xs
xsm
sm
md
lg

“ChatGPT” ใช้เป็น “ผู้ช่วย” ดีกว่า “ผู้แทน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อกฎหมายลิขสิทธิ์ เชื่อมโยงจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ต่อการใช้งาน “ChatGPT” ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมือเรียบเรียงความรู้ AI ที่กำลังดังที่สุดตอนนี้ ย้ำ! หากคิดจะใช้ ต้องระวังการอ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล และ ประเด็นเรื่องการผลิตทำซ้ำและคัดลอกผลงาน มิเช่นนั้นจะหมดกันทั้งชื่อเสียงที่สั่งสมมา แถมอาจต้องโทษทั้งจำและปรับ

“ChatGPT” สุดยอดปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาคำตอบที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยข้อดีที่มีมากมายจนใครก็ยกให้เป็นผู้ช่วย แม้กระทั่งบางคนใช้เป็น “ผู้ทำแทน” หรือ “ผู้แทน” ในการค้นหาความรู้ข้อมูล รวบถึงเขียน ร่าง เรียบเรียง ผลิตผลงานต่างๆ ออกมาทั้งส่งครูบาอาจารย์ หรือ เผยแพร่ในสาธารณะ แบบมีรายได้ จากความสามารถ ‘Generative AI’ ที่ถูกเทรนขึ้นมาด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ มี interface ใช้งานแบบ Chatbot ที่รู้จักการรับคำถาม คิดวิเคราะห์แยกแยะ ลำดับเรื่องราว ลำดับประเด็น เรียบเรียงอย่างมีเหตุผล ก่อนจะสรุปเป็นคำตอบด้วยภาษาวิชาการถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ออกมาเพียงในไม่กี่วินาที

แต่ทว่า...ในความเก่งฉลาดของระบบปฏิบัติการที่มีมากพอก็มี “จุดบอด” หรือ “ข้อเสีย” ที่อาจจะก่อเกิดโทษมหันต์ ซึ่ง ณ วันนี้วันที่โปรแกรมยังคงต้องพัฒนาต่อไปอีก ทุกคนเริ่มเห็นจุดอ่อนหรือจุดกำเนิดของปัญหาที่ว่า คำตอบที่ได้มา “เราไม่ทราบถึงที่มาขององค์ความรู้ และ การได้มาซึ่งคำตอบ” ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออนาคตของผู้ใช้งาน ซึ่งจะเจอเรื่องลอกเลียนผลงานวิชาการ หรือ อาจจะได้คำตอบที่ผิด ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบที่มาอ้างอิงเชิงลึกได้ ทำให้อาจจะต่อยอดไปเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งต้องบอกว่าหากคุณกำลังใช้งานอยู่! แต่ไม่ระมัดระวัง ก็สามารถโดนทั้งจำ-ปรับ ในทั้งคดีแพ่งและอาญา
“การใช้ ChatGPT มาช่วยงานทางด้านความรู้ ด้านวิชาการ หากไม่มีอ้างอิงที่มา เราถือว่าเป็น Plagiarism คือ การโจรกรรมทางวิชาการ การคัดลอกผลงาน หรือการขโมยความคิดของคนอื่น ที่ในทางนักวิชาการถือว่าร้ายแรง ผิดจรรยาบรรณนักวิชาการ ส่วนในแง่คนใช้งานทั่วไปหากนำข้อมูลมาใช้โดยไม่ตรวจสอบว่า AI เรียบเรียงขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือ ดึงเอาจากตรงไหนมา หากมีประโยคหรือคำเพียงหนึ่งคำที่เป็นคีย์เวิร์ดหัวใจของสาระสำคัญเรื่องนั้น ก็อาจจะผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกทางอาญาและปรับฟ้องร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุแสดงความห่วงใยต่อผู้ใช้ “ChatGPT” ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะที่ตอนนี้มีการใช้อย่างกว้างขวาง


สรุปในแบบตน ยกเครดิต “วิธีใช้ที่ดีที่สุด”
ผศ.ดร.สมชาย ระบุต่อไปว่า กรณี ‘Plagiarism’ ยังไม่ใช่ปัญหาที่ถาวรของ “ChatGPT” เนื่องด้วยศักยภาพของตัวโปแกรม AI สามารถที่จะแก้ข้อเสียด้อยในเรื่องนี้ได้ในอนาคต และเชื่อว่าน่าจะทำได้ดีขึ้นในอนาคต ส่วนในเรื่องของการบอก “เชิงอรรถ” ระบุ “บรรณานุกรม” หรือ “แหล่งที่มาของข้อมูล” คงเกิดขึ้นเพื่อไล่ตามทันคู่แข่งอย่าง Bing และ Perplexity ที่มีการแสดงผลดังกล่าวออกมาแล้ว แต่ทว่าสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์รูปแบบนี้ทุกยี่ห้อก็คือ “เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์” ที่ผิดข้อกฎหมายในหลายประเทศได้ และหลายคนอาจหลงลืมมองข้ามไป

