xs
xsm
sm
md
lg

“คนอย่างเธอใครก็แทนไม่ได้” เด็กศิลปกรรมสายงานคนอาร์ตๆ คว้าโอกาสสร้างตนด้วยตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลกด้านใหม่ “ศิลปกรรมศาสตร์” 2566 มากกว่าความงดงามในยุคดิจิทัลคือ คุณค่าความเป็นตัวของตัวเองในแบบที่อาชีพที่รักและรายได้ต้องไปด้วยกัน แม้จับเทรนด์เศษสิ่งของไร้ค่ายังแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินสร้างมูลค่าตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนหลักล้าน

“คนวงการอาร์ต ไม่เพียงจะใช้ทักษะทางศิลปะและการออกแบบช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมหลายๆ เรื่องได้เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเติมเต็มชีวิตให้ตนเองและคนอื่นได้ การออกแบบในอนาคตต้องเน้นให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในโลกที่มีความผันผวนแปรเปลี่ยนตลอดเวลา งานศิลปะและการออกแบบในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่เพียงของโชว์ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ แต่สามารถเอามารณรงค์หรือเกื้อกูลผู้คนได้” อาจารย์เอ๋ กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดการสนทนา

“ในบริบทของรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลังโควิด หรือยุค “New normal” ซึ่งเป็นยุคที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง 'Midjourney' หรือ ‘DALL-E’ AI ที่ 'วาดรูปได้' และ ChatGPT ในการช่วยคิดวิเคราะห์ ที่ส่งผลกระทบให้มีความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกในหลากหลายวงการ”


“การเปลี่ยนแปลงนี้ก็สร้างความสนใจแก่เด็กศิลปกรรม ศิลปิน คนอาร์ตๆ อยู่ไม่น้อย แต่เราไม่จำเป็นต้องกลัวการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแรงผลักดันให้รวมตัวกันใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เริ่มต้นอาจจะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อหาคนที่มีความชอบเดียวกัน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสานเทคโนโลยีมาร่วมกันสร้างและผลักดันประเด็นทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันผ่านงานสร้างสรรค์ หรืองานศิลปะและการออกแบบที่แตกต่างจากงานทั่วไป ซึ่งนั้นทำให้งานสร้างสรรค์เป็นที่ต้องการมากขึ้นและมีช่องทางสร้างรายได้หลายอาชีพในมูลค่าที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป” อาจารย์เอ๋ ได้พูดเชื่อมโยงความเป็นศิลปินที่ไม่ใช่แค่อยู่กับตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปรับตัวไปตามสภาวการณ์ของโลกด้วย

“นักศึกษายุคนี้เปลี่ยนไป เรารู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่ไวต่อเทคโนโลยี ด้วยนวัตกรรม AI สร้างงานศิลปะและการออกแบบ อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่ 'Midjourney' ‘Dall-E’ ที่ช่วยทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นเยอะมาก ถ้ามองในแง่มุมของประโยชน์ทั้งในด้านการวาดรูปหรือออกแบบเพื่อเป็นไอเดียตัวอย่างหรือการสร้างภาพเพื่อสื่อสารกับลูกค้าเบื้องต้น ก่อนที่คนจะไปพัฒนาลงรายละเอียดโดยใช้ Design Thinking หรือกระบวนการคิดทางการออกแบบเข้าไปจับอีกที รวมทั้ง ChatGPT ที่เกิดขึ้นมาล่าสุด ทำให้เขาทำงานออกมาได้ดีขึ้น อย่างเศษสิ่งของที่เป็นขยะหรือสิ่งของเหลือใช้หากเอาไปถามใน ChatGPT ด้วยคำถามลึกๆ เราจะพบเลยว่ามีกลวิธีในการเอามาใช้เป็นวัสดุต่างๆ เพื่องานศิลปะมากมาย หรือมีวิธีแปรรูปมันได้หลากหลายมากเพื่อใช้ประโยชน์ซ้ำ”

