“พลังแม้ว” ส่งลูกสมุนแจงจุดยืนแก้ รธน.อ้างฉันทามติเสียง ปชช.ตอกกลับหมอเฒ่าสมคบ คมช.ฉีกรัฐธรรมนูญ ยันแก้ ม.309 เพื่อให้ความเป็นธรรม “แม้ว” สู้คดี ปากเก่งไม่เคยกลัวคดียุบพรรค
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชน นำโดย นายสุนัย จุลพงศธร ในฐานะประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายนิสิต สินธุไพร นายสุชาติ ลายน้ำเงิน คณะกรรมการ ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย นายสุนัย กล่าวว่า ตามที่ได้ฟังความเห็นประชาชนทุกส่วนเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีองค์กรไหนจะยืนยันโอบอุ้ม รธน.50 โดยทุกคนเห็นควรว่าต้องแก้ไข เพียงแต่ยังแตกต่างเรื่องรายละเอียด ส่วนกรณีที่กลุ่มแพทย์อาวุโสออกมาคัดค้าน และเรียกร้องให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนนั้น ยอมรับว่า กลุ่มแพทย์อาวุโสท่านเป็นห่วงบ้านเมือง แต่อยากบอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภากับประชาชนและรัฐบาลมีส่วนบ้าง แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามว่ารัฐบาลจะทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับหมอที่บริหารโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้รักษาโรค ซึ่งทำ 2 อย่างได้ในเวลาเดียวกัน
“อยากบอกคุณปู่คุณย่า ที่ออกมาเสนอความเห็นว่าคนรุ่นใหม่อยากได้แบบอย่างความเป็นอาวุโสที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่คนอย่าง นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ที่สมคบเผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญ และเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ ช่วงนั้นต้องเตือนไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ”
นายสุนัย กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอในการตั้ง ส.ส.ร.3 นั้น เข้าใจในเจตนาดี แต่ไม่อยากให้สังคมมองว่า ส.ส.ร.เป็นเทพเจ้า หรือเทวดา ที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมา ส.ส.ร.ทั้ง 2 ชุด ที่อ้างตัวว่าเป็นกลาง โดยได้ปิดบังอำพรางความต้องการที่ต้องการเข้าสู่กลไกทางการเมืองทั้งนั้น ต่างกับ ส.ส.ที่ไม่ปิดบังอำพรางเรื่องนี้ แต่เราเข้าสู่ระบบโดยการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ นายจรัญ ภักดีธนากุล ที่เขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างมากมายแต่วันนี้จะเป็นผู้ที่จะเข้าไปนั่งในศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง ถ้าจะตั้ง ส.ส.ร.ก็ให้กำหนดคุณสมบัติไปเลยว่าห้ามเล่นการเมือง 10 ปี
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.อาจถูกครหาว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย นายสุนัย กล่าวว่า ถ้าถามอย่างนี้ ก็ขอถามกลับมาแล้ว ส.ส.ร.ที่เลือกเข้ามามีส่วนได้เสียหรือไม่ เพราะหลายคนเมื่อร่างเสร็จ ก็เข้าสู่เส้นทางการเมือง แต่กระบวนการของเราจะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการลงประชามติ ส่วนหากไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองเหตุใดต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ นายสุนัย กล่าวว่า เพราะญัตติเรื่องงบประมาณจะเข้าช่วงนั้น
สำหรับงบประมาณเข้าช่วงนั้น ไม่จำเป็นต้องยัดการแก้รัฐธรรมนูญไปช่วงนั้นก็ได้ นายสุนัย กล่าวว่า กฎหมายเปิดให้ยัดได้ ไม่มีปัญหา แต่ยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เร็วอย่างแน่นอน
ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า ในการประชุมสมัย ส.ส.ร.50 นั้น มีหลายมาตรา เช่น มาตรา 56 117 ที่มี ส.ส.ร.ไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งตามบันทึกการประชุมมีสสร.บางคนได้ทักท้วงเรื่องนี้ แต่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ทำหน้าที่ประธานในช่วงนั้น แม้จะให้นับองค์ประชุมใหม่แต่ก็ไม่ได้ให้ลงมติใหม่จึงถือว่ากระบวนการไม่ชอบธรรม ซึ่งตนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็ควรเป็นโมฆะด้วย ทั้งนี้ขอเรียกร้อง ส.ส.ร.50 ที่เพ่นพ่านในเวลานี้ออกมารับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องการทุจริตในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญ 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.3 นั้น เพื่อป้องกันข้อครหาว่า ส.ส.แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง นายจตุพร กล่าวว่า หากแก้มาตรา 291 อำนาจในการคัดเลือก ส.ส.ร.ก็ยังอยู่ที่สภา ก็ไม่ทำให้พ้นข้อครหาไปได้ ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรตัดคนกลางออกไปเลยแล้วเอาเนื้อหารัฐธรรมนูญไปถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ให้ประชาชนตัดสินและเมื่อตัดสินออกมาแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายหยุดความเคลื่อนไหว
สำหรับการตัดมาตรา 309 เป็นการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ต่อสู้คดีง่ายขึ้นหรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า เราต้องการสร้างความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม เพราะมาตรา 309 มีเป้าหมายนิรโทษกรรม คมช.และองค์กรบริวารที่ คมช.ตั้งขึ้น ดังนั้น หากไม่มีมาตรานี้ทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอหน้ากัน เพื่อความยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หาก พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคมช.ทำผิดก็ต้องรับโทษด้วย
ส่วนจะเสียหายอะไรหรือไม่ หากรอให้การตัดสินคดียุบพรรคจบลงก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจตุพร กล่าวว่า เราไม่ได้กลัวการยุบพรรค ก็ทำให้ ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 6 เบอร์ 1 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน หายไปแค่คนเดียว แต่รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ปล่อยให้อยู่กี่วันประเทศชาติก็เสียหายไปเท่านั้น
ขณะที่ นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะกรรมการ กล่าวถึงเรื่องการทำประชามติ ว่า ที่ประชุม ส.ส.เห็นตรงกันว่าควรทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่นายกฯไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องของท่าน