xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “สมัคร-จักรภพ”...ปาก “ปชต.”(แต่)หัวใจ “เผด็จการ” หรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน


ช่วงนี้ เรื่องฮอตเกี่ยวกับสื่อ เห็นทีจะไม่พ้นการประกาศจะเข้ามาจัดระเบียบสื่อของ “รมต.จักรภพ” โดยอ้างเหตุว่า สื่อยังไม่เป็นกลาง ขณะที่นายกฯ สมัครก็หลุดปากทำนองว่าจะมีทีวีช่องใหม่ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นใน 2-3 วันนี้ โดยจะเป็นที่รองรับ พนง.ทีไอทีวีด้วย ...ขณะที่หลายฝ่ายในสังคมชี้ว่า ท่าทีของ “สมัคร-จักรภพ” ดังกล่าว เป็น “สัญญาณอันตราย” ที่ต้องการควบคุม-ปิดปากสื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์-ตรวจสอบ รบ.มากกว่าจะต้องการทำให้สื่อเป็นกลางอย่างที่ปากว่า ประมาณว่าน่าจะเข้าข่าย “ปาก ปชต. แต่หัวใจเผด็จการ” ไม่แค่นั้น ยังมีวาทะของทั้งคู่ที่ “โกหกคำโต” ต่อสังคมทำนองว่า อยู่ดีๆ ไอทีวีก็ถูกยึดไป ทั้งที่ไอทีวีทำรายได้ให้รัฐปีละกว่าพันล้าน...

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ 1 วัน (7 ก.พ.) นายจักรภพ เพ็ญแข(ผู้ที่ทิ้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต กระทรวงการต่างประเทศ มาทำธุรกิจสื่อ ก่อนโดดเข้าสู่วงการเมืองด้วยคำชวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งล่าสุดได้เป็นรัฐมนตรีฯ ที่คุมสื่อก็ประกาศทันทีว่าจะเข้ามาจัดระเบียบสื่อทั้งหมด ไม่ว่าจะสื่อของรัฐอย่างกรมประชาสัมพันธ์-อสมท หรือแม้แต่ทีวีสาธารณะทีพีบีเอส(ไทยพีบีเอส) ที่นายจักรภพ บอกว่า อยากเรียกว่าไอทีวีมากกว่า โดยอ้างว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะทีพีบีเอสเกิดขึ้นภายใต้ครรลองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

นายจักรภพยังอ้างเหตุผลที่ต้องเข้ามาจัดระบบระเบียบสื่อด้วยว่า เพื่อสร้างความเป็นกลางให้สื่อ เพราะวันนี้แม้แต่สื่อของรัฐก็ยังคงเลือกข้าง วิจารณ์ด้านเดียว ยังยึดอยู่ในเกมการเมืองที่ผ่านมา

“เราอยากจะเริ่มต้นด้วยความเป็นกลาง โดยไม่คิดเรื่องการแบ่งฝ่ายแบ่งข้างอย่างที่แล้วมา เราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้างมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากเราเข้ามาแล้วบอกว่า จะต้องเอาคืน บ้านเมืองก็ไม่สงบสุข เพราะฉะนั้นถามว่าจะเอายังไงต่อไป ก็ขอให้เราสังเกตก็แล้วกันว่า การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวเนี่ย ยังคงดำเนินต่อไป แม้กระทั่งในสื่อภาครัฐเอง เราไม่เกี่ยงที่จะมีสื่อภาครัฐวิจารณ์รัฐบาล เพราะสื่อก็คือสื่อ ไม่ว่าจะอยู่ภาครัฐหรือภาคเอกชน ได้รับความคุ้มครองตาม รธน.ที่จะได้วิพากษ์วิจารณ์ตามที่ตนเองเห็นสมควร แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่าวิจารณ์ข้างเดียว โดยที่ไม่มีข้อมูลอีกข้างหนึ่งด้วย ตรงนี้เนี่ยในฐานะที่ดูแลงานประชาสัมพันธ์เนี่ย ผมคิดว่าเป็นผลร้ายต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพราะฉะนั้นคงจะไม่มีการทำอย่างที่ถามว่าจะต้องมีการอะไรต่างๆ ตอบโต้ทางการเมือง คงจะไม่มี แต่ที่จะมีแน่ๆ ก็คือ จะต้องมีการประเมินผลว่าสื่อภาครัฐเนี่ย ได้ให้ข้อมูลที่สมดุลและเป็นกลางกับสังคมจริงหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ก็จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็จะได้เรียนให้ทราบอีกทีหนึ่ง”

