xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 33.85 ผันผวนตามทิศทางดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 พ.ค.) ที่ระดับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบางส่วน นอกจากนี้ แม้เงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ยังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังช่วยหนุนให้เงินบาทแกว่งตัวเหนือระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง (โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นการขายทำกำไร Long THB ของผู้เล่นบางส่วน)

ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยเราประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนอาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงมีอยู่ และจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ในขณะที่ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทนั้นอาจมาจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นและบอนด์รวมกันมากกว่า 9 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า (นอกจากนี้ ดัชนี SET ยังส่งสัญญาณพร้อมรีบาวนด์ขึ้นในระยะสั้น) ทำให้เราประเมินว่าโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์จะยังคงเป็นโซนแนวต้านสำคัญในระยะสั้น ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรอประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธนี้ก่อน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (US Debt Ceiling) ซึ่งในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีกำหนดประชุมกับผู้นำ ส.ส. จากพรรครีพับลิกัน เพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ไม่กี่ตัว เช่น Alphabet +2.1% Nvidia +1.6% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.05%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.35% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +3.3% Shell +1.9%) หลังราคาน้ำมันดิบได้รีบาวนด์และทรงตัวเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทว่าการรีบาวนด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ มีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 3.50% เข้าใกล้โซนแนวต้านอีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะที่บอนด์ยิลด์ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในการเข้าสะสมการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวต้านแถว 3.50%-3.65%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับขึ้นสู่ระดับ 101.5 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด หรืออัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจนอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมามองว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้นานกว่าคาด ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เรามองว่าในเดือนพฤษภาคม ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ จากประเด็นการขยายเพดานหนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะพยายามปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีส่วนช่วยกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้โซนแนวรับระดับ 2,025 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ได้ ซึ่งล่าสุด ตลาดได้คาดว่า ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 3.75% เป็นอย่างน้อย

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่ายอดการส่งออกของจีนในเดือนเมษายนอาจโตราว +10%y/y ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฐานของยอดการส่งออกในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามภาวะ Lockdown ของเมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้าอาจหดตัว -0.3%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าความต้องการสินค้าในประเทศอาจยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น