“ในเมื่อเราไม่รู้ที่มาแหล่งที่มาของข้อมูล เราก็ไม่รู้ว่า AI เรียบเรียงใหม่ทั้งหมดแบบ 100% หรือไม่ แม้จะเอาไปตรวจดูในโปรแกรมบางอย่าง ก็อาจจะสอบทานได้เฉพาะในกลุ่มฐานข้อมูลงานด้านวิชาการ ฉะนั้นก่อนจะใช้งาน แนะนำว่าผู้ใช้ต้องมีการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องให้ดี โดยหากเราไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้น เราจะต้องอ่านและทำความเข้าใจความเห็นของ AI แล้วเราทำการเขียนใหม่ถึงความเห็นนั้นด้วยภาษาของเราเอง สำนวนของเราเองจะดีที่สุด ในเวลานี้”

เพราะ “ChatGPT” ถือเป็นผู้ผลิตงานทางด้านภาษา ข้อความ ความรู้ ซึ่งมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครอง งานสร้างสรรค์วรรณกรรม แต่งเพลง กลอน บทความ อะไรต่างๆ จำพวกนี้อยู่ในตัวบท ซึ่งหากเราไม่ได้รับอนุญาตและนำชิ้นงานที่มีเจ้าของมาใช้โดยพลการก็สุ่มเสี่ยงละเมิดมีความผิดในกฎหมายลิขสิทธิ์

“ถ้าเราไม่ตรวจสอบแล้วใช้ไป ภายหลังมีเจ้าของมาพบ ก็สามารถฟ้องร้อง ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าเขาจะฟ้องร้องหรือไม่ เพราะความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งเอาผิดได้ทั้งแพ่งและอาญา แม้ว่าจะเขียนระบุผู้ร่วมเขียนคือ AI ร่วมด้วยก็ตามต่อท้าย อย่างกรณีหนังสือที่ขายกันในเว็บไซต์ Amazon ซึ่งเพิ่งจะเกิดเป็นกระแสขึ้นมา แต่ในแง่กฎหมายก็ถือว่าผิดอยู่ดี หากลอกทั้งดุ้น และหากทำขายก็ผิดฐานผลิตซ้ำ อันนี้ก็หนัก เป็นคดีอาญาเลย สามารถติดคุก ถ้าถามว่าร้ายแรงไหม โทษนี้ถือว่าไม่น้อย”

ลงแรงเรียบเรียงใหม่ด้วยตัวเราเอง ช่วยป้องกันได้
ผศ.ดร.สมชาย บอกเสริม การละเมิดลิขสิทธิ์ไม่มีการอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดว่า “ตอนใช้ไม่รู้” หรือ “ตอนใช้ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้” เพราะกฎหมายเป็นตัวบทเก่ากว่าเทคโนโลยี ซึ่งในเวลานี้ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่หากเราใช้โปรแกรมเขียนผลงานดังกล่าวขึ้น ผลงานชิ้นนี้จะถูกจัดเป็นฝีมือของ “มนุษย์” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ในเรื่องของลิขสิทธิ์ตกทอด

“ขอบอกว่าผู้ที่จะใช้ ChatGPT ต้องลงแรงเรียบเรียงใหม่ด้วยตัวเราเอง ช่วยป้องกันปัญหาได้ นักกฎหมายไม่ใช่จะค้านเทคโนโลยีไปเสียทุกเรื่อง เราไม่ได้ปฏิเสธ ChatGPT แต่เรามองว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เราได้ประโยชน์” ผศ.ดร.สมชาย ช่วยขยายข้อมูลในอดีตให้เข้าใจบริบทคล้ายกัน ที่เป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน คือกรณีศึกษาของ “ลิงเซลฟี่ตัวเอง ถ่ายภาพตัวเอง” ที่ต้องขึ้นศาลหลายศาลว่า มนุษย์เจ้าของกล้อง หรือลิงเป็นเจ้าของภาพ หรือภาพนี้เป็นสมบัติสาธารณะใครก็สามารถใช้ได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ แม้มนุษย์จะเป็นผู้ลงทุนลงแรงให้ลิงเรียนรู้จนปรากฎมาซึ่งผลงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วในทางของกฎหมายแล้วก็บอกว่ากฏหมายลิขสิทธิ์ออกมาเพื่อคุ้มครองคน