นายจักรภพ ยังประกาศกร้าวด้วยว่า ไม่กลัวว่าจะทำอะไรที่เป็นการล้วงลูกสื่อ เพราะถ้าต้องการถนอมตัว ก็คงไม่เข้ามาตรงนี้!

ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ได้ผุดรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันอาทิตย์ ก็ได้ปล่อยประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสื่อระหว่างจัดรายการนัดแรก (เมื่อ 10 ก.พ.) ว่า ใน 2-3 วันนี้ จะมีสื่อที่มีคุณภาพออกมาเผยแพร่แข่งกับทีวีสาธารณะ แต่นายสมัครไม่ตอบรับหรือปฏิเสธว่า ทีวีที่ว่านั้นหมายถึงโทรทัศน์ดาวเทียม “พีทีวี” ของอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยหรือไม่? โดยย้อนให้ผู้สื่อข่าวไปนอนคิดดูเอง นายสมัคร ยังออกอาการห่วงใยพนักงานทีไอทีวีบางส่วนที่ไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานกับทีวีสาธารณะทีพีบีเอส โดยบอกพนักงานดังกล่าวมีฝีมือ รับรองจะมีที่ทำงาน ซึ่งนายสมัครก็ไม่ยอมเผยอยู่ดีว่า ที่ทำงานที่ว่านั้นหมายถึงที่พีทีวีใช่หรือไม่?

ไม่แค่นั้น นายสมัครยังพูดทำนองว่า จู่ๆ ไอทีวีก็ถูกยึด ทั้งที่ไอทีวีทำรายได้ให้รัฐปีละ 1,200 ล้าน แต่กลับไปยกเลิก แล้วเอาเงินหลวงไปใส่ปีละ 2,000 ล้าน เสร็จแล้วก็เอาคนมา 5 คน 15 คน มาเขียนกฎหมายปิดล้อม (ทีไอทีวี) แล้วยึดครองได้ (เปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะ) จนใครจะไปทำอะไรก็ไม่ได้

สรุปแล้ว คำพูดของนายสมัครไม่เพียงต้องการชี้ว่าไอทีวีถูกยึดมาเป็นของรัฐโดยไร้เหตุผล และถูกคนไม่กี่คนมาเขียนกฎหมายเพื่อยึดทีไอทีวีให้เป็นทีวีสาธารณะ แต่คำพูดของนายสมัครยังทำให้สังคมสงสัยว่า ตกลงรัฐบาลจะเปิดฟรีทีวีช่องใหม่เพื่อรองรับพนักงานทีไอทีวี หรือจะให้พนักงานเหล่านี้ไปทำงานกับโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีที่ประกาศแล้วว่า จะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งวันที่ 15 ก.พ.นี้ โดยอาจจะออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม “เอ็มวีทีวี”ที่เป็นพันธมิตรกับพรรคไทยรักไทยและเคยออกคลิปวีดีโอที่ พ.ต.ท.ทักษิณหาเสียงให้พรรคพลังประชาชนมาแล้ว

ขณะที่นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าว(เมื่อ 10 ก.พ.) ถึงการจะออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวี โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม(ที่ยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมโดยตรงในไทย เช่น พีทีวี, เอ็มวีทีวี) ดังนั้น หากพีทีวีออกอากาศวันที่ 15 ก.พ.นี้ ตนในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ก็คงต้องแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บริหารสถานี

