xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.มาตรา 309 ฟอกความผิดทักษิณ - ล้างแค้น คตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เครือข่ายบริวารทักษิณ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ฟอกความผิดให้อดีตนายกรัฐมนตรี ล้มล้างคดี คตส.ที่จ่อคอหอยครอบครัวชินวัตรและพวก พร้อมเดินเกมล้างแค้นเอาคืน ทั้งวาดหวังไขหีบสมบัติร่วม 7 หมื่นล้านที่ถูกคำสั่งอายัดทรัพย์ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดทั้งยื้อทั้งโยนคดีโบ้ยให้คตส.แต่งทนายฟ้องเอง

เกมการล้างแค้น ฟอกความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตั้งข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบในหลายคดีถูกเร่งให้เร็วขึ้นผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่รับรองสถานะและการดำเนินการตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) องค์กรสำคัญที่คณะรัฐประหาร แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต ประพฤติมิชอบเกี่ยวกับสัญญา สัญญาสัมปทาน การจัดซื้อจัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ ของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากรทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 309 กำหนดว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ภายใต้ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 36 กำหนดว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป

“และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 นอกจากจะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดกระแสการล้มล้างคตส.ก่อนที่องค์กรมือปราบทุจริตแห่งนี้จะส่งคดีความโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวรวมถึงพวกพ้องบริวารขึ้นสู่ศาลทั้งหมดก่อนอายุของ คตส. จะหมดลงภายในสิ้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ถือเป็นการตัดตอนคดีความไม่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลแล้ว

ประเด็นสำคัญที่พ่วงมากับการแก้ไข มาตรา 309 ก็คือ การเชคบิลฟ้องร้องคตส.ในฐานะส่วนบุคคลที่เข้ามาตรวจสอบและอายัดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ เนื่องจากการปฏิบัติตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ของ คตส. และเมื่อคตส.ถูกฟ้องร้อง การต่อสู้คดีในชั้นศาลก็ไม่อาจจะอ้างกฎหมายใดให้การคุ้มครองการปฏิบัติงานเนื่องจากมาตรา 309 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกไปแล้ว

เงื่อนสำคัญในการออกมาขวางการแก้ไข มาตรา 309 ด้านหนึ่งจึงเป็นการพิทักษ์การทำหน้าที่ของ คตส.ทั้งก่อนและหลังถูกยุบเลิกไป ซึ่งกว่าขวบปีที่ผ่านมา คตส.ได้ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ - คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และบริวาร ฟ้องร้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง รวมทั้งหมด16 คดี เรียกค่าเสียหายกว่าแสนล้านบาท

สัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. ให้ความเห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่งตั้ง คตส. มีผลเป็นกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติ โดยให้มีผลดำนินงานของคตส.ถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 ต่อมา ก็มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ขยายเวลาการทำงานของ คตส. ไปจนถึงวันทึ่ 30 มิถุนายน 2551 อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อลบล้าง คตส.ต้องดูว่ามีผลเมื่อไหร่ เพราะไม่มีผลย้อนหลัง กระบวนการที่ดำเนินการไปแล้วถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังหวั่นเกรงว่า หาก คตส. ถูกล้มล้างด้วยการแก้ไขมาตรา 309 ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อการตัดตอนคดีความที่ยังไม่ได้นำขึ้นสู่ศาล แต่จะมีผลไปถึงคดีที่อยู่ในชั้นศาลด้วย

***คตส.เร่งมือสรุปคดีขึ้นสู่ศาล

เมื่อฟากฝ่ายบริวารทักษิณ เร่งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้นายใหญ่ ทางฝ่าย คตส. ก็วางเป้าหมายจะส่งคดีที่ตรวจสอบทั้งหมดขึ้นสู่ศาลให้ทันก่อน คตส. จะหมดอายุลง นอกจากนี้ ยังเร่งกระบวนการไต่สวนให้เร็วขึ้นโดยตัดพยานที่ไม่จำเป็นต่อคดีออกไป เพื่อเร่งสรุปสำนวนให้เสร็จ

แก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. แถลงเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาว่า คตส.มีมติปิดสำนวนไต่สวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทรัพย์สินมาโดยมิสมควร หรือคดีซุกหุ้นชินคอร์ป โดยเห็นควรไม่สืบพยายหลักฐานกว่าร้อยรายการ รวมทั้งพยานบุคคลกว่า 300 ปากออกไป เพราะไม่ใช่พยานที่จะหักล้างข้อกล่าวหาของ คตส.ได้ โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนคดี จะสรุปรายงานผลต่อที่ประชุมใหญ่ คตส.อย่างช้าประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2551 นี้

