xs
xsm
sm
md
lg

"Fast Track" อุบัติการณ์เรียนแบบใหม่ ผลิตโปรเฟสชันนัลตัวน้อย “งานนักบัญชี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดโลก "Fast Track" รูปแบบการศึกษาใหม่หลังยุค New Normal ที่จะทำให้นักศึกษาสาขาการบัญชีเป็นมืออาชีพได้ไวใน 3 ปี พร้อมสร้างฐานะชีวิตความมั่นคงได้ทั้งเงินได้ทั้งงานก่อนใครด้วยระบบเรียน 3 วัน ปฏิบัติงานจริง 2 วัน

จากเดิมที่เรียนภาคทฤษฎี 3 ปี แล้วในปีที่ 4 ถึงจะเข้าสู่ภาคปฏิบัติออกไปฝึกงานในสถานประกอบการจริงและจบการศึกษาเข้าสู่โลกของการทำงาน ซึ่งวิธีการนี้แม้จะมีข้อดี ทุกสถาบันก็ใช้รูปแบบนี้มาตลอด แต่อันที่จริงแล้ว การได้ประสบการณ์การทำงานจริงไปในช่วงระหว่างเรียน ทำให้นักศึกษารู้คุณค่าและพัฒนาความรู้ที่เรียนไปได้ลึกกว่า ซึ่งในปัจจุบันวิชาชีพนักบัญชีก็ประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเป็นอย่างมาก ตลาดแรงงานต้องการ “นักบัญชี” มาทำหน้าที่เสริมหลายพันหลายหมื่นอัตรา ซึ่งการส่งนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานด้านบัญชีไปในช่วงระหว่างเรียนกลับทำให้ทุกฝ่าย Win-Win-Win

แนวทางนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นนี้คือโครงการ "Fast Track" ซึ่ง “ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม” คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวงการบัญชีและเป็นบอร์ดขององค์กรชั้นนำในประเทศไทยมากมาย ท่านได้นำแนวคิดจากอธิการบดี และรองอธิการบดีสายงานวิชาการ มาตกผลึกเสนอแนวคิดทำเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของงานบัญชี งานทรัพยากรบุคคล และงานเสริมทักษะความสามารถ ทำให้นักศึกษาที่อยากเรียนรู้ในสถานประกอบการจริงตั้งแต่ปีหนึ่งก็ได้เรียนรู้ ส่วนฝ่ายบัญชีในสถานประกอบการก็ได้เด็กรุ่นใหม่มาเสริมทัพ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็หาทั้งคนได้และได้ทั้งเรื่องการพัฒนาร่วมกันให้ตรงใจ แต่สำคัญสุดคือตัวนักศึกษาเองก็ได้ความรู้แบบของจริง สร้างนักบัญชีที่รู้จริงตั้งแต่ก่อนเรียนจบ


ด้วยอายุน้อยแต่ร้อยประสบการณ์ 'บัญชี'

“วิธีแก้ไขเรื่องนี้เรามีแนวคิดว่า Learning by Doing เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะเอามาเชื่อมกับความรู้ในภาคทฤษฎีที่เรียนในห้องเรียน นักวิชาชีพบัญชีจะมีความรู้โดยไม่มีประสบการณ์ไม่ได้เลย เพราะเวลาเจอปัญหาแต่ละครั้งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ประสบการณ์มาแก้ปัญหา ด้วย Mindset นี้เราจึงปรับหลักสูตรบัญชีที่เดิมเรียน 3-3.5 ปี แล้วค่อยไปฝึกงาน จากนั้นจึงจะจบไปทำงาน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้รายละเอียด กว่าจะเป็นมืออาชีพเท่ากับว่าอาจจะใช้เวลา 5-6 ปี ในการผลิตนักบัญชีที่รู้รอบด้านได้สักคนหนึ่ง” ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวเริ่มต้นบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม เพราะ "Fast Track" โครงการนี้สามารถเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สิ่งที่ “Fast Track” ได้ทำขึ้นคือ การ “ย่นย่อ” การเดินทางของภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้นักศึกษาบัญชีเรียนควบคู่ไปกับการฝึกงานจริงกับสำนักงานบัญชี ในรูปแบบของการเรียน 3 วัน ฝึกงาน 2 วัน หลังเรียนจบบัญชีพื้นฐานในขั้นต้น เช่น ระบบฐานข้อมูลบัญชี ภาษีอากร ในภาคเรียนแรก พอนักศึกษาปี 1 ถึงเทอมที่สอง ก็จะเริ่มเรียน 3 วัน ฝึกงาน 2 วัน ทันที ซึ่งการฝึกงานจะฝึกกับสำนักงานบัญชีที่เข้าร่วม MOU กับทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ด้วยกันทั้งหมด 4 สถานประกอบการก่อน โดยมีนักศึกษาที่มีความสมัครใจเข้าโครงการ “Fast Track” ในปีการศึกษา 2565 นี้ด้วยกัน 22 คน