และน่าจะเป็นคำพูดดังกล่าวของนายปราโมช ที่ทำให้เกิดกระแสข่าวขึ้นทันทีว่า นายจักรภพ ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่คุมสื่อ อาจสั่งเด้งนายปราโมชพ้นตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าสนใจว่า หลังนายปราโมชได้พบกับรัฐมนตรีจักรภพเมื่อวันที่ 11 ก.พ.แล้ว นายปราโมชจะยังคงยืนยันหลักการความถูกต้องที่ต้องแจ้งความดำเนินคดีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีดังที่ได้ลั่นวาจาไว้วันก่อนหรือไม่? ถ้ายืนยัน ท่านคงถูกเด้งแน่นอน แต่ถ้าปรับเปลี่ยนท่าทีหรือยอมเปลี่ยนสี ท่านก็คงได้เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ต่อไป(ล่าสุด นายจักรภพได้เรียกประชุมข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ในสัปดาห์หน้า เพื่อวางแนวทางการทำงานของกรมฯ โดยอ้างว่าเพื่อให้เสนอข่าวอย่างเป็นกลาง)

ได้เห็นความเคลื่อนไหวของนายกฯ สมัครที่จะผุดทีวีช่องใหม่ให้พนักงานทีไอทีวีทำงาน รวมทั้งกรณีที่อดีตโฆษกรัฐบาลทักษิณอย่างรัฐมนตรีฯ จักรภพจะเข้ามาจัดระเบียบสื่อ ที่จะไม่เว้นแม้แต่ทีวีสาธารณะทีพีบีเอสแล้ว ลองมาดูท่าทีและการวิเคราะห์สัญญาณดังกล่าวจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีทีวีสาธารณะในบ้านเรากันบ้าง

อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองกรณีที่นายสมัครบอกว่า 2-3 วันนี้จะมีทีวีที่มีคุณภาพเกิดขึ้น และจะนำพนักงานทีไอทีวีซึ่งมีฝีมือไปทำงานว่า คิดว่าน่าจะหมายถึงสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีของอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ไม่ใช่การเปิดฟรีทีวีช่องใหม่ เพราะการจะเปิดทีวีช่องใหม่ในขณะนี้ยังติดขัดในแง่กฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีคณะกรรมการ กสทช.” (ซึ่งรวมระหว่าง “กสช.” กับ “กทช.”) มาจัดสรรคลื่นความถี่ อ.อนุสรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การจะให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีทีวีออกอากาศ ก็ไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ประกอบกับลักษณะการส่งสัญญาณดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์พีทีวีก็ไม่เหมือนกับเอเอสทีวี จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเมื่อเอเอสทีวีออกอากาศได้ พีทีวีก็ต้องออกอากาศได้ดังที่นายสมัครเคยระบุ

“ทีวีผ่านดาวเทียมตรงนี้เนี่ย (เช่น พีทีวี, เอ็มวีทีวี ซึ่งยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมโดยตรงในไทย) ผมคิดว่า ในทางกฎหมาย มันยังอยู่ในลักษณะคลุมเครือว่าสามารถที่จะดำเนินการได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากจะเป็นการส่งสัญญาณจากประเทศไทยเพื่อยิงไปยังดาวเทียมโดยตรงนั้นสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าดูใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ (กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ซึ่งจะออกมาบังคับใช้เร็วๆ นี้ เท่าที่ผมทราบก็คือได้มีพระบรมราชโองการลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยแล้ว รอประกาศใช้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในแง่ของการยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นลักษณะของการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัด ซึ่งจะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองมีทีวีในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นหลายช่อง ซึ่งผมคิดว่าในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์เองก็ละเลยกันมายาวนานว่าทำไมไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับทีวีผ่านดาวเทียม(ที่ยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมโดยตรงในไทย) ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้มีอยู่หลายสถานีด้วยกัน(เช่น พีทีวี, เอ็มวีทีวี) ตรงนี้แตกต่างจากกรณีเอเอสทีวีนะ เอเอสทีวีนั้นทางศาลปกครองก็ได้ตัดสินแล้ว(ว่าสามารถดำเนินการได้) เพราะลักษณะของการส่งสัญญาณนั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมโดยตรง(ในไทยเหมือนพีทีวี) แต่เป็นลักษณะของการส่งสัญญาณผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมขึ้นไป(ที่ต่างประเทศ)”


