xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายรถวูบ! ส.อ.ท.หวังครึ่งปีหลังฟื้น ผวาขึ้นค่าแรงกระทบชิ้นส่วน-ลุ้นมาตรการ EV ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” ยังคงเป้าการผลิตรถปีนี้ที่ 1.95 ล้านคันหลังยอดผลิต 4 เดือนโต 4.61% ส่งออกโต 18.34% เว้นยอดขายในประเทศที่ลดลง 6.11% คาดหวังรัฐบาลใหม่จะเร่งจัดตั้งและขับเคลื่อน ศก.ได้ในครึ่งปีหลัง รับกังวลค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจะกระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็น SMEs พร้อมหวังรัฐบาลใหม่จะเร่งขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริม EV ชุดใหม่ให้เกิดความต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทุกประเภทเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ 117,636 คัน ลดลง 0.13% เมื่อเทียบกับช่วง เม.ย. 65 เนื่องจากมีวันหยุดมากส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตไว้ล่วงหน้า ขณะที่การผลิต 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 66) อยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 625,423 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.61% ซึ่งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2566 ตั้งไว้ที่ 1,950,000 คันจึงค่อนข้างกังวลแต่คาดหวังว่าครึ่งปีหลังเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยจะทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น

สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรวมเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ 59,530 คัน ลดลง 6.14% จาก เม.ย. 65 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปีนี้ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 276,603 ลดลง 6.11% เมื่อเทียบกับ เม.ย. 65 โดยปัจจัยที่ทำให้ยอดจำหน่ายลดลงเพราะการปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ให้กับรถยนต์มีความเข้มงวดอย่างมาก โดยพบว่าประชาชนบางส่วนมีการค้างชำระหนี้มือถือ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้กดดันการค้างชำระหนี้ที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่วางไว้ 900,000 คันก็คงจะต้องหวังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจากรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เม.ย. 66 อยู่ที่ 79,940 คัน เพิ่มขึ้น 43.53% จาก เม.ย. 65 โดยสัดส่วนที่เพิ่มสูงมาจากฐานต่ำของปีที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนจนต้องล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ขณะที่ส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น 18.34% ทำให้เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกปี 2566 ที่ 105,000 คันมั่นใจว่าจะถึงเป้าหมาย โดยกลุ่มยานยนต์ยังคงเป้าหมายการผลิต การจำหน่ายและส่งออกปี 2566 ไว้เช่นเดิมเพราะคาดหวังรัฐบาลใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมไปถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไม่ปรับขึ้นเช่นกันก็จะช่วยในเรื่องของการส่งออกและยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น


นายสุรพงษ์ยังกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งที่มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 450 บาทต่อวันว่า ผู้ประกอบการรถยนต์ไม่ได้กังวลเนื่องจากค่าแรงสูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ยังห่วงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้ประกอบชิ้นส่วนยานยนต์จากวัตถุดิบ ที่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เป็นเทียร์ 2-3 จะมีผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผ่านให้กับผู้ผลิตรถยนต์ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นได้เช่นกันจึงต้องติดตามในเรื่องนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ EV 3.5 ที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเกิดยุบสภาก่อนจึงต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อซึ่งคาดหวังว่าจะเข้ามาเร่งให้เกิดความต่อเนื่องเพราะมาตรการเดิมที่สนับสนุนนั้นได้สิ้นสุดระยะเวลาปี 2566 และมาตรการส่งเสริมชุดใหม่นั้นจะมีความต่อเนื่องไปถึงปี 2568 โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท (ซื้อรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) และการลดภาษีสรรพสามิตต่างๆ


“ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 3,820 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2565 ถึง 882% และมีสัดส่วนถึง 7.73% ของยอดจดทะเบียนทั้งหมดถือว่าสัญญาณรถ EV ยังคงมาแรงต่อเนื่อง” นายสุรพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น