ที่ผ่านมา คตส.ได้เร่งดำเนินตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยรับคดีเข้ามาตรวจสอบทั้งสิ้น 13 คดี แต่เพิ่งมีคดีที่นำขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพียงคดีเดียวคือ คดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งเป็นบ่วงรัดคอที่อดีตนายกรัฐมนตรีและภริยา กำลังใช้ความพยายามสุดฤทธิ์เพื่อดิ้นให้หลุด

ขณะที่คดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวโดยตรง ก็คือ คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสท, คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า และคดีซุกหุ้นชินคอร์ป กำลังลุ้นกันอย่างหนักว่าจะนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลได้หรือไม่ เพราะเวลานี้ อัยการ ซึ่งต้องรับไม้ต่อจาก คตส.ถูกมองว่าเล่นเกมยื้อ เช่น คดีเอสซี แอสเสท ที่อัยการยังไม่มีกำหนดนัดสั่งคดีว่าจะฟ้องต่อศาลหรือไม่ โดยอ้างพยานหลักฐานที่ยังไม่สมบูรณ์

ส่วนคดีอื่นๆ หากไม่เจอลูกเล่นจากอัยการเช่นคดีเอสซี แอสเสท ก็อาจจะถูกตัดตอนตั้งแต่ต้นคือ ไม่รับฟ้องคดีให้คตส.ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ และโยนให้ คตส. ฟ้องศาลเอง เช่น คดีหวยบนดิน และคดีจัดซื้อกล้ายาง ซึ่งนั่นจะมีปัญหาตามมาเพราะ คตส.เองก็จะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว ขณะที่องค์กรที่เข้ามารับฟ้องคดีให้ คตส. เช่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย จะสามารถสู้คดีไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เนื่องจากการทำคดีต้องพร้อมทั้งบุคคลากรและงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีความต่างๆ ที่ คตส. ตรวจสอบ หากไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่กระบวนการศาลได้ทันในเดือนมิถุนายนนี้ คดีก็จะถูกโอนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เช่นเดียวกับการอายัดทรัพย์ จำนวน 72,310,292,181 บาท แต่คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับหนังสือยืนยันจากธนาคารและสถาบันการเงินแจ้งยืนยันการอายัด จำนวน 65,508,466,422 บาท เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเงินออกจากบัญชีที่มีคำสั่งอายัดก่อนที่คำสั่งอายัดจะมีผลบังคับ ก็จะถูกโอนไปยัง ป.ป.ช.หลัง คตส.สิ้นสภาพเช่นกัน

***คดีที่ดินรัชดาฯ บ่วงมัดคอ “ทักษิณ-พจมาน”

กล่าวสำหรับ คดีที่อยู่ในชั้นศาล คือ คดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และภริยา เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) คดีนี้ คตส. ตรวจสอบพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเท่ากับมูลค่าของที่ดินจำนวน 4 โฉนด เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งยังประเมินราคาตลาดไม่ได้ แต่ราคาที่ปรากฏตามสัญญาที่เป็นส่วนของการกระทำผิด เป็นเงิน 772 ล้านบาท

คดีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ประทับรับฟ้องคดี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ซึ่ง นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี

และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 , 100 และ 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 , 83 , 86 , 91 , 152 และ 157 ในการทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามอบตัวต่อศาลฎีกาฯ ส่วนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้เข้ามอบตัวก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 เวลานี้คดีกำลังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของศาลฯ

*** อัยการ ยื้อคดีเอสซี แอสเสท ลูกผีลูกคน

ส่วนอีกคดีหนึ่งที่อยู่ระหว่างการนัดสั่งคดีของอัยการสูงสุด ก็คือ คดีปกปิดข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซี แอสเสท ซึ่งเป็นคดีที่ก่อนหน้านี้ สุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความมั่นใจอย่างมากว่าจะเอาผิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ แต่หลังจากดีเอสไอ ส่งคดีไปยังอัยการ พร้อมๆ กับคำสั่งเด้ง สุนัย ออกจากตำแหน่ง ทำให้คดีนี้มีโอกาสพลิกล็อกสูง

ตามสำนวนการสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 4 คน ประกอบด้วย บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นโดยนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท ที่ 1, นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท ฯ ที่ 2, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 3 และคุณหญิงพจมาน ภริยา ที่ 4 ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

คดีนี้ ดีเอสไอ ได้สอบสวนพบพยานหลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่า วินมาร์ค, VIF, OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ และภรรยา จึงแสดงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยา เป็นเจ้าของหุ้นและเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นเอสซี แอสเสทฯ และหุ้นของบริษัทในครอบครัวชินวัตรอีก 5 แห่งที่ถือโดยนิติบุคคลดังกล่าวมาโดยตลอด และมีมติสรุปการสอบสวน ดังนี้

หนึ่ง เอสซี แอสเสทฯ เปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ เปิดเผยว่า ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นในเอสซี แอสเสทฯ ร้อยละ 60.82 โดยมิได้นำหุ้นที่ถือแทนโดย OGF และ ODF มานับรวมกับการถือหุ้นของครอบครัว ซึ่งหากนับรวมแล้วจะทำให้ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นรวมทั้งหมดร้อยละ 79.87

ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่า ครอบครัวชินวัตร สามารถควบคุมได้เฉพาะมติที่ใช้เสียงข้างมาก ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง สามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ทั้งหมดแม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 4 ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

การกระทำข้างต้นของบริษัทเอสซี แอสเสทฯ เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 278 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และนางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตผู้บริหารที่ร่วมลงนามรับรองความถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าว เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 301 พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 เท่าของหลักทรัพย์

สอง การที่ OGF และ ODF ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณและภรรยา ขายหุ้น เอสซี แอสเสทฯ ที่ถืออยู่ออกไปในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2549 ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยา ซึ่งเป็นจ้าของที่แท้จริงมีหน้าที่ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นเอสซี แอสเสทฯ ตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ทุกครั้งที่จำหน่ายหุ้นทุกร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วของกิจการนั้น โดยมีหน้าที่ต้องรายงานทั้งหมด 4 ครั้ง การไม่รายงานดังกล่าว ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยาเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 298 ประกอบมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 เท่าของหลักทรัพย์

จากการสอบสวน ยังพบว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินดังกล่าว จึงอาจเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ และพ.ต.ท.ทักษิณ อาจกระทำการอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นของบริษัทต่างๆ ซึ่งดีเอสไอ จะแยกสำนวนคดีดังกล่าวส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

คดีนี้ถือเป็นคดีที่ต้องติดตามการสั่งคดีของอัยการ ว่าจะสั่งฟ้องตามที่ ดีเอสไอ มีความเห็นหรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา อัยการพิจารณาตรวจหลักฐานที่ปรากฎสำนวนของดีเอสไอ เบื้องต้นมีความเห็นว่า พยานเอกสารที่ดีเอสไอรวบรวมมาจากหน่วยงานต่างในสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ยังขาดการรับรองความถูกต้องของเอกสารจากหน่วยงานผู้ครอบครองเอกสารนั้น ซึ่งจะมีผลต่อน้ำหนักในการรับฟังพยานเอกสารในชั้นศาลส่งผลเสียหายต่อรูปคดีได้

อัยการ จึงให้ดีเอสไอสอบเพิ่มเติม การนัดสั่งคดีจึงเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดยอัยการจะมีความเห็นสั่งคดีก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานที่ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติมมีความสมบูรณ์และชัดเจนแล้ว

การที่อัยการขอให้ดีเอสไอสอบเพิ่มเติมโดยไม่มีกำหนด ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อัยการเล่นเกมยื้อคดีไปเรื่อยๆ ขณะที่ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ที่ถูกโยกเข้ามานั่งแทน สุนัย มโนมัยอุดม นั้น ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจสายทักษิณที่ถูกส่งมาเพื่อเคลียร์คดีนี้โดยเฉพาะ

***ลุ้นอัยการฟ้องคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า

ขณะที่ พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เข้ารับหน้าที่เคลียร์คดีเอสซี แอสเสทฯ การเข้ามาดำรงตำแหน่งของนายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ อดีตทนายความของครอบครัวชินวัตร ก็ถือภารกิจเคลียร์คดีเอ็กซิมแบงก์เป็นงานสำคัญ ซึ่งคดีนี้คตส. ได้ส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดไป เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 เพื่อพิจารณาสั่งคดีภายใน 30 วัน

คดีนี้ คตส. มีความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการ และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152,157

