นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (15 พ.ค.) ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าใกล้โซน 34 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์หลังตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวล่าสุดต่างปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ทิศทางค่าเงินบาทอาจขึ้นกับฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยผลการเลือกตั้งล่าสุดอาจเพิ่มโอกาสนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอไว้โดยโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในเชิงเทคนิเคิล โซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ที่โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ และเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน ส่วน 33.50 บาทต่อดอลลาร์จะเป็นโซนแนวรับสำคัญในระยะสั้นนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังพอมีอยู่ แต่ Upside อาจจำกัด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด และ/หรือตลาดกังวลปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) อย่างไรก็ดี หากตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-Off) จากความผิดหวังรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตารายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกใหญ่ นอกจากนี้ ควรติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ พร้อมรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยตลาดคาดว่ายอดค้าปลีกในเดือนเมษายนอาจพลิกกลับมาขยายตัว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับภาวะการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับตัวขึ้นของยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังราคาพลังงานปรับตัวขึ้นในเดือนเมษายนพอสมควร ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานและคาดการณ์ผลประกอบการล่าสุดของบรรดาบริษัทค้าปลีก เช่น Home Depot และ Walmart ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คนในสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและต่อเนื่อง (Initial and Continual Jobless Claims) หลังจากในสัปดาห์ก่อน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกปรับตัวขึ้นแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจส่งสัญญาณชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดพอสมควร ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling)
▪ ฝั่งยุโรป - ตลาดมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Survey) ในเดือนพฤษภาคม อาจปรับตัวลดลงแรงสู่ระดับ -5.5 จุด สะท้อนว่าบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองที่เชิงลบหรือกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงภาวะค่าครองชีพสูง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB
▪ ฝั่งเอเชีย - ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายนอาจขยายตัว +20%y/y สอดคล้องกับการรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการก่อนหน้าที่ยังคงอยู่ในระดับเกิน 50 จุด สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ประเมินว่าอานิสงส์จากการเปิดประเทศจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นโต +0.7%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ดีขึ้นจากที่แทบจะไม่ขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนอาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.4% หนุนโดยการบริโภคที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งจะสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ Core-Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด) ที่จะเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.2% เช่นกัน ซึ่งจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นได้ในปีนี้
▪ ฝั่งไทย - ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ราว +2.3%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า หนุนโดยการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งได้ช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคการบริการและส่งผลดีต่อการบริโภคโดยรวม ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุด ณ เวลา 21.30 น. ของวันที่ 14 พ.ค. ชี้ว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลอาจจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจมองเป็นภาพที่ดีและทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นมากขึ้นได้