การยาสูบแห่งประเทศไทยเปิดรายงานประจำปี 2565 พบรายได้รวม กำไรสุทธิ และเงินนำส่งรัฐ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่มีการใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา แม้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ รายงานประจำปีฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังในอุตสาหกรรมยาสูบจากนโยบายภาษีที่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้การยาสูบฯ ไม่สามารถปรับตัวให้ธุรกิจหลักของตนในการผลิตและขายบุหรี่ซิกาแรตสามารถดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง
ในปี 2565 การยาสูบฯ ยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้นมากแล้วแต่ภาพรวมของผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจที่เก่าแก่นี้ก็ยังไม่ดีขึ้นตามไปด้วย รายได้รวมปี 2565 ขององค์กรอยู่ที่ 39,119 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 38,999 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 120 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 1,041 ล้านบาท และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ตั้งแต่การใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่มูลค่าแบบ 2 อัตราในปี 2560 ที่การยาสูบฯ ส่งเงินเข้ารัฐน้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่นำส่งเข้ารัฐในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 39,089 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 8,157 ล้านบาท
สำหรับยอดขายบุหรี่ซิกาแรตในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบชัดเจนจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 65 โดยยังคงใช้อัตราภาษีมูลค่า 2 อัตราเหมือนเดิม แต่เพิ่มราคากลางแบ่งอัตราภาษีจาก 60 บาท เป็น 72 บาท และปรับเพิ่มภาษีจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 สำหรับบุหรี่ราคาไม่เกิน 72 บาทต่อซอง และเพิ่มภาษีจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 42 สำหรับบุหรี่ราคาเกิน 72 บาท รวมทั้งมีการเพิ่มอัตราภาษีปริมาณจากเดิม 1.2 บาทต่อมวนเป็น 1.25 บาทต่อมวน ส่งผลต่อขนาดตลาดบุหรี่ในประเทศหดตัวลงมากถึงร้อยละ 13 เนื่องจากราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นถึงซองละ 6-8 บาท ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษีซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก สอดคล้องตามตัวเลขบุหรี่ผิดกฎหมายทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70% จากสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายร้อยละ 6.2 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับบุหรี่ภายใต้แบรนด์ของการยาสูบฯ ในกลุ่มราคาสูง (ราคาขายสูงกว่า 72 บาท) ขายได้ 718 ล้านมวน น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 25 ในขณะที่กลุ่มราคาประหยัด (ราคาขายต่ำกว่า 72 บาท) ขายได้ 12,604 ล้านมวน น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 8 โดยรวมแล้วเท่ากับว่าทั้งปีการยาสูบขายบุหรี่ได้รวม 13,322 ล้านมวน ต่ำกว่าเป้าไปร้อยละ 9 จนส่งผลให้ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของการยาสูบฯ อยู่ประมาณร้อยละ 50 ของตลาดบุหรี่ในประเทศ
หากเปรียบเทียบกับข้อมูลระหว่างปี 2561-2565 ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ซึ่งมีการนำภาษี 2 อัตราเข้ามาใช้พบว่าปริมาณบุหรี่ซิกาแรตที่ขายได้ในกลุ่มราคาสูงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันบุหรี่ราคาสูงของการยาสูบฯ เหลือแค่ร้อยละ 5 ของปริมาณการขายบุหรี่ทั้งหมด จากเดิมที่เคยมีถึงร้อยละ 20 ในปี 2561 เนื่องจากการแบ่งอัตราภาษีตามมูลค่าสองอัตรา ยังทำให้เกิดช่องว่างของราคาในตลาดบุหรี่ เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาบุหรี่ในช่วงราคา 73-101 บาทต่อซองได้ จากการที่ต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มเข้ามาสูงกว่าราคาขายในช่วงราคานี้ จนส่งให้ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ที่เคยสูบบุหรี่ราคาสูงและราคากลางที่ไม่อยากเสียภาษีสูงหันไปสูบบุหรี่ราคาถูกในตลาดบุหรี่ราคาต่ำหรือบุหรี่เถื่อนแทน โดยนอกจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้การยาสูบฯ แล้ว ยังส่งผลให้รายได้สรรพสามิตหายไปอย่างน้อยๆ ซองละประมาณ 20-25 บาท จนสะท้อนออกมาจากแนวโน้มรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงจากปีก่อนหน้าด้วย
