อดีต ส.ส.ร.50 แถลงการณ์คัดค้านแก้ไข รธน.ชี้ชัดมีเจตนาซ่อนเร้น หวังช่วยเหลือพวกพ้อง ตัดตอนกระบวนการยุติธรรม แฉเบื้องหลังมีแผนแทรกแซงองค์กรอิสระ เรียกร้องให้ล้มเลิกแนวคิดก่อนเกิดการเผชิญหน้า
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เสรี สุวรรณกานนท์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (22 เม.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และรองประธานชมรม ส.ส.ร.50 พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ร.50 อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นางกรรณิการ์ บันเทิงจิตต์ และ นายมานิตย์ สุขสมจิตร ร่วมกันแถลงท่าทีของ ส.ส.ร.50 ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย นายเสรี เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของ ส.ส.ร.50
นายเสรี กล่าวว่า ภายหลังการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจากการขอแก้ไขมาตรา 237 และ 309 จนขยายเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ ชมรม ส.ส.ร.50 พิจารณาเห็นว่า แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มอีกหลายมาตรา แต่ยังคงมีเจตนาสำคัญซ่อนเร้น ที่จะแก้ไขมาตรา 237 และ 309 เพื่อให้หลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
“เห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเอง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีการคัดค้าน และต่อต้านที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากหลายฝ่าย หากผู้เสนอแก้ไขไม่ได้แก้ไขเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ ชมรม ส.ส.ร.50 ขอเรียกร้องให้ผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุด หรือชะลอไปก่อน แล้วศึกษาผลการใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาให้ได้ความชัดเจน” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า หากมีปัญหาจริง ควรตั้ง ส.ส.ร.เปิดโอกาสให้คนนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา และเมื่อพ้นเวลาของความขัดแย้งแล้ว หากจะแก้ไขก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า ผู้เสนอไม่ได้ต้องการแก้เพื่อตัวเอง
“เราไม่เห็นด้วยกับการแก้ในตอนนี้ ส.ส.ร.50 มองว่า ควรให้พ้นจากการตัดสินคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปก่อน แต่ถ้าจะดึงดันแก้ ควรตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการ เรามองว่าการแก้ไขเป็นเรื่องความชอบ ความไม่ชอบ เพราะผู้เสนอมีเจตนาแก้ 2 มาตรา แล้วกลับดึงเอารัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแก้ การมาให้สติให้ข้อมูลขนาดนี้ ถ้ายังฝืนทำ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ” นายเสรี กล่าว
ด้าน นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แล้วอ้างประเทศชาติ และประชาธิปไตยมาบังหน้า เห็นได้ชัดคือ คณะผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเจตนาตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ที่จะก่อให้เกิดการยุบพรรค และการเอาผิดกับผู้ทุจริตประพฤติมิชอบ บวกกับการเปลี่ยนแปลงบุคคลในองค์กรอิสระที่ตัวเองควบคุมไม่ได้ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบให้หมดไป และไม่ว่าจะเสนอแก้ไขกี่มาตราเจตนาที่แท้จริงยังคงเป็นการเสนอแก้มาตรา 237 และ 309 อยู่ดี