ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมาถึงปลายปีนี้ คนอเมริกันตกอยู่ในสภาพหนี “ไบเดน” ปะ “ทรัมป์” จะเลือกใครก็เจอแต่ปัญหา เพราะ “โจ ไบเดน” สังขารแก่ชราบริหารประเทศไม่ไหวแล้ว ส่วน “ทรัมป์” ก็อายุไม่น้อยเช่นกัน แถมยังมีคดีอาญาติดตัวอีกเพียบ ท่ามสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกอันยุ่งเหยิง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 มีการจัดการดีเบตรอบแรกระหว่างนายโจ ไบเดน กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ สองตัวแทนจากสองพรรคการเมืองใหญ่ โดยคนที่เรียกร้องให้จัดก็คือฝั่งพรรคเดโมแครตของนายไบเดน แต่กลับกลายเป็นว่า การดีเบตดังกล่าว เผยความอ่อนแอ และความแก่ชราของนายไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
นายไบเดนนอกจากจะมีน้ำเสียงที่แหบแห้งแล้ว ยังมีอาการพูดตะกุกตะกัก นิ่งเงียบไปพักใหญ่ ไม่นับรวมถึงการตอบคำถามหลายครั้งที่หลุดประเด็นอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวอเมริกันกังวลว่าร่างกายของนายไบเดนอาจจะไม่แข็งแรงพอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนที่เริ่มตั้งข้อสังเกตแล้วว่า พรรคเดโมแครตควรหาแคนดิเดตคนอื่นมาเป็นผู้แทนพรรคในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่
นายไบเดน ณ วันนี้อายุ 81 ปี แล้ว ด้วยอายุขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยก็จะดำรงตำแหน่งไปถึงอายุ 85 ปี
สภาพสังขารของนายไบเดน ณ ปัจจุบันชี้ให้เห็นชัดแล้วว่า สุขภาพของเขาไม่ไหวแล้วสำหรับการเป็นผู้นำสูงสุดของมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ที่สร้างเรื่องราว และพยายามก่อสงครามไปทั่วทุกภูมิภาคในโลก
ผลดีเบตดังกล่าวทำให้ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สซึ่งเคยประกาศสนับสนุนนายไบเดน ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อปี 2563 เรียกร้องให้ นายไบเดนถอนตัว จากการเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคได้หาผู้แทนคนใหม่ที่อาจเอาชนะนายทรัมป์ได้
พาดหัวความเห็นของ กอง บก.นิวยอร์ก ไทมส์ โจมตีนายไบเดนอย่างตรงไปตรงมาว่า “To Serve His Country, President Biden Should Leave The Race” หรือแปลเป็นไทยคือ “สิ่งที่เขาควรจะทำให้ประเทศ คือ ประธานาธิบดีไบเดนควรถอนตัวจากการลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเสีย”
“คุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่นายไบเดน จะทำเพื่อสาธารณชนได้ในตอนนี้ ก็คือประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก” บทบรรณาธิการนิวยอร์กไทม์ส ระบุ และว่า นายไบเดนกำลังวางเดิมพันที่สุ่มเสี่ยง เพราะพรรคเดโมแครตมีผู้นำคนอื่นที่ พร้อมจะนำเสนอทางเลือกที่ชัดเจน น่าสนใจ และมีพลัง มากกว่านายทรัมป์ที่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2
