xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ชท.-มฌ.” ยิ่งอ้าง...ยิ่งฟังไม่ขึ้น !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มณเฑียร สงฆ์ประชา กก.บห.พรรคชาติไทยที่โดนใบแดง
วันนี้ (8 เม.ย.) หัวหน้าพรรคชาติไทย และ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างพกสารพัดเหตุผลเข้าชี้แจง กกต.อีกครั้ง หวังดิ้นให้หลุดจาก “คดียุบพรรค” เหตุผลหลักที่พรรคมัชฌิมาฯ ยกขึ้นอ้างต่อ กกต.ก็คือ “นายสุนทร วิลาวัลย์” โดนใบแดงขณะที่ไม่ได้เป็น กก.บห.พรรคแล้ว เพราะพ้นสภาพ กก.บห.พรรคพร้อมกับ นายประชัย ไปตั้งแต่ 4 ธ.ค.2550 แล้ว ส่วน พรรคชาติไทย อ้างว่า “นายมณเฑียร สงฆ์ประชา”กก.บห.พรรค ที่โดนใบแดง อยู่ระหว่างฟ้องร้องบุคคลที่กล่าวหาว่าตนซื้อเสียง ดังนั้น กกต.ไม่ควรส่งเรื่องยุบพรรคให้ศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะรู้ผลคดีของ นายมณเฑียร ก่อน ...ไปติดตามกันว่า ทำไมเหตุผลดังกล่าว จึงฟังไม่ได้...ฟังไม่ขึ้น

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ


พรรคชาติไทย (ชท.) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) กำลังประสบ “วิบากกรรม” อาจถูก “ยุบพรรค” เพราะกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งของพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการทุจริตซื้อเสียง นั่นคือ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ใบแดง (เมื่อ 7 ม.ค.51) หลังพบหัวคะแนนของ นายมณเฑียร เก็บบัตรประชาชนชาวบ้าน และเตรียมจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางในการเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะที่ นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูก กกต.มีมติให้ใบแดงเช่นกัน (เมื่อ 8 ม.ค.51) เนื่องจากมีพฤติการณ์แจกทรัพย์สิน

และเนื่องจากทั้ง นายมณเฑียร และ นายสุนทร ต่างมีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการบริหารพรรค ในชั้นแรก กกต.จึงได้ให้คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ที่มี นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน พิจารณาว่า หากกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือโดนใบแดงแล้ว กกต.ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้นหรือไม่?

เมื่อคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ สรุปว่า การที่กรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ดังนั้น กกต.ควรเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค แต่เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง (30 ม.ค.) ว่า กรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวหรือไม่ โดยมี นายบุญทัน เป็นประธานอีกเช่นกัน(กรรมการ ประกอบด้วย พล.ต.อ.มีชัย นุกูลกิจ, นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์, นายธนิศร์ ศรีประเทศ)

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้เชิญแกนนำพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เข้าชี้แจง โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ชี้แจง (12 ก.พ.) โดยยืนยันว่า การที่ กกต.ให้ใบแดง นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรค ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคชาติไทยแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง พรรคได้กำชับอย่างหนักแน่นและออกหนังสือเตือนให้ผู้สมัครทุกคนอย่าทำผิดกฎหมาย ขณะที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ชี้แจงคณะกรรมการ ว่า ทางพรรคมีเวลาน้อยมากในการช่วยผู้สมัครรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากมีเรื่องภายในพรรคอยู่เสมอๆ ดังนั้น การรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค จึงเป็นไปไม่ได้ นางอนงค์วรรณ ยังยกเหตุผลด้วยว่า ในพรรคแบ่งเป็นหลายสาย และแต่ละสายจะดูแลผู้สมัครของตนเองเท่านั้น