“จริงๆ นักศึกษาของเราในแต่ละรุ่นก็สามารถใช้ความรู้พื้นฐานการออกแบบควบคู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน โปรแกรมหรือเครื่องมืออะไรต่างๆ ที่เข้ามาในช่วงนั้นๆ ที่ช่วยเรื่องการออกแบบ เด็กๆ พร้อมจะรู้เท่าทันและสามารถปรับตัวกับการใช้งานได้ การพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีอย่าง AI เราก็ต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีให้เป็น ใช้งานให้ได้ หน้าที่ของอาจารย์คือการชี้ให้เห็นประโยชน์และการที่จะใช้งาน AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรภายใต้กรอบของจริยธรรม สอนให้เด็กทำความเข้าใจในศักยภาพและขีดจำกัดของ AI ในการใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านการออกแบบ การใช้ศัพท์เฉพาะในภาษาของงานออกแบบทำงานควบคู่กับความฉลาดของ AI เพื่อให้ได้ผลงานที่ล้ำลึก สามารถสื่อสารออกมาได้ตรงความต้องการที่สุด”

“ยกตัวอย่างนักศึกษาของเราที่จบไป นำงานศิลปนิพนธ์ในการพัฒนาสินค้าจากผ้าไหมแพรวาของคุณยายตัวเอง โดยการใช้แอปพลิเคชันช่วยในการจับคู่สีผ้าไหมแพรวาตามเทรนด์การออกแบบเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นยุคใหม่ จากนั้นนำไปไปต่อยอดเป็นคอลเลคชั่นเสื้อผ้า ปีๆ หนึ่งได้เงินหลักสิบล้านก็มีมาแล้ว”

“ทั้งนี้ นักศึกษาที่จบไปไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ กราฟิกดีไซเนอร์หรืออินทีเรียร์ดีไซเนอร์จากหลักสูตรที่เราสอนเพียงเท่านั้น จริงอยู่ว่าผลงานศิลปนิพนธ์คือการรวมของการนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมาสร้างผลงานชิ้นยิ่งใหญ่ซึ่งถือเป็น Portfolio ที่ดีในการนำไปใช้สมัครงานที่ต่างๆ แต่ระหว่างทาง ตั้งแต่ปี 1-4 นั้นยังมีวิชาปฏิบัติด้านศิลปะและการออกแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะวิชาวาดเส้น มุมมองเรื่ององค์ประกอบศิลป์ ทฤษฎีสี การถ่ายภาพเพื่อการนำเสนอ การออกแบบคาแรกเตอร์ โมชันกราฟฟิก วิชาเหล่านี้สามารถสร้างเป็นรายได้ หรือเป็นโอกาสในการประกอบอาชีพได้ทั้งสิ้น และเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งจบไปก็ยังเป็นงานเสริมได้ โดยนำสื่อหรือเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยในการออกแบบ นำเสนอ เช่นโปรแกรมช่วยออกแบบ โปรแกรมสามมิติต่างๆ ก็เป็นอีกงานอีกรายได้ที่นักศึกษาศิลปกรรมทำได้ดี”


อาจารย์เอ๋ กมลศิริ บอกต่อไปว่า “งานออกแบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยศิลปกรรมเป็นเรื่องของศิลปะและการออกแบบ ซึ่งงานศิลปะยุคนี้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันเราทุกคนในทุกย่างก้าวจนแยกไม่ออก จนคนอื่นอาจไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ แม้ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกคนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ชิ้นงานศิลปะ โดยเฉพาะสายของการออกแบบ กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอยู่ได้ เพราะผู้คนอยากตกแต่งบ้าน คอนโดฯ ตัวเองให้น่าอยู่เพื่อจรรโลงจิตใจตัวเอง ทำให้บ้านสะดวกสบาย สวยงาม ดูดี จากการ Work from Home ที่ไม่รู้เวลาสิ้นสุด แม้กระทั่งคนวงการศิลปะ กราฟิก ดิจิทัลอาร์ตหลายต่อหลายคน รวมไปถึงนักศึกษาของเราเองก็ทำงานดิจิทัลอาร์ตดีๆ เอาไปลงโลกโซเชียลมีเดีย สนุกด้วยตัวเองและสร้างรายได้มากมายแม้อยู่ที่บ้าน”