อ.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีทีวีช่องใหม่ตามที่นายสมัครส่งสัญญาณหรือไม่ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำทีวีขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งหากดูจากการให้สัมภาษณ์ของนายสมัครและนายจักรภพ ก็พบว่ามี 2 เหตุผล 1.เพื่อรองรับคนของทีไอทีวีที่ไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานที่ทีวีสาธารณะทีพีบีเอส และ 2.เพื่อทำสถานีโทรทัศน์ที่เป็นกลาง ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า เหตุผลที่ 1 ทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุผลที่ 2 ก็ขัดแย้งกับพฤติกรรมในอดีตของรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้

“ถามว่าในเรื่องของทีวีช่องใหม่ หรือฟรีทีวี มันควรที่จะมีหรือไม่ อย่างไร? ประเด็นมันอยู่ที่ตรงนี้ว่า จะทำทีวีขึ้นมาเพื่ออะไร? ถ้าหากดูการให้สัมภาษณ์(ของนายสมัคร-นายจักรภพ)เนี่ย เขาบอกว่า เพื่อเป็นช่องทางในการรับคนของทีไอทีวีที่ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงานของทีพีบีเอส อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือต้องการจะทำสถานีที่เป็นกลางอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเมื่อดูเหตุผลทั้ง 2 อย่างแล้ว อันที่ 1 ถ้าหากว่ามาอ้างเหตุผลการที่จะเอาคลื่นสาธารณะซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดตรงนี้ไปให้เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 47 ผิด รธน.แน่นอนตรงนี้ว่า เอาไปเพื่อรองรับคนของทีไอทีวี”

“และในขณะเดียวกันก็พูดว่า เพื่อให้เป็นสถานีที่เป็นกลาง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลของไทยรักไทยที่คุณจักรภพก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการเป็นรองเลขาธิการนายกฯ การเป็นโฆษกรัฐบาลก็แล้วแต่ มันก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า เป็นรัฐบาลที่ได้รับการบันทึกว่า“มีการแทรกแซงสื่อมากที่สุด” ทำให้สื่อไม่เป็นกลางมากที่สุด เมื่อมาประกาศเช่นนี้ (ว่าจะทำให้สื่อมีความเป็นกลาง) ผมคิดว่ามันขัดแย้งกับพฤติกรรมที่มีอยู่ในอดีต ว่ามันจะเป็นจริงได้หรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในส่วนของประชาชนเอง ควรที่จะมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า คลื่นนี้(ถ้าเปิดช่องใหม่)เป็นคลื่นสาธารณะของประเทศชาติ เป็นทรัพย์สมบัติของประเทศชาติ จะนำไปเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตรงนี้ของ รธน.มาตรา 47 แล้ว ผมคิดว่าเราคงต้องมีการหวงแหนทรัพยากรของชาติตรงนี้ด้วยเช่นกัน”

อ.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมัครอ้างว่า จู่ๆ ไอทีวีก็ถูกยึดมาเป็นของรัฐ ทั้งที่ทำรายได้ให้รัฐปีละ 1,200 ล้านด้วยว่า บางทีทั้งนายกฯ สมัครและรัฐมนตรีฯ จักรภพอาจแกล้งไม่เข้าใจ ทั้งที่ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันแล้วว่า ไอทีวีถูกตระกูลชินวัตรขายให้สิงคโปร์ไปแล้ว และเมื่อไอทีวีทำผิดสัญญา ไม่จ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายและค่าปรับ รัฐก็ต้องยึดสัมปทานคืนตามกฎหมาย