หลังจากนั้น (11 มี.ค.) คณะกรรมการชุด นายบุญทัน ได้มีมติเอกฉันท์สรุปผลให้ยกคำร้องคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากสอบพบว่า การทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของ นายมณเฑียร และ นายสุนทร ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นการกระทำส่วนตัว กรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงไม่เข้าข่ายต้องถูกยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.พิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่เกี่ยวข้องกับกรณียุบพรรคและการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคแล้ว มีข้อสงสัยว่า แม้กรรมการบริหารพรรครายอื่นจะไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคที่โดนใบแดง กกต.จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคหรือไม่ เพราะถ้อยคำในมาตราดังกล่าว ระบุว่า ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำผิดนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.นี้ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคการเมืองนั้น 5 ปี ซึ่ง กกต.สงสัยว่า การที่ผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเอง อาจจะเข้าข่ายมาตราดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องมีกรรมการบริหารพรรครายอื่นรู้เห็นการกระทำผิดนั้นอีก ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ กกต.จึงให้คณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ที่มี นายสุพล ยุติธาดา เป็นประธาน ไปพิจารณาประเด็นข้อสงสัยดังกล่าว

ซึ่งในที่สุด ทีมที่ปรึกษากฎหมาย กกต.ได้มีมติ 6 : 1 (เมื่อ 26 มี.ค.) ว่า กรณีที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิด แม้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ก็ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ดังนั้น กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค

ด้าน กกต.ได้ประชุมพิจารณาผลสรุปของที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายเมื่อวันที่ 2 เม.ย.แต่ยังไม่ลงมติว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากผู้บริหารของทั้ง 2 พรรคขอโอกาสชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง กกต.เห็นว่าเรื่องยุบพรรคเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม จึงให้โอกาสตัวแทนทั้ง 2 พรรคเข้าชี้แจงอีกครั้งในวันนี้ (8 เม.ย.)

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ กกต.ชี้ชัดว่า แม้กรรมการบริหารพรรคเพียงคนหนึ่งคนใดกระทำผิด ก็ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของพรรค ส่งผลให้แกนนำพรรคทั้ง 2 ได้พยายามดิ้นหนีไม่ให้ถูกยุบพรรค ด้วยการอ้างต่อ กกต.เพิ่มเติมทำนองว่า ผู้ที่โดนใบแดงของพรรค ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค โดยในส่วนของพรรคมัชฌิมาธิปไตย อ้างว่า นายสุนทร ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพร้อมกับ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่ กกต.ตัดสินว่า นายประชัย พ้นจากหัวหน้าพรรคตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2550 (วันที่ นายประชัยประกาศขอลาออกจากหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคมัชฌิมาฯ) แล้ว ดังนั้น การได้รับใบแดงของนายสุนทร จึงไม่ใช่ได้รับในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ส่วนทางด้านพรรคชาติไทย อ้างว่า ขณะนี้นายมณเฑียร ซึ่งโดนใบแดง อยู่ระหว่างฟ้องร้องบุคคลที่กล่าวหาว่าตนซื้อเสียง ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่รู้ผล จึงยังไม่ได้ข้อยุติว่านายมณเฑียร ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคทำผิดจริงหรือไม่ กกต.จึงไม่ควรส่งเรื่องยุบพรรคชาติไทยให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ลองไปดูกันว่า เหตุผลของพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ฟังได้หรือไม่ และจะส่งผลให้ กกต.ตัดสินใจไม่เสนอเรื่องยุบพรรคทั้งสองหรือไม่?

นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และอดีต กกต.กทม.มองว่า กรณีที่พรรคชาติไทยต้องการให้ กกต.รอผลคดีที่นายมณเฑียรฟ้องคนที่กล่าวหาว่าตนซื้อเสียงก่อนนั้น กกต.คงรอไม่ได้ เพราะเป็นคนละคดีคนละส่วนกัน เนื่องจาก กกต.ได้พิจารณาแล้วว่า มีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริง และ กกต.ได้ให้ใบแดงไปแล้ว ซึ่งบุคคลนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย ส่วนเหตุผลของพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่อ้างว่า นายสุนทร โดนใบแดงขณะที่พ้นสภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรคพร้อมกับ นายประชัย ไปแล้วนั้น นายวรินทร์ ชี้ว่า เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นายสุนทรพ้นจากกรรมการบริหารพรรคจริงอย่างที่อ้างหรือไม่?