“ไม่มีเหตุผลใดที่พรรคเดโมเครตจะต้อง ทำให้ประเทศสหรัฐฯ ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพ และความมั่นคง ด้วยการบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกระหว่างข้อบกพร่องของนายทรัมป์ กับ ข้อบกพร่องของนายไบเดน นี่เป็นการเดิมพันที่ใหญ่เกินไปในการคาดหวังว่าคนอเมริกันจะมองข้ามหรือมองข้ามความชราภาพ และ ป่วยไข้ของนายไบเดนที่พวกเขามองเห็นได้อย่างเด่นชัด” นิวยอร์กไทมส์ระบุ
สำหรับความเห็นของนิวยอร์กไทมส์นั้นแม้จะเป็นเพียงความเห็นของกองบรรณาธิการสื่อเจ้าหนึ่ง แต่ก็เป็นสื่อใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีผู้อ่านเป็นนักการเมืองและผู้มีอำนาจตัดสินใจจำนวนมากรวมถึงตัวนายไบเดนด้วย ที่สำคัญคือกอง บก.นิวยอร์กไทมส์ ยังเคยประกาศจุดยืนในการสนับสนุนนายไบเดนในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตลอด ดังนั้นความเห็นดังกล่าวจึงสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากต่อวงการเมืองสหรัฐฯ
ไม่เพียงแค่นิวยอร์กไทมส์ แต่สื่อใหญ่ในอเมริกา รวมถึงฝั่งยุโรป ก็รับไม่ได้กับสภาพของนายไบเดน และออกมาเรียกร้องให้นายไบเดนถอนตัวเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เดอะ นิวยอร์กเกอร์, ดิ อีโคโนมิสต์, ชิคาโก ทริบูน, ดิ แอตแลนตา เจอร์นัล เป็นต้น
แต่แม้จะพ่ายแพ้อย่างหมดรูป หลังจากการดีเบต นายไบเดน กับครอบครัวของเขายังคงดื้อดึงประกาศว่าจะเอาชนะนายทรัมป์ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ และไม่มีท่าทีที่จะถอนตัว
“ผมรู้ตัวดีว่าผมไม่ใช่คนหนุ่ม นั่นเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว” นายไบเดน กล่าวระหว่างการเดินสายหาเสียงที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา
พร้อมกล่าวด้วยว่าแม้ตัวเองจะเดินเหินไม่คล่องแคล่วอย่างที่เคยเดิน พูดไม่คล่องอย่างที่เคยพูด และอภิปรายได้ไม่ดีเท่าที่เคยทำมา แต่ตัวเองคงไม่ลงสมัครอีกครั้งหากไม่มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าสามารถเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่ออีกสมัยได้
ไม่เพียงแค่คนในพรรคเดโมแครต หรือ สื่อต่าง ๆ ที่ออกมาส่ายหัวให้กับปัญหาสุขภาพ และความดื้อดึงของนายโจ ไบเดน เพราะ ผลโพลล่าสุดของ CBS News/YouGov ที่สำรวจชาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้ง หลังการดีเบตยังพบว่า
คำถามที่ 1 นายไบเดนมีสุขภาพจิต และสามารถครองสติเพื่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อหรือไม่? ผลปรากฎว่า ชาวอเมริกัน 72% บอกว่าไม่มี ก็คือ ไม่ไหวแล้ว
คำถามที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตระหว่างไบเดน กับ ทรัมป์ ก็พบว่าคนเกือบครึ่ง หรือ 50 ต่อ 49 ก็มองว่า นายทรัมป์ที่เป็นคู่แข่งกับนายไบเดน ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเช่นกัน
คำถามที่ 3 เมื่อถามต่อว่านายไบเดนควรจะลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่?