“ไอทีวีนั้นกระทำการผิดสัญญา โดยไม่ยอมส่งค่าสัมปทานประมาณ 2-3 ปีด้วยกัน หลังจากนั้นแล้ว คุณทักษิณได้ทำการขายไอทีวีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ชินคอร์ป ให้กับเทมาเส็คของสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นไอทีวีไม่ได้เป็นทีวีของไทยแล้วในยุคประมาณปี 2549 ก็ไม่ใช่เป็นทีวีของไทยแล้ว เป็นทีวีของสิงคโปร์ และเมื่อ(ไอทีวี) กระทำการผิดกฎหมายเนี่ย ก็ได้ให้เวลาพอสมควรแล้วว่าจะต้องจ่ายค่าสัมปทานและค่าปรับ แต่(ไอทีวี) ก็ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ เพราะฉะนั้นกระบวนการ เมื่อไม่ยอมจ่าย ผิดสัญญา และให้โอกาสพอสมควรแล้ว ก็จะต้องมียึดสัมปทานคืน อันนี้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และเมื่อยึดสัมปทานคืนปุ๊บ ในส่วนของพนักงานไอทีวีเดิมก็ได้รับค่าชดเชยคนละหลายเดือน และเพราะความเห็นอกเห็นใจกันอะไรก็แล้วแต่ของรัฐบาลที่ผ่านมา(รบ.สุรยุทธ์) ก็ทำให้มีการรับพนักงานให้ทำงานต่อไป”

“ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าหากว่าในกรณีที่เมื่อ(ไอทีวี)เป็นของรัฐ กระบวนการต่อไป มันก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ทางที่ 1.จะทำอย่างไรกับทีไอทีวี และในส่วนของพนักงานที่เหลือ อันที่ 1. ก็กลับไปเหมือนเดิม ก็คือเป็นฟรีทีวี แต่ก็ต้องมีกระบวนการที่จะต้องมีการจัดประมูลใหม่ เมื่อมีการจัดประมูลใหม่ เมื่อมีเจ้าใหม่เข้ามา(รับสัมปทาน) พนักงาน(ไอทีวี)ยังไงก็ถูกปลดอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้ามันไปในลักษณะของมีการเปิดประมูล แต่ในเรื่องของการเปิดประมูลเนี่ย โซลูชั่น(การแก้ปัญหา)เกี่ยวกับเรื่องของการเป็นทีวีเสรีหรืออินดิเพนเดนท์ เทเลวิชั่นเนี่ย มันยังไม่มีทางออก ทางออกก็คือ ในระยะเวลาที่ผ่านมาทีวีเสรีในประเทศไทย(ไอทีวี)มันเกิดขึ้นมาในช่วงแรกเท่านั้นเอง หลังปี 2538-2539 ที่มีหุ้นอยู่ 10 หุ้น แต่หลังจากที่คุณทักษิณเข้าไปเทกโอเวอร์ ทีวีเสรีที่อิสระจากอำนาจทางการเมืองเนี่ย มันก็หมดสิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทีวีเสรี ก็คือจะทำอย่างไรให้มันปราศจากการครอบงำจากรัฐและการครอบงำจากระบบของทุน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นที่มาขององค์กรแพร่ภาพสาธารณะหรือทีวีสาธารณะช่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว”

ด้าน อ.จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม.และผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องให้มีทีวีสาธารณะในเมืองไทย กล่าวถึงกรณีที่นายจักรภพจะเข้ามาจัดระเบียบสื่อ โดยอ้างว่าสื่อไม่เป็นกลาง รวมทั้งกรณีที่นายสมัครบอกว่า 2-3 วันนี้จะมีสื่อที่มีคุณภาพเกิดขึ้นว่า ท่าทีของทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีที่คุมสื่อ นับเป็น“สัญญาณอันตราย”ที่แสดงถึงการที่รัฐบาลจะจัดระเบียบสื่อเพื่อให้เชียร์รัฐบาลและไม่กล้าตรวจสอบรัฐบาล