“คือ มันมีประเด็นมาตรา 237 ประเด็นที่ 1 วรรคแรกมันเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ทำความผิด ถ้าวรรคแรก ฟังว่า ตัวผู้กระทำความผิดนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรค ผลก็จะไปอยู่ในวรรค 2 คือ ต้องยุบพรรค ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า การกระทำความผิดนั้น มันเกิดจากการที่กรรมการบริหารพรรคกระทำหรือเปล่า ถ้าทำ ก็ผิดหมดน่ะ คือวรรค 2 ของมาตรา 237 เนี่ย เป็นเรื่องการเขียนกฎหมาย เรื่องเกณฑ์การรับผิด เกณฑ์ให้ต้องรับผิด ตรงนี้เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมาย ตรงนี้ไม่ใช้หลักด้วยเจตนานะ ใช้หลักว่า ถ้ามีพฤติกรรมอย่างที่ว่าเกิดขึ้น คุณไม่มีสิทธิปฏิเสธ ปฏิเสธได้อย่างเดียวว่า คนที่ทำผิดนั้นไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคเท่านั้นเอง ถ้ายังฟังได้ว่า เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องรับผิดไปในวรรค 2 เขาถึงกลัวกันมากไง (ถาม-แล้วเหตุผลของพรรคชาติไทยฟังได้มั้ยที่ว่า กกต.ต้องรอให้รู้ผลคดีที่เขาฟ้องคนที่กล่าวหาว่าเขาซื้อเสียงก่อน?) มันไม่ใช่ฮะ ฟังว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นมั้ย แล้วกรรมการบริหารพรรคเนี่ยถูกลงโทษมั้ย หรือถูกชี้ขาดว่าได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมั้ย ถ้าฟังว่าอย่างนั้น ก็มีผลตามวรรค 2 ทันที ไม่ต้องรอผลคดี”

ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1 ในคณะที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ยืนยันว่า เหตุผลของทั้งพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ล้วนฟังไม่ขึ้น โดยในส่วนของพรรคชาติไทยนั้น ถ้า กกต.ต้องรอให้ได้ข้อยุติคดีที่ นายมณเฑียร ฟ้องคนที่กล่าวหาตนก่อน คนที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งทุกพรรคทุกคนก็คงหาเรื่องฟ้อง เพื่อยืดเวลา กกต.ออกไปได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นคนละคดีกัน

ส่วนกรณีที่ พรรคมัชฌิมาธิปไตย อ้างว่า นายสุนทร ที่โดนใบแดง ได้พ้นจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคพร้อมกับ นายประชัย ไปแล้วนั้น อ.ทวีเกียรติ เผยว่า เท่าที่ตนได้เช็กดูวัน-เวลาแล้ว ยืนยันได้ว่า แม้ นายประชัย จะพ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรคตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.2550 ตามที่ กกต.ระบุ แต่ นายสุนทร ไม่ได้พ้นจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไปพร้อมกับนายประชัย เพราะพรรคมัชฌิมาธิปไตยมีข้อบังคับพรรคระบุไว้ว่า “กรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว ยังคงรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” มาทำหน้าที่แทน

