xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ ห่วง! 2 นโยบาย รบ.ใหม่ “ขึ้นค่าแรง-รัฐสวัสดิการ” ช่วยแบบถ้วนหน้า กระทบภาระงบฯ แนะทำนโยบายพุ่งเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์ แนะ “รัฐบาลใหม่” พิจารณารอบคอบ 2 นโยบายหลัก “ขึ้นค่าแรง-รัฐสวัสดิการ” ยกเหตุปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ กระทบภาระงบฯ เพิ่มขึ้นแน่! ย้ำ ไม่ควรเท่าหมดทั้งประเทศ ส่วน “รัฐสวัสดิการ” รัฐไทยมีข้อจำกัด “หารายได้” เหตุฐานภาษีแคบ ผู้ยื่นภาษี 10-11 ล้าน แต่เสียจริงไม่เกิน 4 ล้าน แนะทำนโยบายพุ่งเป้า ช่วยกลุ่มใด แบบใด หวั่น! ช่วยแบบถ้วนหน้า มีความเสี่ยงฐานะการเงินการคลังระยะยาว เห็นด้วยปรับโครงสร้างภาษี สร้างรายได้เพิ่มใช้ในสวัสดิการ-ลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ เชื่อ “ทีมเศรษฐกิจ” มีความสามารถ ประชาชนถึงเลือกเข้ามา เผยหนี้ครัวเรือน Q4/65 ชะลอตัว “ว่างงาน” ระดับปกติ

วันนี้ (22 พ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่าง แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/66

ถึงนโยบายการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของการเพิ่มค่าแรง ว่า จะมีทั้งเชิงบวกและลบ

โดยเชิงบวก คือ แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ คือ ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้า

ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาให้ดีจากสถานการณ์ เนื่องจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย

“ที่ผ่านมา ไทยใช้พัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่แล้วมีรายงานการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ วิธีการเป็นอย่างไร แต่ละประเทศทำอย่างไร”

ดังนั้น ต้องดูสถานการณ์ของประเทศให้ดี ขณะเดียวกัน ต้องดูภาระของภาคเอกชน และเรื่องเกี่ยวพันกับการตัดสินใจลงทุนต่างๆ ด้วย

ที่สำคัญ ตามนโยบายหาเสียง “ถ้ามีการปรับเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี” จะส่งผลทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับผลกระทบ

“รัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ถ้าแรงงานเงินไม่พอใช้ต้องกลับมาดูทักษะแรงงาน และค่าครองชีพแต่ละพื้นที่”

มองว่า ค่าแรงไม่ควรเท่ากันหมดทั้งประเทศ เพราะค่าครองชีพต่างกัน จะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องไปพูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคี

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังมองถึง “นโยบายรัฐสวัสดิการ” จากการหาเสียง ว่า เนื่องจากไทยมีข้อจำกัดเรื่องการหารายได้ ในต่างประเทศการจัดสวัสดิการพื้นฐานมาจากรายได้ภาษีที่ค่อนข้างสูงมาก

“แต่ของไทยฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้จะมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีถึง 10-11 ล้านคน แต่ผู้ที่เสียภาษีจริงมีไม่เกิน 4 ล้านคนเท่านั้น”

ดังนั้น รัฐต้องทำนโยบายพุ่งเป้า ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใด แบบใด โดยมองว่าการช่วยแบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำส่วนหนึ่งมาใช้ในสวัสดิการ และอีกส่วนเพื่อลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วย

ขณะที่ “ทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลหน้า” นั้น เชื่อว่า คนที่จะเข้ามาต้องมีความสามารถอยู่แล้ว ประชาชนถึงได้เลือกเข้ามา ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเดินหน้าต่อในนโยบายหลายอย่าง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้

วันนี้ สภาพัฒน์ เปิดเผยถึง “สถานการณ์ด้านแรงงานไทย” พบว่า ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น และได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น

สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม

โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร

ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย

ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวถึง 7.2% และ 1.6% ตามลำดับ ในส่วนของชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และชั่วโมงการทำงานเอกชนอยู่ที่ 41.4 และ 44.3 ตามลำดับ

เช่นเดียวกับผู้ทำงานล่วงเวลาที่มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 11.3% อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.05% โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน

สภาพัฒน์ ยังเห็นว่า 3 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ประกอบด้วย การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2-3 หมื่นตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอนาคต คือ “อุตสาหกรรมดิจิทัล” ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการปรับหลักสูตรให้สามารถรองรับความต้องการในภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับดาต้า ซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ก็จะทำให้มีความต้องการตำแหน่งด้านดิจิทัลมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องมาวางแผนทำโรดแมปให้ชัดเจนระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการในอนาคต

“รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม” จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร และ “พฤติกรรมการเลือกงาน” โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมทรงตัว แต่ต้องติดตามสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่มีสินเชื่อเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และบัญชีหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น

ในไตรมาส 4/65 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ชะลอตัวจาก 4.0% ของไตรมาสที่ผ่านมา

แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.9% ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

พบว่า ครัวเรือนไทย ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ยังมีความเสี่ยง “ในสินเชื่อรถยนต์” ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมถึง “สินเชื่อส่วนบุคคล” ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา

ขณะที่ ยังมีความกังวล “แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66” จะเป็นระเบิดเวลา แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“แต่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาแล้ว ยากที่จะทำให้ลดลงในเวลาอันสั้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไทยประสบภาวะโควิด-19 ด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งค่อนข้างสูง”

รัฐบาลใหม่ จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ถึงความเข้าใจในการซื้อสินค้าบางประการที่ไม่จำเป็น

เพื่อจัดการหนี้เดิมและไม่สร้างหนี้ใหม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการตลาดของภาคธุรกิจ เช่น การผ่อน 0% ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมาด้วย

“ในไตรมาส 4/65 หนี้เสียยังทรงตัว แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระดับบุคคลและระดับธุรกิจเป็นไปได้ดี”

ซึ่งต้องดำเนินต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ส่วนโอกาสในการระเบิด หากดูเรื่องการจ้างงานที่ไปได้ และเศรษฐกิจที่เติบโตได้ ก็คงไม่ระเบิด

แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโต เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องการใช้จ่าย

ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องจำเป็น และต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับการสร้างวินัยทางการเงิน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสองฝ่าย

ในส่วนของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มีวัตุประสงค์เพื่อแก้ปัญหานโยบายทางการเงินเรื่องการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

ที่ผ่านมา ธปท. ดูอย่างรอบคอบในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ขึ้นลักษณะเดียวกับที่ต่างประเทศทำ

ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ที่มีหนี้สิน ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ชัดเจน และจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

สุดท้าย “สถานการณ์เงินเฟ้อ” ในช่วงถัดไป มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ไม่เกิน 3% เนื่องจากขณะนี้ราคาพลังงานต่างๆ ปรับลดลงมาก

โดยเฉพาะแก๊ส LNG ที่ลงมาอยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะทำให้ค่าไฟฟ้าในรอบหน้ามีแนวโน้มปรับลดลง

ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยยังต้องทำต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น