นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.00-34.60 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (24 เม.ย.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าใกล้โซน 34.45 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ขณะที่ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP Q1/2023 และ อัตราเงินเฟ้อ PCE) และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ บริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบเดิม โดยปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนต่างชาติ โฟลว์ธุรกรรมปลายเดือนของผู้นำเข้า และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ ความผันผวนอาจมาจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยได้ในระยะสั้น ในเชิงเทคนิเคิลต้องจับตาว่าเงินบาทจะสามารถทรงตัวเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (34.30 บาทต่อดอลลาร์) ได้หรือไม่
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนสูง ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาดอาจหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจแข็งค่าขึ้นได้ ถ้า BOJ มีการปรับนโยบายการเงินเซอร์ไพรส์ตลาด เช่น ยกเลิกการทำ Yields Curve Control หรือขยับกรอบเป้าบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นให้สูงขึ้น หรือส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป (ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่มองว่า BOJ จะยังไม่ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดหรือตึงตัวมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้)
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - เนื่องจากสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วง Silent Period ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนการประชุมเฟดในเดือนพฤษภาคม (วันที่ 2-3) ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เช่น Microsoft Meta Alphabet และ Amazon เป็นต้น โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้การบริโภค โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อาจโต +2.0% จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการชะลอลงบ้างตามแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดและภาวะเงินเฟ้อสูง (เศรษฐกิจโตกว่า +2.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการบริการและการบริโภคอาจเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นได้ สะท้อนผ่านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอลง ชี้จากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ที่อาจทยอยปรับตัวขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายนอาจลดลงสู่ระดับ 104 จุด อนึ่ง การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชัดเจนหรือรุนแรงนักในระยะสั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ PCE โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจอยู่ในระดับสูงกว่า 4.5% ทำให้เฟดยังมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +25bps สู่ระดับ 5.00%-5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม
▪ ฝั่งยุโรป - ตลาดมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีแนวโน้มขยายตัวราว +1.4%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ ในขณะที่ภาคการผลิตนั้นชะลอตัวลงชัดเจน สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ในช่วงต้นปี ซึ่งภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงขยายตัวอยู่และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นอย่างมาก จะหนุนให้ ECB สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้ (ตลาดคาดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate อาจแตะระดับ 3.75% จากระดับ 3.00% ในปัจจุบัน) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร/การเงิน และกลุ่ม Healthcare นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB
▪ ฝั่งเอเชีย - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ว่าฯ BOJ ท่านใหม่ (Kazuo Ueda) แม้เราจะคาดว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับคงเป้าหมายบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นที่ระดับ 0.00%+/-0.50% แต่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า BOJ อาจมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งต้องจับตาว่า BOJ จะมีการปรับนโยบายการเงิน เช่น ปรับกรอบของบอนด์ยิลด์ 10 ปี หรือยกเลิกการทำ Yields Curve Control ในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ เพราะหาก BOJ ปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม
▪ ฝั่งไทย - ตลาดคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจกดดันให้ยอดการส่งออก (Exports) เดือนมีนาคมอาจหดตัวถึง -16%y/y สอดคล้องกับการปรับตัวลงแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม อนึ่ง ยอดการนำเข้า (Imports) อาจหดตัวราว -5%y/y ตามราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลราว -1 พันล้านดอลลาร์