เปิดฟังความเห็น “5 ร่าง พ.ร.บ.” ให้อำนาจท้องถิ่น พ่วงจัดเก็บค่าธรรมเนียม ตกเป็นรายได้ของ อปท. ตามกฎหมายถ่ายโอนภารกิจส่วนกลาง ให้ท้องถิ่น พบเพิ่มอำนาจ “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” รับโอนงาน “จดทะเบียนครอบครัว ชื่อบุคคล” อนุญาตขายปลีกเหล้า-บุหรี่ ประเภท 2 ให้อำนาจ “อบต.” เก็บค่าธรรมเนียมสุสาน-ฌาปนสถานในพื้นที่ แถมอำนาจเปรียบเทียบปรับขี้ยาสูบบุหรี่นอกพื้นที่ห้ามสูบ
วันนี้ (3 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เวียหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
เพื่อเปิดการรับฟังความคิดเห็นในการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติที่ได้แก้ไขให้เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ.2478 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการการกระจายอำนาจและแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.
ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้ถ่ายโอนงานทะเบียนครอบครัวให้แก่ อปท.และให้ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตกเป็นรายได้ของ อปท.
ร่างฉบับนี้ กำหนดให้ “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็น “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีนายทะเบียนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนได้ (เพิ่มมาตรา ๓/๑)
“ให้สามารถจดทะเบียนครอบครัว สามารถเป็นพยานในการจดทะเบียนครอบครัว และกำหนดให้ค่าธรรมเนียม ที่เกิดขึ้นตกเป็นรายได้ของ อปท.”
ฉบับนี้ยังกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่เตรียมความพร้อมและดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการจดทะเบียนครอบครัวให้แก่ อปท. ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ
และให้อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน ซึ่งรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้นในเขต อปท.นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง
2. ร่างพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ถ่ายโอนงานทะเบียน “ชื่อบุคคล” ให้แก่ อปท.จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
กำหนดให้ “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็น “สำนักทะเบียนท้องถิ่น” มีนายทะเบียนท้องถิ่น มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นได้
มีอำนาจในการอนุญาตหรืออนุมัติ ออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียน ชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล และกำหนดให้ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นตกเป็นรายได้ของ อปท.
โดยฉบับนี้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย
ยังกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่เตรียมความพร้อมและถ่ายโอนภารกิจการจดทะเบียนชื่อบุคคลให้แก่ อปท.ที่มีการจัดตั้งสำนักทะเบียนท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี
นับแต่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ และเมื่อ อปท.มีอำนาจหน้าที่เป็นนายทะเบียนท้องถิ่นแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่ในเขต อปท.นั้นสิ้นสุดลง
3. ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ถ่ายโอนอำนาจการอนุญาตการขายสุราและขายยาสูบให้แก่ อปท. และรายได้และค่าธรรมเนียมการอนุญาต ให้ตกเป็นรายได้ของ อปท.
สาระสำคัญ กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 หรือใบอนุญาตขายยาสูบ ประเภทที่ 2 (ขายปลีก)
“ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ และให้เงินค่าปรับตกเป็นรายได้ของ อปท. เพื่อให้ อปท.มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับในกรณีที่เป็นความผิดตามมาตรา 196 มาตรา 197 และมาตรา 205”
อันเกิดจากใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 หรือใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 ให้เป็นอำนาจของ อปท.เท่านั้น อธิบดี หรือ คณะกรรมการเปรียบเทียบคดี “ไม่มีอำนาจ” ในการเปรียบเทียบตามมาตรานี้
ยังกำหนดให้ “พนักงานสอบสวน” ส่งเรื่องให้ อธิบดี หรือ คณะกรรมการ หรือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบคดี
โดยที่ อปท. ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา และ อปท.อื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง แต่ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
มีอำนาจออกใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 และให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 2 ตกเป็นรายได้ของ อปท.
“ให้ อปท.เหล่านั้น มีอำนาจออกใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 และให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 ตกเป็นรายได้ของ อปท.
ขณะที่ “กรมสรรพสามิต” มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมและดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการออกใบอนุญาตให้ขายสุราและยาสูบ ให้แก่อปท. ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วัมีผลใช้บังคับ
รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต หรือการเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้ อปท.จัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพสามิต
4. ร่างพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ. 2528 ให้มีผลใช้บังคับครอบคลุมถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และให้เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นตกเป็นรายได้ของ อบต.
อย่างไรก็ตาม จะไม่ใช้บังคับแก่สุสานและฌาปนสถานที่กระทรวง ทบวง กรม อปท. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดตั้งและดำเนินการ
ให้มีการ “ยกเลิกบทบัญญัติ” เรื่องอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เกี่ยวกับการอนุญาตให้เก็บ ฝัง หรือ เผาศพ ในสถานที่อื่นที่อยู่ในเขตจังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล และเขตเมืองพัทยา
ให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ “ในการอุทธรณ์คำสั่ง” ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต โดยใน กทม.ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในจังหวัดอื่นให้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
รวมถึงกรณี “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต โดยใน กทม.ให้อุทธรณ์ต่อ มท.1 ในจังหวัดอื่นให้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ยังแก้ไขให้ อยู่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดให้เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ตกเป็นรายได้ของ อปท. รวมถึงการเปรียบเทียบปรับของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
5. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับปี 2560 กำหนดถ่ายโอนอำนาจการเปรียบเทียบปรับในความผิดที่มีอัตราโทษ “ไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ”
หรือความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
โดยให้อำนาจ อปท.มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับตามมาตรา 68 69 และ 70 แห่ง พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และให้เงินค่าปรับตกเป็นรายได้ของ อปท.