“ซึ่งการเกิดของหลักกฎหมายลิขสิทธิ์สำหรับคน เหตุผลหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการอยากให้คุณค่าแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีสิทธิพิเศษ เพราะว่าคนๆ นั้นใช้สติปัญญาของตัวเอง ใช้ความเหนื่อยยากในการสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมา ทว่าทีนี้ปัจจุบัน มนุษย์เราไม่ได้ทำอย่างนั้นทั้งหมด อย่างกรณี ChatGPT เราแค่พิมพ์คำสั่งก็เกิดผลงาน ซึ่งกลายเป็นว่าตอนนี้มนุษย์ไม่ใช่คนเขียนทั้งหมด คนเขียนร่วมคือตัว AI ด้วย ก็อาจจะมีปัญหาที่ถกเถียงกันได้ว่ามันเขียนไม่ได้ถ้าหากว่าคนไม่ป้อนคำสั่งเข้าไป ที่เขียนออกไปได้เพราะเราสั่ง คีย์เวิร์ดเราสำคัญ เราแค่ทำน้อยลงแต่ได้มาก ซึ่งหลักง่ายๆ ให้ลองนึกภาพการปราศรัย คำที่เราพูดออกไปมันก็มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง แต่ถ้าต่อมาเป็นใบ้แล้วใช้ปากกาเขียน ปากกาคือเครื่องมืออย่างหนึ่ง ตอนนี้ขยับเป็นพิมพ์คอมพิวเตอร์แต่เราก็ยังเป็นคนพิมพ์ ที่นี้วันนี้สเต็ปขยับแค่พูด พิมพ์ บอกโปรแกรม ChatGPT ให้ช่วย”

“เรากำลังจะเอาแนวคิดเก่ามาจับเรื่องใหม่ ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าเกิดความขัดแย้งในหมู่นักกฎหมายทั้งไทยและต่างประเทศ หลักกฎหมายเดิมที่เรามีอยู่มันเป็นหลักที่ใช้กับการสร้างสรรค์งานที่มีลิขสิทธิ์แบบโบราณ เขียนหนังสือ แต่งเพลง วาดรูป ถ่ายรูป คนที่ออกกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่ามันจะมีระบบ AI อย่าง ChatGPT นี้ขึ้นมา ก็ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่ทางที่ดีอย่างที่บอกคือ ผู้ใช้ ChatGPT ต้องลงแรงด้วย หลังได้คำตอบมาแล้ว เราจะต้องอ่านและทำความเข้าใจความเห็นของ ChatGPT แล้ว เราเขียนถึงความเห็นนั้นด้วยภาษาของเราเอง สำนวนของเราเอง จะได้ไม่ต้องลุ้นถูกฟ้องร้อง” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว

มองและใช้เป็น “ผู้ช่วย” ดีกว่า “ผู้แทน”
อย่างไรก็ตามใน ณ ขณะนี้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ “ChatGPT” ในอนาคตอันสั้นหรือไม่นานจากนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาระบบและรูปแบบต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าจะในแง่ของข้อกฎหมายก็ดีหรือในแง่ของจริยธรรมจรรยาบรรณก็ตามแต่ เราควรใช้ ChatGPT ให้เป็นเสมือนผู้ช่วย ใช้ ChatGPT เป็นผู้ที่ช่วยย่อเรื่องให้เราเข้าใจ เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง “เราเป็นแค่ผู้ใช้มันมาช่วย” ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย

“ใช้ ChatGPT เป็นผู้ช่วยเบื้องต้นได้ สรุปและช่วยไปหามา แต่เราต้องมาวิเคราะห์ทำต่อ ทางคณะนิติฯ DPU เราสนับสนุนให้นักศึกษาใช้ได้เพราะ ยิ่งข้อมูลในภาษาอังกฤษมีค่อนข้างมาก เราสามารถใช้เพื่อสรุปใจความสำคัญ ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เราสามารถใช้ ChatGPT เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นเพื่อสืบค้นต่อ ทำให้การค้นคว้าต่อมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น”

ผศ.ดร.สมชาย สรุปว่า “ทุกคนควรปฏิบัติให้ถูกหลักจริยธรรม ไม่เอาผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง และทำให้ถูกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งคุ้มครองคนคิดสร้างสรรค์แต่เป้าหมายของกฎหมายเองก็ต้องการจะให้ความรู้แพร่ขยาย ฉะนั้นสิ่งสำคัญสุดคือหากใช้ความรู้ของใครก็ตาม เราก็ควรจะต้องบอกกล่าวเจ้าของความคิดด้วยความเคารพ มีการขออนุญาต มีการอ้างอิง หวังว่า ChatGPT จะมีเรื่องการอ้างอิงที่มาของข้อมูลในเร็ววันนี้” ผศ.ดร.สมชาย กล่าวสรุป






กำลังโหลดความคิดเห็น