คำตอบก็คือ คนอเมริกันกว่า 72% เห็นว่านายไบเดนไม่ควรลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน หรืออีก 4 เดือนข้างหน้านี้แล้ว
คำถามที่ 4 เมื่อถามลึกลงไปถึงสาเหตุที่นายไบเดนไม่ควรลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไปแล้วคำตอบหลักของคนกว่า 86% ก็คือ มาจากปัญหาเรื่องอายุ และ 71% คือ ความกังวลเรื่องการตัดสินใจที่อาจผิดพลาดระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
คำถามที่ 5 แต่เมื่อถามชาวอเมริกันว่ารู้สึกว่าในการดีเบต ใครพูด “ความจริง (Truth)” มากกว่ากัน?คำตอบคือ คนอเมริกันรู้สึกว่า ไบเดน พูดความจริงมากกว่า ทรัมป์ คือ ระหว่าง 40% กับ 32%
สรุป คนอเมริกันตอนนี้เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “หนีเสือปะจระเข้” คือ “หนีไบเดนปะทรัมป์” หันไปทางไหนก็มีแต่ความฉิบหาย เพราะถ้าบอกว่าไบเดนแก่ไม่ไหวแล้วอายุ 81 ปีแล้ว ทรัมป์ก็อายุไม่น้อยเช่นกัน เพราะตอนนี้ก็อายุ 78 ปีแล้ว
ที่สำคัญก็คือ นายทรัมป์นั้นยังมีคดีอาญาพัวพันมัดตัวอีกเพียบเลยหลายสิบคดี แม้ว่าศาลสูง Supreme Court ของสหรัฐฯ จะบอกว่า แม้จะโดนคดีแต่ก็สามารถลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ก็ตาม
เลือกตั้งสหรัฐฯ กับ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกอันยุ่งเหยิง
เกือบทุกประเทศทั่วโลกจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพวกที่กำลังทำสงครามและมีความขัดแย้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยูเครน, อียู, นาโต้, อิสราเอล, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์รวมถึงไทย เราด้วย เป็นต้น เพราะการเปลี่ยนผู้นำย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของสงครามและสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ทรัมป์พูดมาตลอดว่าถ้าได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยจะยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง
อีกหนึ่งประเทศที่จะปวดหัวที่สุด ไม่ว่าทรัมป์จะมาไม่มา ไบเดนจะไปไม่ไป นั่นคือประเทศจีนเพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ก็จะพยายามหาเรื่องกับจีนตลอด
จริง ๆ แล้ว หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศใหญ่ และที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ ต่างก็พยายามที่จะลดความเสี่ยงจาก “ความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ” กันทั้งนั้น
อย่างล่าสุดข่าวเมื่อ ปลายเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา อิหร่านกับรัสเซียจับมือกันแล้ว โดยให้ บริษัทก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย กับ บริษัทก๊าซแห่งชาติของอิหร่าน (National Iranian Gas Company; NIGC) เซ็นสัญญาความร่วมมือกันแล้ว
รัสเซีย กับ อิหร่านนั้นผูกขาดปริมาณก๊าซธรรมชาติในโลกมากถึง 60% เท่ากับว่าตอนนี้ รัสเซีย กับ อิหร่านควบคุมทิศทางและกลไกเกี่ยวกับราคาก๊าซของโลกไว้ในมือเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้นเห็นได้ชัดว่า ถ้าไล่เรียงมาแต่ละเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับมือ และขยายกลุ่ม BRICS, การกระชับความสัมพันธ์ของกลุ่มองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization)หรือ SCO ซึ่งตอนนี้กำลังมีการประชุมซัมมิตกันที่กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน,กระบวนการล้มเปโตรดอลลาร์ (Petrodollar),การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-dollarization), การทยอยปรับเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศจากดอลลาร์ ไปเป็นทองคำฯลฯ
เรื่อยมาจนถึงเรื่องการลดการพึ่งพาไมโครชิปจากตะวันตก, ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล, เพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์และยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือ EV
“เพราะฉะนั้นแล้ว โลกในขณะนี้กำลังปรับตัวอย่างแรงเพื่อรองรับความไม่แน่นอน ซึ่งจะเป็นไบเดน ขึ้นมา หรือทรัมป์ ขึ้นมา มันจะมีความไม่แน่นอนอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศอิหร่าน กลุ่มประเทศ BRICS พวกนี้กำลังพยายามที่จะจับมือกันให้แน่น ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างแนวต้านทาน ป้องกันกลุ่มพวกตัวเองให้รอดพ้นจากความเกะกะเกเรของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นไบเดน หรือไม่ว่าจะเป็นทรัมป์” นายสนธิกล่าว