“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ท้า “ยงยุทธ” ประกาศไม่ใช้ตำแหน่งประธานสภา คุ้มครองตัวเองจากคดีทุจริตเลือกตั้งเชียงราย-ยิงบ้าน “ศตะกูรมะ” ที่อยุธยา เตือน “ทักษิณ” กำลังเจอความเขี้ยวของนักการเมือง ระวัง “หมัก” เปลี่ยนไป หลังได้เก้าอี้นายกฯ มีอำนาจ “ปรับ ครม.-ยุบสภา” อยู่ในมือ ขณะ “แม้ว” ยังเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศ กุมสภาพไม่ได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 24 มกราคม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และ นางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ ในช่วงแรกผู้ดำเนินรายการได้เรียกร้องให้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ยึดมั่นในคำสัตย์ปฏิญาณที่กล่าวก่อนรับพระบรมราชโองการฯ นายยงยุทธ ต้องคำนึงถึงเกียรติภูมิของตัวเอง อีกทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
ต่อไปนี้ นายยงยุทธ ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ทั้งจากคดีที่ถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินซื้อเสียงกำนันใน จ.เชียงราย คดีอาจนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคพลังประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังมีคดีนำตำรวจกองปราบปรามใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงบ้านของ นางอุดม ศตะกูรมะ ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2547 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
คดีทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะคดียิงบ้านของ นางอุดม จะสร้างความหนักใจให้กับนายยงยุทธ เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคพลังประชาชนต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เลยส่ง นายยงยุทธ มาเป็นประธานสภา ทั้งๆ ที่ยังมีคนเหมาะสมอยู่ในพรรคอีกมากมาย
ทั้งนี้ เชื่อว่า ตำแหน่งประธานสภา จะเอื้อประโยชน์ให้กับ นายยงยุทธ หากถูกออกหมายจับ นายยงยุทธ ก็จะใช้เอกสิทธิ์คุ้มครอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด ซึ่งเท่ากับว่า นายยงยุทธ ในฐานที่เป็นประธานสภา ก็สามารถสั่งให้ตำรวจปล่อยตัวเองได้
ดังนั้น ถ้า นายยงยุทธ บริสุทธิ์ใจตามที่ได้ปฏิญาณไว้ ก็อย่าใช้เอกสิทธิ์ หรือตำแหน่งประธานสภา มาคุ้มครองตนเองจากคดีอาญา อันเป็นคดีที่ขัดกับศีลธรรม เป็นการกระทำที่สั่นคลอนความชอบธรรมของสถาบันการเมือง อีกทั้งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากมีหมายเรียกก็ควรพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง นายยงยุทธต้องประกาศว่าจะไม่ใช้ตำแหน่งประธานสภา มาคุ้มครองเพื่อให้ตัวเองหลุดรอดจากคดี
**พปช.ส่อเมินคนอีสาน
ผู้ดำเนินรายการยังกล่าวถึงความขัดแย้งเรื่องโควตารัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชาชน ว่า พรรคพลังประชาชนกำลังเผชิญกำลังปัญหาทั้งภายในและภายนอก โดยภายนอกก็สืบเนื่องมาจากการไม่เห็นด้วยกับสูตรการจัดสรรโควตารัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะล่าสุดมีการตั้งสูตร 5 ต่อ 1 ออกมาจาก นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย
ขณะที่ปัญหาภายในก็หนีไม่พ้นการเคลื่อนไหวของ ส.ส.อีสาน ที่อ้างความชอบธรรมในสัดส่วนโควตารัฐมนตรีหลายที่นั่ง ในฐานะที่ภาคอีสานเป็นฐานเสียงหลักของพรรค เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคพลังประชาชนกำลังดูถูกพี่น้องในภาคอีสาน ถึงไม่จัดสรรโควตาให้เหมาะสมกับสัดส่วน
นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็นำไปสู่การบินไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อต่อรองตำแหน่งถึงฮ่องกง และไม่เฉพาะคนในพรรคพลังประชาชนเท่านั้น ยังมีนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลบินไปต่อรองตำแหน่งด้วย ว่ากันว่า เป็นการจัดคณะรัฐมนตรีทั้งๆ ที่ว่าที่นายกรัฐมนตรี อย่าง นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่หากมองกลับกัน พ.ต.ท.ทักษิณ เองนั้นแหละที่กำลังเจอความเขี้ยวของนักการเมือง
**จับตา “หมัก” งัดข้อ “แม้ว”
ในช่วงที่ 2 ของรายการ ผู้ดำเนินรายการได้วิเคราะห์ว่า ท่าทีของพรรคพลังประชาชนจากนี้ไปนับวันจะแข็งกร้าวมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีต่อทหารจากที่เคยรอมชอมกันในช่วงที่มีคดีเอกสารลับ แต่ในขณะนี้พรรคพลังประชาชนกำลังฮึกเหิม ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจของพวกเขา และกำลังคิดว่าตัวเองสามารถคิดคุมได้ทุกอย่าง ขณะที่ทหารก็หมดอำนาจต่อรองแล้ว แม้แต่การตั้งรัฐมนตรีกลาโหม เชื่อว่า ในเดือน เม.ย.นี้ จะมีการย้ายล้างบางกองกำลังที่อยู่รอบตัวเมือง เพื่อให้เชื่อมั่นว่า กองกำลังทั้งหมดไม่ขยับแน่หลังจากนี้ ดังนั้น การตั้งรัฐมนตรีกลาโหม พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะประนีประนอมกับ คมช.เพราะเชื่อว่าพวกเขาควบคุมทุกอย่างได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เรียนรู้รสชาติของการเมืองที่แท้จริง เพราะสถานการณ์ขณะนี้แตกต่างจากเมื่อตอน พ.ต.ท.ทักษิณ จะขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อปี 2544 ซึ่งตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ มีเงินมหาศาล สามารถใช้นโยบายประชานิยมสร้างกระแส จนได้คะแนนนิยมสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน สามารถดึงเอาคนนอกไม่รู้กี่คนต่อกี่คนเข้ามาร่วมงานอย่างล้นหลาม จน นายเสนาะ เทียนทอง ที่เคยอยู่ด้วยกันแทบกระอักเลือด
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ในขณะนั้น ไม่มีใครทนทานต่ออำนาจต่อรองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทั้งเงินและกระแสความนิยมได้ แต่ขณะนี้แม้จะดูเหมือนว่าพรรคพลังประชาชนจะควบคุมได้ทุกอย่าง แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน คือ ตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อก่อน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ เอง สามารถตั้งใครเป็นรัฐมนตรีหรือจะปรับ ครม.อย่างไร ก็สามารถกุมสภาพได้เองตามต้องการ
คราวนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นนายกฯ เอง แต่อยู่ที่เมืองนอก ไม่มีอำนาจในการยื่นรายชื่อ ครม.ด้วยตัวเอง แต่เป็นนายสมัคร สุนทรเวช ที่กำลังรอเวลาที่จะขึ้นเป็นนายกฯ อยู่ตอนนี้
นายสมัคร นั้น อายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ดี และเล่นการเมืองมานาน รอโอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ขณะนี้จึงได้แต่เงียบ เพื่อรอให้ได้เป็นนายกฯ สักที แต่พอได้เป็นแล้ว ก็อาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างในบางพรรคการเมือง เช่น เพื่อแผ่นดิน มัชฌิมาธิปไตย ซึ่งตอนนี้ใครมีเงินสูงสุดก็ไม่มีความหมาย คนจ่ายเงินไม่มีอำนาจต่อรอง หลังจากผู้สมัครได้เป็น ส.ส.ไปแล้ว นอกจากนี้หากยังหวังจะให้ ส.ส.ช่วยในเรื่องอะไร ก็ยังต้องจ่ายให้อีกเป็นรอบๆ
พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็เจอสภาพเช่นนี้ หลังจากถูกยึดอำนาจ มีคนบินไปหาที่ฮ่องกงไม่รู้กี่รอบ เวลาจะมีการเคลื่อนไหวหรือมีม็อบ บางครั้งจ่ายผ่านหัวหน้ากลุ่มมาแล้ว แต่เงินลงไปไม่ถึงลูกน้องๆ ก็บินไปหาเองอีก จ่ายไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนคุณหญิงพจมานต้องบินกลับมาเพื่อกุมสภาพเอง