“นักศึกษาอินทีเรียร์บางคนทำงานบริษัทเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ แต่ก็รับงานรับจ้างเป็นเดคอร์สไตลิสต์ งาน VM จัดสินค้าหน้าร้านด้วยโปรแกรมสามมิติ ทำเป็นจ็อบๆ ควบคู่กันไปกับงานหลัก นักศึกษากราฟิกบางคนอยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง เปิดร้านรับงานถ่ายภาพ มีสตูดิโอของตัวเอง รับงานถ่ายภาพจากบริษัทต่างๆ นักศึกษาแฟชั่นบางคนเปิดแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง แต่ก็รับงานวาดเส้น วาดภาพประกอบเป็นงานเสริมโดยใช้แอปพลิเคชันช่วยวาด หลากหลายมากตามแต่ความชอบ ความถนัดของตนเอง”

“การเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบ เป็นประโยชน์ช่วยให้สร้างสรรค์งานได้ไวขึ้น หรือนำเสนอได้ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องนำมาประกอบกับทักษะทางศิลปะที่ใช้เวลาในการฝึกฝนที่มีอยู่เดิม รวมทั้งความมีตัวตน ความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร จึงจะสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นได้ ยกตัวอย่างนักศึกษาในวิชาวัสดุและสิ่งทอเพื่อการออกแบบแฟชั่น นักศึกษาคนนี้เป็นคนที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ก็สามารถสร้างดีเทลแปลกใหม่เองบนเสื้อผ้า เอาสิ่งที่คิดว่าไม่น่าทำเงิน เช่นการเอาเศษกระจก เอาเปลือกไข่มาทุบให้แตก ติดดีเทลบนกระเป๋า รองเท้าเป็นงานคอลเลกชันหลักแสนบาท ต่างประเทศก็สนใจเพราะเป็นของหาไม่ได้ในท้องตลาด ทำให้ของมีมูลค่าแพงขึ้นได้โดยต้นทุนน้อย เพียงแต่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้เยอะๆ และใช้เทคโนโลยีช่วยในการนำเสนอ ก็สามารถทำให้งานของเขาต่อยอดไปไกลได้” อาจารย์เอ๋ขยายความถึงอาชีพนักออกแบบที่จะไม่ลำบากอย่างแน่นอนในยุคนี้

“การออกแบบคือการทำให้การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ การแก้ปัญหามีหลายแบบ การแก้ปัญหาที่ผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ก็จะมีความสมดุลระหว่างฟังก์ชันกับสุนทรียะ การออกแบบไม่มีวันตาย ทุกประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ไม่ว่าจะอีกกี่สถานการณ์ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน ล้วนแล้วแต่ต้องการการออกแบบไปช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งอาจจะหมายถึงการทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ด้วย เพื่อสร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม แต่คนในปัจจุบันก็มองหาโซลูชันต่างๆเหล่านั้นในรูปแบบที่แตกต่าง เฉพาะตัว งานออกแบบทั้งผลิตภัณฑ์และบริการจึงตอบโจทย์ในการสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายและน่าดึงดูดสำหรับผู้ใช้”

อาจารย์เอ๋กล่าวต่อไปว่า “แม้เรื่อง AI เรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน และการทำกิจกรรมเพื่อช่วยสังคมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับ “เด็กรุ่นใหม่” เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ควรค่าแก่การเข้าไปเล่นด้วย และสำคัญมากสำหรับคนที่รักการเรียนรู้อยากจะต่อยอดพัฒนาตัวเองให้ฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ซบเซา 2-3 ปีที่ผ่านมา การใช้ศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาหรือเป็นปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่มีความน่าสนใจและแตกต่างขึ้นได้”

“นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีแล้ว การเชื่อมโยงเครือข่ายที่ดีที่สุดให้นักศึกษา สร้างโอกาสให้เขามีความรู้และประสบการณ์จากการเรียนและทำงานจริงจากโจทย์ของหน่วยงานนอก สร้าง mindset ของการเป็นผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสจากทุกวิชาที่เรียน นำไปเป็นงานหลัก งานรอง งานเสริม กระตุ้นให้เขามองเห็นศักยภาพจากการที่เขาได้เรียนด้านการออกแบบที่ข้ามศาสตร์ซึ่งมันมีโอกาสกว้างไกลกว่าการเรียนลงลึกแต่เพียงอย่างเดียว” อาจารย์เอ๋สรุป






กำลังโหลดความคิดเห็น