“อภิสิทธิ์” เตือน “สมัคร” ระวังปากปูดกระแสปฏิวัติ หวั่นสร้างความตื่นตระหนกให้สังคมและต่างชาติเชื่อสุดท้ายรัฐบาลแพ้ภัยตัวเอง ปัดข้อกล่าวหา “จรัญ” เป็นเรื่องในอดีต เสนอยื่นข้อมูลให้ กมธ.สอบประวัติได้
วันนี้ (28 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่ามีคนจ้องจะทำการปฏิวัติว่า ตนไม่อยากให้นายกฯ และสังคมเสียเวลาเรื่องนี้ เพราะเวลานี้เรามีสภาที่ทุกอย่างกำลังเดินไปสู่ระบบ หากรัฐบาลใส่ใจการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ประชาชนยากให้ทำ อยากไปสร้างปัญหาประเด็นการเมืองรายวัน ที่เป็นปัญหากับรัฐบาลเอง และจะเป็นปัญหากับสังคมด้วย ตนจึงอยากให้นายกฯ ทบทวนท่าทีในการแสดงออกกับสาธารณะ
“แทนที่เราจะช่วยกันให้เดินไปในระบบ นายกฯ และรัฐบาลกลับสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนในสังคมและต่างชาติตลอดเวลา อุปสรรคที่แท้จริงอยู่ที่รัฐบาลเอง ถ้าใส่ใจทำงานเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย และจะทำให้ปัญหาหลายอย่างแก้ไขได้ง่าย”
ส่วนที่นายกฯ แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 309 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือไม่มีความเป็นระบบ หรือความชัดเจน ซึ่งเรายืนยันมาตลอดว่าจะต้องทำเป็นระบบ และเชิญทุกฝ่ายมาร่วมแก้ไข เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับส่วนรวม แต่ตอนนี้มีแต่ความสับสน และทำให้ถูกมองว่ากระบวนการนี้ไม่จริงจังเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ดีขึ้น ตอนนี้จึงยังไม่ทราบว่าจะแก้อะไร อย่างไร เมื่อไหร่ และอำนาจการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการแกไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจของสภา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภามีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้ส่งเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปครบถ้วนแล้ว อยู่ที่คณะกรรมาธิการ และส.ว.จะดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีที่ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะออกมาคัดค้านบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นรัฐธรรมนูญนั้น ใครที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 4 คนก็สามารถส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวกรณีของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่จะถูกตรวจสอบในความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อที่ดินของครอบครัวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงหรือศาลในอดีต ซึ่งในคณะกรรมการสรรหาได้สอบถามเรื่องนี้ เนื่องจากหนังสือที่ส่งเข้ามาไม่ได้ระบุชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องกับนายจรัญ เพียงแต่เขียนกว้างๆ ว่านายจรัญกับผู้บริหารระดับสูงไม่ได้เอาจริงเอาจัง ซึ่งไม่ได้มีอะไรมาก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนเวลานี้อยู่ที่วุฒิสภา หากมีมติเห็นชอบขั้นตอนก็ผ่านไป แต่ถ้ามีมติเป็นอย่างอื่นก็ต้องส่งกลับมา ถึงตอนนั้นก็จะดูว่าส่งกลับมาด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งการทำงานของกรรมการสรรหาขึ้นอยู่บนเหตุผลอยู่แล้ว