“ผมอยากย้อนไปดูเรื่องของสื่อในอังกฤษ เช่น บีบีซี สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีในประเทศอังกฤษ ไม่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลไหน และพยายามเสนอข่าวอย่างเป็นอิสระ ไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาเป็นรัฐบาลก็มักจะมองว่า บีบีซีลำเอียงไปอีกด้านหนึ่ง คือพูดง่ายๆ ว่า ใครเป็นรัฐบาลก็จะมองว่าสื่อเป็นฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะเมื่อสื่อตั้งคำถามต่อรัฐบาลหรือเข้าไปตรวจสอบ นี่คือปัญหาของประเทศไทย ปัญหาคือ รัฐบาลต่างๆ จะพยายามไม่ให้สื่อเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ ทีนี้ถ้าถามว่าสื่อของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ลำเอียงมั้ย ผมคิดว่ามีส่วน คือเราต้องบอกว่า ตั้งแต่ช่วงท้ายของรัฐบาลทักษิณมาถึงปัจจุบัน เราจะมีทั้งสื่อที่ออกมาเชียร์คุณทักษิณกับสื่อที่ออกมาต้านคุณทักษิณ แต่อันนี้ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าสมัยก่อนที่มีเฉพาะสื่อที่เชียร์คุณทักษิณเท่านั้นที่อยู่ได้ แต่สื่อหรือรายการที่มีลักษณะคัดค้าน(ทักษิณ)เกิดขึ้นไม่ได้”

“ผมคิดว่าถ้าเราต้องการให้ประชาชนเติบโตมีบทบาททางสังคมและสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ เราต้องปล่อยให้มีสื่อที่หลากหลายในต้นกำเนิด หลากหลายในเนื้อหา เราจะต้องเปิดให้มี โดยรัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ถ้าเมื่อไหร่อย่างที่คุณจักรภพ บอกว่า สื่อส่วนใหญ่มีอคติต่อรัฐบาลใหม่ เพราะฉะนั้นจะต้องไปจัดระเบียบ ความหมายของอันนี้ก็คือต้องไปจัดระเบียบให้สื่อต่างๆ ออกมาเชียร์รัฐบาล และไม่ให้ออกมาคัดค้านหรือตรวจสอบ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุด”


อ.จอน ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมัครอ้างว่า จู่ๆ ก็เอาคนไม่กี่คนมาเขียนกฎหมาย แล้วยึดไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะว่า ส่วนตัวแล้วแม้จะไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายบางฉบับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับทีวีสาธารณะที่ออกโดย สนช.เป็นกฎหมายที่ดีฉบับหนึ่ง เพราะให้หลักประกันว่าทีวีสาธารณะจะไม่อยู่ในการครอบงำของรัฐหรือรัฐบาลหรือกลุ่มทุน จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ได้ แต่ขณะนี้ตนเริ่มเป็นห่วงแล้วว่า รัฐบาลจะพยายามเข้ามาแทรกแซงและแก้ไขกฎหมายทีวีสาธารณะ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลโดยตรง

ส่วนกรณีที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อาจถูกรัฐบาลใหม่สั่งเด้งพ้นตำแหน่งนั้น อ.จอน บอกว่า เป็นเรื่องปกติของทุกรัฐบาล ที่ต้องการให้กรมประชาสัมพันธ์สนองนโยบาย ซึ่งส่วนตัวแล้ว หากเป็นไปได้ ตนอยากให้ยุบกรมประชาสัมพันธ์ไปเลยมากกว่า เพราะกรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อ และประเทศที่มีกรมประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ตนจึงอยากให้กรมประชาสัมพันธ์หมดไปจากสังคมไทย

และว่า จริงๆ แล้ว “สื่อของรัฐ” ก็ไม่จำเป็นต้องมี จะสังเกตเห็นว่า ประเทศยุโรปตะวันออกหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ประเทศเหล่านั้นก็ไม่เหลือสื่อที่รัฐบาลจะใช้ประโยชน์อีกเลย จะมีก็เพียงสื่อเอกชนและสื่อสาธารณะเท่านั้น ซึ่งจะไม่ให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมดูแลแต่อย่างใด เป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นได้ นั่นคือระบอบประชาธิปไตย แต่ในระบอบเผด็จการ รัฐบาลต้องการพูดกับประชาชนทางเดียวเหมือนกับที่นายกฯ สมัครมีรายการที่พูดกับประชาชน แต่ไม่อยากให้คนอื่นมีรายการที่จะมาวิจารณ์ตน ลักษณะเช่นนี้ถือว่า เป็นลักษณะของผู้มีอำนาจที่ไม่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย!!






กำลังโหลดความคิดเห็น