ทว่า การเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตปี 64 ทำให้ปริมาณบุหรี่กลุ่มราคาสูงที่ขายได้ลดลง 377 ล้านมวน และบุหรี่กลุ่มราคาประหยัดลดลงถึง 4,987 ล้านมวน ราคาขายที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ทำให้การยาสูบฯ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะปริมาณบุหรี่ที่ขายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญแสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังจากการปรับนโยบายภาษียาสูบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจนส่งผลให้ราคาบุหรี่ถูกที่สุดของ ยสท.เพิ่มขึ้นจากซองละ 40 บาท เป็น 63 บาท หรือร้อยละ 58 สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อ่อนแอลงจนนำมาซึ่งการเติบโตของบุหรี่เถื่อน นอกจากนี้ การใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรายิ่งส่งผลให้ผู้ผลิตอย่างการยาสูบฯ ที่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มราคาประหยัด ไม่สามารถกำหนดราคาของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างกันได้มากเท่าที่ควร และไม่สามารถชูจุดแข็งความคุ้มค่าด้านราคาให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างกับแบรนด์ต่างประเทศได้ แถมร้านค้าบางรายก็ฉวยโอกาสในการเอากำไร ไม่ขายตามราคาแนะนำที่การยาสูบฯ กำหนดไว้ เมื่อราคาขายปลีกแพงขึ้น ตลาดราคาประหยัดที่เป็นจุดแข็งของการยาสูบฯ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การยาสูบฯ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลประกอบการที่ชะลอตัว ปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจแห่งนี้มีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจบุหรี่ซิกาแรตของไทยและขยายสู่ธุรกิจอื่นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ผ่านยุทธศาสตร์ปี 2565-2570 ที่จะชิงส่วนแบ่งการตลาดคืน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของการยาสูบฯ เป็นผู้บริโภคบุหรี่ในกลุ่มราคาประหยัด เมื่อราคาขายปลีกทุกแบรนด์ในตลาดปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นเรื่องยากที่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้จะปรับตัวทันและกลับไปซื้อผลิตภัณฑ์เดิม แต่หันไปหาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มีราคาถูกกว่าแทน
ในช่วงที่การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน จะทำอย่างไรให้การยาสูบฯ ที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คำตอบคงหนีไม่พ้นเรื่องความเหมาะสมของโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพสามิตอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งมีการปรับในช่วงตุลาคม 2564 โดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ 2 อัตรานั้นช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ 4 ด้าน ได้แก่ 1) รายได้ภาษี 2) สุขภาพประชาชน 3) ปริมาณการลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย และ 4) ผลกระทบต่อเกษตรกรและการยาสูบฯ ตามที่ได้ตั้งไว้หรือไม่
จากรายงานประจำปี 2565 ของการยาสูบฯ คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การยังคงใช้โครงสร้างภาษี 2 อัตรากลับยิ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของการยาสูบฯ ในทางกลับกัน การแก้ไขเชิงโครงสร้างให้มีการปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เหลืออัตราเดียวตามมติคณะรัฐมนตรีอาจเป็นทางออกให้รัฐวิสาหกิจอย่างการยาสูบฯ สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับการยาสูบฯ ในทุกกลุ่มราคาบุหรี่ผ่านการกำหนดราคาที่หลากหลายมากขึ้นในช่วงราคาใหม่ๆ ของการยาสูบฯ และคู่แข่ง และหากอัตราภาษีใหม่อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วยแล้ว ก็น่าจะช่วยไม่ให้การลักลอบค้าขายบุหรี่ผิดกฎหมายทวีความรุนเรงขึ้นไปอีกครั้ง จนกระทบต่อยอดขายของการยาสูบฯ และรายได้รัฐมากไปกว่านี้
ที่มา : https://www.thaitobacco.or.th/2023/01/0054623.html