“คือ ดูแล้ว เช็กดูวัน-เวลาแล้วเนี่ย เขา (นายสุนทร) ยังมีสภาพอยู่นะขณะที่คุณประชัยออกเนี่ย เขายังมีสภาพเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ เพราะ คุณประชัย ออก แต่ในข้อบังคับพรรค (มฌ.) เขียนไว้เลยว่า คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคเนี่ย ก็ให้อยู่ทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรคต่อไป จนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามา เพราะฉะนั้นตรงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ อันนี้ข้อบังคับเขาเขียนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ที่ว่า คุณประชัย ออกแล้วเนี่ย คงไม่เกี่ยว ส่วนเรื่องการฟ้อง(ที่ ชท.ต้องการให้ กกต.รอผลคดีที่นายสุนทรฟ้องผู้กล่าวหาก่อน)เนี่ย ผมว่ามันต้องคิดคนละเรื่อง มันไม่ต้องรอคดี ไม่งั้นก็ฟ้องกลับกันอุตลุตใช่มั้ย ฟ้องกลับแล้วก็ยืดไปอีก 2-3 ปี มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้น กกต.เขาพิจารณาเฉพาะหลักฐานที่เขามีอยู่ว่าขณะนี้เนี่ย (หลักฐาน) พอฟ้องคนนี้มั้ย ถ้าฟ้อง เขาก็ส่งไป คนนี้จะไปฟ้องกลับ ไปฟ้องหัวคะแนนก็ว่าไปอีกคดีหนึ่ง คือ (กกต.) ต้องฟ้องไปก่อน และศาลก็ดูตามหลักฐานของแต่ละคนไป (ถาม-เพราะฉะนั้นดูแล้ว ทั้ง 2 เหตุผลนี้ (เหตุผลของ ชท.และ มฌ.) คงฟังไม่ได้?) คงฟังไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องพิจารณาไปอย่างนั้น ไม่งั้นก็แย่สิ ผู้ร้ายเข้ามาในบ้าน เรายิงผู้ร้ายบาดเจ็บออกไป ผู้ร้ายมาฟ้องเราว่าทำร้ายร่างกาย แล้ว (เรา) ต้องรอก่อน จะฟ้องผู้ร้ายฐานบุกรุกไม่ได้ มันก็คงไม่ถูก”

อ.ทวีเกียรติ ยังพูดถึงกรณีที่รัฐบาลพยายามแก้ รธน.มาตรา 237 ว่า ส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้เพื่อหนีคดียุบพรรค อ.ทวีเกียรติ ยังชี้ถึงการที่หลายพรรคทำผิดกฎหมายจนเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคในขณะนี้ว่า เปรียบไปแล้ว ก็เหมือน “แผลกำลังเน่า” พอจะรักษาด้วยการตัดแขนก็ไม่ยอมให้ตัด โดยอ้างว่า ยาแรงเกิน แทนที่จะดูว่า แผลนั้นเป็นหนักแล้ว ก็ต้องใช้ยาแรงก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ผล และเมื่อใช้ยาแรงไปแล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร ก็ค่อยลดขนาดยาลง เช่นเดียวกัน ถ้าบอกว่า มาตรา 237 หรือการยุบพรรค เป็นยาที่แรงไป ก็ต้องรอให้บังคับใช้กับพรรคที่กระทำผิดก่อน หลังจากนั้นถ้าจะแก้ไขหรือลดความแรงของมาตรานี้ลง ก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง!!
บรรหาร ศิลปอาชา หน.พรรคชาติไทย ซึ่งทางพรรคฯ ต้องการให้ กกต.รอผลคดีที่นายมณเฑียรฟ้องคนที่กล่าวหาว่าตนซื้อเสียงก่อน
สุนทร วิลาวัลย์ กก.บห.พรรคมัชฌิมาธิปไตยที่โดนใบแดง
อนงค์วรรณ เทพสุทิน หน.พรรคมัชฌิมาฯ ยืนยัน นายสุนทรพ้นสภาพ กก.บห.พรรคพร้อมกับนายประชัยไปแล้ว
รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มธ.และ 1 ในทีมที่ปรึกษากฎหมาย กกต.จับโกหกเหตุผลของพรรค มฌ.พร้อมชี้ เหตุผลของพรรค ชท.ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น