส.มีอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ดังนั้นการยื่นฟ้องคดีของคตส.จึงถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช.

ประเด็นการตีความสถานะของคตส.ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมต่างลุ้นระทึก หากคำวินิจฉัยมีผลให้ คตส. ไม่มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ คำสั่ง คปค. ฉบับที่ 30 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาจเกิดเหตุปั่นป่วนวุ่นวายดังคำให้สัมภาษณ์ของผบ.สส.

อีกทั้งยังจะกลายเป็นเงื่อนไขเพิ่มแรงกดทับ เพิ่มบรรยากาศความตึงเครียดต่อผู้คนในสังคมที่ต้องการเห็นการต่อสู้คดีทุจริตของอดีตผู้นำและพวกให้ได้ข้อยุติในกระบวนการยุติธรรม แทนที่จะเห็นการฆ่าตัดตอนคตส.ให้ตายตอนจบ การทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ เสี่ยงต่อชีวิต แบกความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นคนกระทำผิดได้รับการลงโทษ คนบริสุทธิ์ได้รับการล้างมลทิน เป็นเพียงความว่างเปล่าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นอกจากนั้น คำสั่ง คตส. อายัดทรัพย์ทักษิณและครอบครัว ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท (แต่คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับหนังสือยืนยันจากธนาคารและสถาบันการเงินแจ้งยืนยันการอายัด ประมาณ 65,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเงินออกจากบัญชีที่มีคำสั่งอายัดก่อนที่คำสั่งอายัดจะมีผลบังคับ) ก็อาจจะถูกเพิกถอนไปโดยปริยาย ??

การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของ คตส. ของศาลฎีกาฯ มุมหนึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ต้องการความกระจ่างชัดก่อนรับ-ไม่รับฟ้องคดี เป็นการล้างข้อสงสัยให้สิ้นก่อนรับคดีและเริ่มกระบวนการพิจารณา แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีเสียงกังวลว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะรับหรือไม่รับ เป็นผลทำให้กระบวนการพิจารณาคดีความหยุดชะงัก

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211 เปิดช่องให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีไปพลางก่อนระหว่างที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งเจตนารมย์ของมาตราดังกล่าว สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ต้องการให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดี

อนึ่ง รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 211 ระบุว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญ จะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”

ที่ผ่านมา คตส.ได้ดำเนินตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยรับคดีเข้ามาตรวจสอบทั้งสิ้น 13 คดี แต่เพิ่งมีคดีที่นำขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพียงคดีเดียวคือ คดีที่ดินรัชดาฯ จากคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวโดยตรง ก็คือ คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสท, คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า และคดีซุกหุ้นชินคอร์ป

สำหรับคดีความต่างๆ ที่ คตส. ตรวจสอบ หากไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่กระบวนการศาลได้ทันในเดือนมิถุนายนนี้ คดีก็จะถูกโอนไปยัง ป.ป.ช. เช่นเดียวกับการอายัดทรัพย์ ก็จะถูกโอนไปยัง ป.ป.ช.หลัง คตส.หมดอายุเช่นกัน

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ ตีความสถานะคตส. ว่าไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริตฯ เพราะคำสั่ง คปค. ฉบับที่ 30 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คงต้องลุ้นระทึกว่าถึงเวลานั้นบ้านเมืองจะอยู่ในสภาพเช่นใด
กำลังโหลดความคิดเห็น