xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” เตือนรัฐฯ คิดอีกที แก้ รธน.ตอนนี้วิกฤติแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เตือนรัฐบาล กลับไปคิดอีกที หากแก้ รธน. ตอนนี้เกิดวิกฤตแน่ และรัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะจุดชนวนขึ้นมาเอง ระบุกลุ่มผู้คัดค้านการแก้ รธน.เตรียมใช้มาตรา 122 ถอดถอนนักการเมืองแย่ ๆ แล้วพร้อมแจง การปรับกรรมการบริหารพรรค ปชป. แค่ต้องการให้พรรคดำเนินงานได้คล่องตัวขึ้น ไม่ได้กลัวโดนยุบพรรค อย่างที่หลายคนกล่าวหา

ต่อกรณีที่ทางรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปแม้จะได้รับการต่อต้านจาก หลายภาคส่วนของสังคม วันนี้(2 เม.ย.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้และการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้สัมภาษณ์ในรายการ เวทีความคิด ทางโมเดิร์นไนนท์ ทีวี ถึงกรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนมานานแล้ว ว่าไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ไขในตอนนี้ และหากจะมีการแก้ไขกันจริงก็น่าจะให้มีการทดลองใช้ศึกษาผลกระทบให้นานกว่านี้ก่อน เพราะรัฐธรรมนูญเพิ่งประกาศใช้มาไม่นาน

นายบัญญัติกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนบังคับใช้มีการลงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นการแก้ก็น่าจะให้ประชาชนจากทุกภาคมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้นักการเมืองจะแก้กันเอง และที่สำคัญที่สุดการแก้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็ไม่เหมาะอย่างยิ่ง

ต่อกรณีการแก้มาตรา 237 นั้น นายบัญญัติเห็นว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ หากไม่มีคดียุบพรรค ในกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อันอาจนำมาซึ่งการยุบพรรคพลังประชาชน ที่ยังคาราคาซังอยู่ มันเป็นการส่อพิรุธ เหมือนการแก้ไขเพื่อจะลบล้างการกระทำความผิด ซึ่งการแก้ไขเช่นนี้ “เราไม่เห็นด้วยเป็นอันขาด การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะนำไปสู่การประจันหน้าในสังคม”

นายบัญญัติยังกล่าวต่อกรณีการแก้ไขมาตรา 309 ด้วยว่า หากมีการแก้ไขมาตรา 309 จริงก็จะยิ่งหนักกว่าการแก้ไขมาตรา 237 เสียอีก เพราะการแก้จะไปลบล้างคดีทุจริตที่มีการสอบสวนจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอาจยังส่งผลกระทบไปถึงองค์กรต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คปค. แค่มาตรา 237 คนก็รับไม่ได้อยู่แล้ว ก็มองว่าแก้เพื่อตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งแก้มาตรา 309 นี้ยิ่งหนักใหญ่

นายบัญญัติเปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ก็มีกระแสออกมาแล้ว ว่ามีกลุ่มต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ จะใช้มาตรา 122 ในการถอดถอนนักการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 122 นี้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องทำหน้าที่อย่างสุจริตโดยปราศจากความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ ก็ตีความได้ว่าวันนี้เมื่อ ส.ส.จะเข้าชื่อกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองของตนถูกยุบ อย่างนี้ก็เรียกว่าผลประโยชน์ขัดกันแล้ว ซึ่งประชาชนก็สามารถรวบรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อถอดถอนนักการเมืองได้

“อยากเตือนรัฐบาลเอาไว้ว่า เรื่องนี้จะลำบาก จะเป็นชนวนให้มีการต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขามีจุดยืนที่แน่นอนว่าจะออกมาต่อต้าน รวมถึงปัญญาชน ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว เรื่องนี้จึงอยากให้รัฐบาลกลับไปคิดอีกครั้ง เพราะหากเกิดวิกฤตขึ้นมาจริง ๆ รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นตัวจุดชนวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง ทั้งที่ยังไม่เหมาะไม่ควร”

รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการปรับจำนวนกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จาก 49 คนเหลือเพียง 19 คนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีบางกลุ่มมองว่าการปรับลดจำนวนครั้งนี้เป็นเพราะต้องการจะปูทางไว้ เผื่อกรณีหากเกิดการยุบพรรค จะมีกรรมการบริหารพรรคได้รับผลกระทบจำนวนมาก นายบัญญัติ กล่าวว่า แท้จริงแล้วความคิดที่จะลดกรรมการบริหารพรรคมีมานานแล้ว เนื่องจากเห็นว่าการที่มีกรรมการบริหารพรรคมาก จะทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความยุ่งยาก เนื่องจากการตัดสินใจต่าง ๆ ต้องมีขั้นตอนมากขึ้น จึงได้มีการปรับลด ซึ่งไม่ได้มีการปรับลดเพราะกลัวการยุบพรรค อย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย

กำลังโหลดความคิดเห็น