“บัญญัติ” เตือน “พลังแม้ว” อย่าประเมินฝ่ายคัดค้านต่ำเกินไป ดึงดันรวบรัดแก้รัฐธรรมนูญก่อวิฤตในบ้านเมืองอีกรอบ ชี้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ชี้ทำน่าเกลียด และจะยั่วยุให้คนออกมาต้านมากขึ้นเรื่อยๆ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง บรรญัติ บรรทัดฐาน สัมภาษณ์
วันนี้ (2 เม.ย.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้และการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ของพรรค เตือนว่า หากรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนยังดึงดันจะรวบรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองอีกครั้ง เนื่องจากเชื่อว่าในอีกไม่นานนี้จะมีการต่อต้านขยายตัวลุกลามออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
ในการให้สัมภาษณ์รายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทางเอเอสทีวี นายบัญญัติ ย้ำว่า ไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญกันในตอนนี้เพราะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือถ้าจำเป็นต้องแก้ไขก็น่าจะมีการศึกษาผลกระทบในภาพรวมเสียก่อน และที่สำคัญไม่ควรแก้โดยฝ่ายการเมือง และโดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์เพื่อพรรคและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคน
รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้ยังระบุอีกว่า หากมีการแก้ไขมาตรา 309 จริงก็จะยิ่งหนักกว่าการแก้ไขมาตรา 237 เสียอีก เพราะจะไปลบล้างคดีทุจริตที่มีการสอบสวนจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอาจยังส่งผลกระทบไปถึงองค์กรต่างที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คปค. และอาจยังส่งผลไปถึงกรณีกรณีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยในอดีตอีกด้วย แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือจะส่งผลกระทบต่อคตส.แน่นอน
“ผมเตือนว่าจะเกิดวิกฤตแน่นอน เพราะเชื่อว่าแนวโน้มการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำกันน่าเกลียดเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งแก้ไขให้เสร็จภายใน 3 เดือนให้เสร็จก่อนคดียุบพรรค” นายบัญญัติ ระบุ
นายบัญญัติ ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่มีการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ของพรรคพลังประชาชน ว่าน่าจะมาจากความมั่นใจเรื่องอำนาจ และอีกทางหนึ่งจะใช้เรื่องเศรษฐกิจมากลบกระแส เนื่องจากรู้ว่าคนจะสนใจเรื่องปัญหาปากท้อง
ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยเพราะต้องการรอเสียบหากมีการยุบพรรคพลังประชาชน และอีกสองพรรคว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะหากมีการยุบพรรคจริง ส.ส.ก็สามารถหาพรรคใหม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีพรรคสำรองอยู่แล้ว สรุปก็คือพรรคร่วมรัฐบาลยังอยู่ อาจมีการเลือกตั้งซ่อมบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เสียงข้างมากยังอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล
ประธานคณะทำงานฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเตือนว่า อย่าประเมินฝ่ายที่คัดค้านต่ำเกินไป ขระเดียวกัน ให้ระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขคราวนี้ของนักการเมืองอาจเข้าข่ายดังกล่าวและอาจถูกยื่นถอดถอนได้
/0110