จากการไต่สวนคดีของ คตส. พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการและให้คำมั่นกับพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีพม่า และพลจัตวาเต็ง ซอ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม และกระทรวงคมนาคมฯ ของพม่าในการให้กู้ยืมเงินทั้งที่ไม่มีผลประชุมระดับผู้นำของสองประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รู้เรื่องมาก่อน

กระทั่ง รัฐบาลพม่ามีหนังสือขอกู้เงินโดยอ้างการเจรจาตกลงและให้คำมั่นจากพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ได้สั่งการเห็นชอบและให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้วงเงินกู้แก่พม่า จำนวน 3,000 ล้านบาท และต่อมาได้สั่งการเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท เพื่อโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าทุน และขยายเวลาปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรกับพวก มีผลประโยชน์ในหุ้นอยู่

การปล่อยกู้ตามการสั่งการของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหตุให้เอ็กซิมแบงก์ได้รับความเสียหายในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์จัดตั้งธนาคาร ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องตั้งงบประมาณชดเชยความเสียหายให้เอ็กซิมแบงก์ เป็นเงิน 670.436 ล้านบาท

จากคำให้การของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับต่อ คตส.ว่า เมื่อครั้งที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีมติให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า ตนเองในฐานะรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้คัดค้านการปล่อยกู้ดังกล่าวหลังจากรู้ว่าหากปล่อยเงินกู้แล้ว รัฐบาลพม่าจะนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ดาวเทียมจากบริษัทชินแซทเทลไลท์ เครือชินคอร์ป ซึ่งจากการตรวจสอบของ คตส. ยังพบว่า เวลานั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นอยู่ในชินคอร์ปด้วย

***หวยบนดิน – กล้ายาง คตส.แต่งทนายฟ้องเอง

การทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐของคตส.เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมาโดยตลอด โดยเฉพาะความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและข้าราชการ รวมถึงอัยการ ซึ่งด้านหนึ่งมีฐานะเป็นทนายแผ่นดินที่รับหน้าที่ฟ้องคดีแทนหน่วยงานของรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งด้วยเหตุที่อัยการได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทำให้ติดบ่วงคดีที่คตส.กำลังตรวจสอบอยู่ด้วย

ดังนั้น ความร่วมไม้ร่วมมือที่อัยการจะมีให้กับ คตส. จึงย่อมมีปัญหาและ “มีความเห็นไม่ตรงกัน” ในสำนวนคดีที่จะฟ้องร้องเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งที่ผ่านมาปรากฎว่า อัยการมีความเห็นแย้งกับ คตส. ในคดีหวยบนดินและคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายาง จนกระทั่ง คตส.ต้องแต่งทีมทนายจากสภาทนายความเข้ามาทำหน้าที่ฟ้องร้องคดีแทนอัยการ

คดีหวยบนดิน คตส.ได้มอบหมายให้ทีมทนายจากสภาทนายความฯ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ กับพวก รวม 47 คน ทั้งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปความผิดว่าจำเลย เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกระทงต่างกัน คือ การให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เป็นการฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ พ.ศ. 2517 มาตรา 5 และมาตรา 9 เป็นการกระทำที่แสดงเจตนาว่าต้องการแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินงาน ฯลฯ

ส่วนคดีกล้ายางนั้น คตส. มีมติสั่งฟ้องผู้ร่วมกระทำผิด จำนวน 45 ราย คือ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าที่ประชุมครม. ชุดที่ 2 กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตราการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) คณะกรรมการประกวดราคา บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งนี้ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ เจอทั้งคดีอาญาและจ่ายเงินคืนรัฐ

ถึงเวลานี้ อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า นอกจากคดีที่ดินรัชดาฯ แล้ว คดีอื่นๆ ที่ขึ้นสู่ศาลโดยผ่านช่องทางอัยการสูงสุดนั้น มีความเป็นไปได้ยาก อีกทั้งโอกาสที่คตส.จะสรุปคดีขึ้นสู่ศาลให้ทันก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ก็อาจทำไม่ได้ทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อฟอกความผิดให้ทักษิณและล้างแค้นคตส. ก็ไม่ใช่เรื่องที่พวกพ้องและบริวารทักษิณ จะทำได้ง่ายๆ เพราะถูกต่อต้านจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศตัวเป็นหัวหอกเดินหน้าปลุกพลังมวลชนเตรียมพร้อมเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น