ดังนั้น จึงมีคำถามว่า เมื่อ นายสมัคร เป็นนายกฯ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ จะคุมเกมได้หรือไม่ ทุกอย่างหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคือนายสมัคร ที่ต้องการจะปรับ ครม.เอง หรือคุมนโยบายเอง
ในส่วนของลูกพรรคนั้นหลายคนก็เป็น ส.ส.มาหลายรอบแล้ว เงินก็ได้มาจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็อยากจะขอตำแหน่งบ้าง แต่หลังจากนี้ แทนที่จะไปฮ่องกง ก็ไปที่บ้านนวมินทร์จะดีกว่าหรือไม่ เพราะนายสมัครเป็นคนที่มีอำนาจเซ็นเอง
ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ในช่วงแรก นายสมัคร อาจยอมเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ แต่อำนาจต่อรองของนายสมัคร คือ สามารถยุบสภาได้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ความเป็นตัวของตัวเองสูงเกินไป แต่หลังจากนี้ อำนาจต่อรองจะทัดเทียมกันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ส.ส.บางกลุ่มอาจยังฟัง พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ อาจไม่ยกมือให้นายสมัครเวลาถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่นายสมัครก็มีอำนาจยุบสภา ดังนั้น นายสมัคร จึงยอมเงียบไปก่อน แม้แต่เรื่องคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม นายสมัครก็ไม่พูดอะไร ปล่อยให้คนอื่นต่อรองกันไป แต่สุดท้ายแล้วคนที่จะเสนอชื่อคือตัวนายสมัครเอง
** เตือน กกต.รับผิดชอบทางการเมือง
ผู้ดำเนินรายการยังได้นำทำเทปที่ นายชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ พูดในรายการ “คนในข่าว” ทางเอเอสทีวี 1 เมื่อคืนวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มาเปิดซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แง่คิดเกี่ยวกับการทำงานของ กกต.โดย นายชิงชัย กล่าวว่า กกต.นั้นได้รับอำนาจสูงสุดในการใช้ดุลพินิจเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง กกต.ต้องยึดเอาความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องสูงสุด ซึ่งเป็นละเรื่องกับความรับผิดชอบทางกฎหมาย
ถ้ายึดเอาความรับผิดชอบทางการเมือง กกต.สามารถใช้ดุลยพินิจและหลักธรรมกำกับ เมื่อมีหลักฐานพอน่าเชื่อถือได้ก็ตัดสินใจจัดการได้ทันที แต่ถ้ายึดเอาความรับผิดชอบทางกฎหมาย รอให้หลักฐานชัดเจนก่อน นักการเมืองก็จะไม่ผิดทั้งปี เพราะฉะนั้น กกต.จะต้องใช้ดุลพินิจร่วมกับหลักธรรม ไม่ใช่ยึดเอาหลักฐานเป็นหลักแบบศาล
ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า การเมืองขณะนี้ ประชาชนเริ่มหมดหวัง ภาพที่เห็นตอนนี้คือการต่อรอง แย่งชิงผลประโยชน์กันเหมือนกระสือ ทุกอย่างไม่ลงตัว ผลประโยชน์ตกลงกันไม่ได้ คะแนนนิยมจากประชาชนก็ไม่ได้ จะทะเลาะกันแหลกลาญ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน และสังคมมีต้นทุนที่ต้องยอมจ่าย แต่ที่พึ่งสุดท้ายก็คือกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามว่า แล้วใครจะตรวจสอบความยุติธรรม จนมีกระแสหนาหูมากว่าเราจะทำอย่างไรกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ถ้าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาที่ไมได้ตั้งอยู่ในธรรม และไม่ถูกตรวจสอบ บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 1
( 56 k ) | ( 256 K )
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2
( 56 k ) | ( 256 K )