องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญการรณรงค์ วันงดสูบบุหรี่โลก ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ปีนี้ว่า “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่ยาสูบ” หรือ “We need food, not tobacco” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการผลิตพืชทางเลือกและโอกาสทางการตลาดของชาวไร่ยาสูบ รวมถึงกระตุ้นให้พวกเขาปลูกพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างยั่งยืน แทนการปลูกยาสูบ เพื่อลดผลกระทบด้านวิกฤตอาหารทั่วโลก
สอดรับกับที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคยาสูบและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกใบยาหันไปปลูกพืชทดแทนอย่างอื่น หลังจากชาวไร่ยาสูบถูกปรับลดโควตาการปลูกยาสูบกว่าร้อยละ 50 มา 5 ปีติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ และการใช้โครงสร้างอัตราภาษียาสูบแบบ 2 อัตรา มาตั้งแต่ปี 2560 ได้แก่
1.อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% ของราคาขายปลีกแนะนำที่เกินซองละ 72 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน
2.อัตราภาษียาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.025 บาทต่อกรัม และยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อกรัม
โดยภาครัฐหวังผลว่าการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่และการปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น และจะช่วยให้การบริโภคยาสูบทยอยลดลงได้ร้อยละ 2-3 ซึ่งจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบให้กับชาวไร่ยาสูบมากนัก เนื่องจากชาวไร่ยังมีเวลาในการค่อยๆ ปรับตัว เปลี่ยนไปทำอาชีพหรือปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนได้
แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เกิดขึ้นนับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนถึงปัจจุบัน ไม่เป็นดังเช่นที่ภาครัฐคาดหวังไว้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อรายได้ภาคประชาชนที่ยังไม่มีกำลังซื้อ ทำให้การปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งนี้นำไปสู่ปัญหาการทำลายอุตสาหกรรมบุหรี่ การแข่งขันกันขายบุหรี่ราคาต่ำตามอัตราภาษี 2 อัตรา ผลจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบ กระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้ประกอบการโรงบ่มใบยา และแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมกว่า 30,000 ครัวเรือน ที่ต้องโดนลดโควตารับซื้อใบยาทั้งสามสายพันธุ์ลงกว่าร้อยละ 50 รายได้ครัวเรือนของชาวไร่ก็ลดลงเช่นเดียวกัน
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกใบยา ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบและผู้บ่มอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากการลดโควตาการรับซื้อใบยาของการยาสูบแห่งประเทศไทย กลับมีการเบิกจ่ายถึงมือเกษตรกรล่าช้าและไม่ครบถ้วนทุกฤดูกาลเพาะปลูก ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกใบยาทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการลดการปลูกใบยาสูบแล้วหันไปปลูกพืชทดแทนอย่างอื่น ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการอบรมความรู้ในการปรับเปลี่ยนอาชีพ และมาตรการทางด้านการเงิน ที่เกษตรกรต้องการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการลงทุนปลูกพืชทดแทนใหม่
ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาวิจัยความต้องการเลิกปลูกยาสูบและแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนของเกษตรกรปลูกยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดสุโขทัย พบว่า ชาวไร่ยาสูบส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ไม่มีความคิดเลิกปลูกยาสูบ เพราะเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคน ส่วนที่เหลือเป็นชาวไร่ใบยาสูบที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากไม่มีลูกหลานทำต่อ ใบยาสูบราคาตกต่ำ และได้รับโควตาลดลง
ส่วนประเด็นสำคัญที่ชาวไร่ยาสูบกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในช่วงเลิกปลูกยาสูบ คือ ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ย การฝึกอาชีพเสริมหรืออาชีพทดแทน และต้องการให้รัฐหาตลาดและรับประกันราคาผลผลิต
นอกจากนี้ ผลจากนโยบายภาษียาสูบครั้งนั้นทำให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนจึงหันไปบริโภคสินค้าที่ตรวจสอบคุณภาพไม่ได้และราคาถูกกว่า สะท้อนจากยอดการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมาจากบุหรี่ปลอ เครื่องหมายการค้า และบุหรี่หนีภาษี รวมถึงค่านิยมที่คนหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่แม้จะได้รับการยอมรับในหลายประเทศว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่า แต่ก็ยังคงเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย การที่ผู้สูบบุหรี่หันไปบริโภคสินค้าทดแทนที่ผิดกฎหมายเช่นนี้จึงยิ่งส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจ การเก็บภาษี และภาพลักษณ์ของประเทศ
จะเห็นได้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน การประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ผู้ประกอบการโรงบ่มใบยา และแรงงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการยาสูบแห่งประเทศไทยเองที่มีรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 90 ในรอบหลายปี ส่งผลกระทบไปถึงการนำส่งเงินงบประมาณเข้าแผ่นดินเพื่อนำไปทำประโยชน์คืนให้แก่ประเทศชาติ แม้ผู้บริโภคไม่ได้ลดลงจากการหันไปสูบสินค้าทดแทนที่มีราคาถูกกว่าเป็นจำนวนมาก
ถือเป็นโจทย์ใหญ่อีกเรื่องของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ควรต้องทบทวนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบในครั้งนี้ว่า ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้สร้างผลดี ผลเสียและผลกระทบของแต่ละภาคส่วนอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านความเสี่ยงทางด้านคลัง ซึ่งพบว่ารายได้นำส่งของภาษีสรรพสามิตที่มาจากยาสูบลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาด้านสาธารณสุข ที่เกิดจากสุขภาพของผู้ที่ยังไม่เลิกบุหรี่ และยังไม่มีโอกาสในการเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่า รวมถึงการดูแลเกษตรกรที่ปลูกใบยาและผู้ที่เกี่ยวข้อง
การทบทวนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบแบบ 2 อัตราให้เหลือเป็นอัตราเดียวตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นไปตามแผนการพิจารณาศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวของกรมสรรพสามิต ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปสู่โครงสร้างแบบอัตราเดียวในอนาคตที่เหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดรวมทั้งการดูแลสุขภาพประชาชน และเกษตรกรผู้ปลูกใบยาต่อไปอีกด้วย จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับรัฐบาลใหม่ที่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทย