xs
xsm
sm
md
lg

ออกลาย

เผยแพร่:   โดย: ธรรมคุณ บุญพา

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับการยอมรับว่าเป็นปฐมบทสำคัญของการปกป้อง จัดสรรคลื่นความถี่ของชาติ แม้ว่าในที่สุดจะเป็นจริงได้ก็แต่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ในขณะที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กสช.) จะสะดุดหยุดกึกแจ้งเกิดไม่ได้ก็ตาม..

ทั้งนี้ปี 2543 กฎหมายสำคัญต่อเนื่องได้ถูกผลิตออกมา ชื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

เรียกกันสั้นๆว่า พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่

มาตรา 80 ของพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ บัญญัติว่า “ ในวาระเริ่มแรกที่การคัดเลือกและแต่งตั้ง กสช.หรือ กทช.แล้วแต่กรณียังไม่แล้วเสร็จ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การอนุญาตและการกำกับดูแลหรือการควบคุมการประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยโทรเลขและโทรศัพท์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติจนถึงวันพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 77 แต่ในระหว่างนั้นจะพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติมไม่ได้”

สาระสำคัญของมาตรา 80 นี้อยู่ตรงที่ว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งถึงวันนี้ก็หมายถึงใบอนุญาตคลื่นวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ส่วนคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคมนั้น หลังพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม บังคับใช้ ปรากฏว่ากทช.อนุญาตอนุมัติคลื่นความถี่ในส่วนนั้นเละตุ้มเป๊ะไปหมดแล้ว)

และ ณ วันนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้พยายามสืบสานเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างเต็มที่ และพยายามปลดล็อก กทช. และกสช. โดยให้รวมเป็นองค์กรเดียว ตามมาตรา 47

“มาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ
.....................
......................”


แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา305 (1) ระบุว่า “มินำบทบัญญัติมาตรา 47 วรรคสอง มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการตรากฎหมายตามมาตรา 47 จัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งต้องไม่เกิน หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยอย่างน้อยกฎหมายดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้านเป็นหน่วยย่อยในองค์กรนั้นแยกต่างหากจากกัน ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม และมีรายละเอียดว่าด้วยการกำกับและคุ้มครองการดำเนินกิจการการจัดให้มีกองทุนพัฒนาทรัพยากรสื่อสารและส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้นจะสิ้นผล...”

แปลว่า “องค์กรอิสระฯ” ตามมาตรา 47 วรรคสองยังไม่เกิด..ต้องนับไปอีก 180 วันหรือ 6 เดือนข้างหน้า..จึงจะเกิด ซึ่งในขณะนี้มีหลายสำนักได้ร่างกฎหมายเตรียมการเอาไว้แล้ว เบื้องต้นเมื่อ กทช.ต้องรวมกับ กสช.ก็เรียกกันไปพลางๆ ว่า กสทช.

เรื่องความถี่ วิทยุ โทรทัศน์ มีกรณีแทรกซ้อนเล็กน้อยตรงที่ว่า ขณะที่รอ กสทช.แจ้งเกิดในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เมื่อปลายปีที่แล้วสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จำนวนหนึ่งได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เนื้อหาเป็นการจัดระเบียบ กำหนด กฎ กติกา มารยาท ว่าด้วยการทำมาหากินกับวิทยุ โทรทัศน์

โดยในส่วนของโทรทัศน์แม้จะไม่ได้เปิดทางเรื่องสถานีโทรทัศน์ที่เรียกกันว่า “ฟรีทีวี” แต่ก็เป็นการเปิดทางโล่งการประกอบกิจการเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม เป็นเรื่องทำได้อย่างไม่ยากลำบากอีกแล้ว ขอเพียงแต่ไปจดแจ้งและทำตามกฎกติกาบางอย่าง...

กฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา...

แต่กฎหมายที่บังคับใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้และเริ่มมีผลในทางปฏิบัติอยู่ที่ภารกิจการแปรสภาพทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะช่องแรก คือพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่เรียกกันสั้นๆว่า พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ นั่นแหละ...

...............

ดังว่ามาทั้งหมด ผมเพียงแต่จะบอกว่าเรื่องของวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมสลับซับซ้อน ยอกย้อนไปมาอยู่พอสมควร มิใช่ว่าจู่ ๆ ท่านนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช หรือ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านสื่อ นาม “จักรภพ เพ็ญแข” จะมาทำซ่า ทุบโต๊ะ ยุบโยกอะไรได้ตามอำเภอใจภายใต้อำนาจทางการเมือง...

“เราจะให้มีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นกลางโดยสัญชาติ ไม่ต้องมีใครมาสั่งสอน สถานีที่เป็นกลางและดีที่สุด หารายได้ของตัวเองมาดูแลตัวเองได้หมดถูกทำลาย ถูกยึดนั่นแหละความเป็นธรรมไม่มีในโลก ผมไม่ได้ท้าทาย แต่อีก 1 -2 วัน จะทำให้ดูว่าคนที่มีฝีมือต้องมีช่องทำงานและให้เขาทำงานโดยอิสระ แล้วมาดูกันว่าสาธารณะกับที่มีอิสระโดยไม่ต้องเอาเงินปีละ 2,000 ล้านมาทำ อันไหนจะดีกว่ากัน..” คือคำประกาศของนายกฯสมัคร เมื่อ 10 ก.พ.2551

ถ้าคิดแค่การสถาปนาฟื้นฟูคำว่า “พีทีวี” ทีวีดาวเทียมช่องหนึ่งก็ว่าไปเถอะ ผมสนับสนุนสุดลิ่ม แต่ถ้าเป็นเรื่องของการแจ้งเกิดฟรีทีวีอีกช่องหนึ่งจะต้องอธิบายความกับสังคม ไม่ใช่ไปงุบงิบซุบซิบกับเจ้าของรัฐบาลตัวจริงหรือเกิดจากความกริ้วโกรธกรณีทีไอทีวีถูกแปลงสภาพ...

อะไรก็ตามถ้ามันเกิดขึ้นมาจากความโกรธ เกลียด หรือเกิดจากวาระทางการเมืองเน่า ๆ เป็นพื้นฐาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการหาทางออกที่สร้างสรรค์ เป็นธรรมกับสังคม กับส่วนรวมจริง ๆ ย่อมจะถูกจับตา ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นเป็นธรรมดา...

ทีวีสาธารณะที่กำลังก่อเกิด อาจจะยังมีข้อที่ต้องปรับเปลี่ยนปรับปรุงอยู่พอสมควร แต่มันเกิดขึ้นเพราะมันต้องมีโทรทัศน์ในรูปแบบนี้ในสังคมไทย และเหตุที่ต้องเริ่มต้นที่ทีไอทีวี เพราะทีไอทีวีหรือ “ไอทีวี” เดิมมันมีปัญหา ขณะที่ช่อง 11 ยังจำเป็นต้องเป็น “สื่อของรัฐ” ให้คนอย่างสมัครได้สนทนาพูดไปบ่นไปประสาสมัคร..อย่างที่เห็น...

ถ้า “สมัคร”หรือ “จักรภพ” แน่จริงก็ลองแก้กฎหมายยุบทีวีสาธารณะดูก็แล้วกัน จะได้รู้ว่า...อะไรมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่ง่ายเหมือนการยัดเยียด ครม.ขี้เหร่ให้เป็นผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองเมื่อเร็วๆ นี้หรอก จะบอกให้.
กำลังโหลดความคิดเห็น