xs
xsm
sm
md
lg

“โคทม” ขี้สงสาร หนุนแก้ รธน.อ้างโทษยุบพรรคหนักเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต กกต.“โคทม” ใจอ่อน สงสารนักการเมือง ชี้โทษยุบพรรคตาม ม. 237 หนักเกินไป สมควรแก้ ส่วนอดีต ส.ส.ร.40 “คณิน บุญสุวรรณ” อ้างคนส่วนใหญ่เลือกพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ต้องให้อำนาจตัดสินใจเต็มที่ ด้าน"เสรี"ตอกย้ำหากแก้ ม.237 ก็ยังทำเพื่อตัวเองอยู่ดี

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"โคทม"หนุนแก้ รธน. ในรายการกรองสถานการณ์

กรณีที่พรรคพลังประชาชนเตรียมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 วรรค 2 ที่ระบุว่า หากกรรมการบริหารพรรคผู้ใดกระทำความผิดเลือกตั้ง จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแก้ รธน.ครั้งนี้เป็นการแก้เพื่อตัวเอง เพื่อไม่ให้ต้องถูกยุบพรรค กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคถูก กกต.ให้ใบแดง ซึ่งถึงแม้ ณ ขณะนี้จะมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน แต่พรรคพลังประชาชนก็ยังคงเดินหน้าเตรียมการแก้ไขต่อไป ท่ามกลางแนวความคิดใหม่ที่มีคนเสนอว่า หากคิดจะแก้รัฐธรรมนูญควรจะมีการทำประชามติหรือไม่

ต่อกรณีดังกล่าว ด้าน นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีต กกต.ให้สัมภาษณ์ในรายการ “กรองสถานการณ์” ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ว่าตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เนื่องจากโทษของมาตรา 237 ไม่เหมาะ เพราะเป็นโทษที่หนักเกินไป เนื่องจากการกระทำผิดของคนๆ เดียวไม่น่าจะรวมไปถึงพรรคการเมืองทั้งพรรค ตนมองว่า โดยหลักการแล้วมันไม่ชอบ เพราะเหมือนทำผิดน้อย แต่ได้รับโทษมหาศาล

ด้าน นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพราะหากข้อกฎหมายข้อนี้ทำให้เกิดทางตันทางการเมือง ก็สมควรจะแก้ ส่วนหากมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ถามว่าควรทำประชามติหรือไม่นั้น ตนคิดว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญจริง ควรจะร่างใหม่โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาต่อยอดแล้วให้ประชาชนลงประชามติ หากมีการแก้เพียงไม่กี่มาตราก็ไม่ควรทำประชามติ เนื่องจากการทำประชามติในแต่ละครั้งจะเสียงบประมาณจำนวนมาก และประชาชนก็ต้องมาเสียเวลา

“อยากให้คำนึงถึงการตัดสินของประชาชนด้วย จะอย่างไรก็แล้วแต่ จะเขียนกติกาอะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อให้ประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว ขณะที่ กกต. ก็มีอำนาจเต็มมือแล้วในที่สุดประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคนี้เข้ามา ก็ต้องยอมรับกันบ้าง แล้วเมื่อรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถนำพาบ้านเมืองให้รอดไปจากวิกฤตตรงนี้ไปได้ เนื่องจากติดขัดที่ตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถามว่าจะไม่แก้เหรอ ถ้าจะแก้ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนนั่นเอง” นายคณินกล่าว

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 คนที่ 1 กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้เขียนข้อนี้ขึ้นมาเนื่องจากเห็นว่าหากจะแก้ปัญหาเรื่องทุจริตการเลือกตั้งนั้น นอกจาก กกต.แล้ว ผู้ที่จะมีส่วนในการให้ปัญหานี้เบาบางลงได้ ก็คือ คณะกรรมการบริหารพรรค ที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกพรรค แต่ในที่สุดก็มีผู้เสนอว่าเมื่อลูกพรรคกระทำความผิดหัวหน้าพรรคควรจะมีความรับผิดชอบ จึงทำให้เกิดมาตรา 237 นี้ขึ้นมา ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่สมควรที่จะแก้ข้อนี้เวลานี้ อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีการสอบถามกันโดยทั่วแล้ว ทั้งในส่วนขององค์กรต่างๆ และพรรคการเมืองทุกพรรค ก็ไม่เห็นมีใครเสนอแก้ แต่เหตุใดเพิ่งจะมารีบเร่งขอแก้กันตอนนี้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้ได้ไม่ถึงปีและตนยังยืนยันว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันจริงๆ เพราะมีหลายข้อไม่ดีจริง ก็ไม่ควรแก้มาตรา 237 ไม่เช่นนั้นก็จะถูกมองว่าแก้ไขเพื่อตัวเองอยู่ดี



กำลังโหลดความคิดเห็น