“ในส่วนแรก โครงการ “Fast Track” จะช่วยเพิ่มทักษะจริงที่การเรียนในห้องเรียนอาจจะทำให้เห็นภาพจริงไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเอกสาร ที่เชื่อมโยงข้ามฝ่าย ข้ามสายงานกัน เอกสารที่ส่งมายังนักบัญชีเป็นลังๆ ในโลกการทำงาน จะทำให้นักศึกษาเห็นภาพใหญ่ ภาพรวมขององค์กร ทีนี้อาจารย์อาจจะเขียนกรณีศึกษาให้หรือให้โจทย์ เช่น 1. มีใบสั่งซื้อสินค้านี้เท่านี้ 2. รายการจ่ายค่าไฟเท่านี้ 3. ยอดหนี้เท่านี้ แล้วให้เริ่มการทำบัญชี ซึ่งถ้าหากไม่เจอของจริงก็อาจจะแยกไม่ถูก ทำให้แยกประเภทใส่ข้อมูลบัญชีไม่ได้ หรือถ้าเอกสารขาด ใบเสร็จไม่สมบูรณ์ จะต้องแก้ไขอย่างไร เรื่องนี้ถ้าเจอของจริงจะเข้าใจได้ไวมาก หลังจากนั้นนักศึกษาก็จะมีทักษะเรื่อง การสังเกต การตรวจสอบ นักศึกษาจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ผ่านการเรียนควบฝึกงานนี้”

“ที่สำคัญ นอกจากประสบการณ์จริงที่ได้เวลากลับมาเรียน นักศึกษาที่ไปฝึกงานจะได้ช่วยกันแบ่งปันสิ่งที่ได้เจอกันในห้องเรียน แต่ละคนก็เจอกรณีที่ต่างกัน หากเจอปัญหาก็สามารถสอบถามกับอาจารย์ในรายวิชาต่างๆ อันทำให้เขาเข้าใจและแตกฉานได้เร็วขึ้น และทำให้เขาแทบจะใช้เวลาเรียนที่สั้นลง พอนักศึกษาเรียนถึงปีที่ 3 ก็จะจบ Coursework หรือการเรียนในห้องเรียนเลย ตามวัตถุประสงค์ของเรา นักศึกษาสามารถไปทำงานได้เลย เดิมนักศึกษาหากจะหารายได้ระหว่างเรียนก็ต้องไปทำงาน Part-time ด้านอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนอยู่แล้ว แต่โครงการนี้ทำให้นักศึกษาบัญชีเราไปเป็นพนักงานฝึกงานหรือพนักงานจริง ทำงานในด้านบัญชีที่ได้ค่าตอบแทนดีกว่า หรือบางองค์กรก็มีค่าเดินทางให้ ไม่ต้องรอการฝึกงานปีสุดท้ายก่อนเรียนจบ รวมถึงจะได้งานทำหลังจบด้วย เมื่อความต้องการทุกฝ่ายตรงกัน สถานประกอบการก็ได้ประโยชน์ นักศึกษาก็ได้ประโยชน์ นักบัญชีก็ไม่ขาดตลาดแถมยังพ่วงความสามารถติดตัว เข้าใจองค์กรตั้งแต่เริ่มบ่มเพาะกัน”


เป็นจูเนียร์โปรเฟสชันนัล

ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาสกิลทักษะให้เกิดความชำนาญเชี่ยวชาญหรือสร้างนักบัญชีเท่าทันตลาดแรงงานเท่านั้น “การเข้าสังคมที่ทำงานได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ” ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ยังช่วยในเรื่องของการปรับตัวการเปลี่ยนสถานะจากวัยเด็ก วัยเรียน เข้าสู่ผู้ใหญ่วัยทำงาน รู้จักพี่ๆ ในองค์กร รู้จักการวางตัว รู้จักการเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม ซึ่งก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันในการทำงาน

“การฝึกงาน 2 วัน เรียน 3 วัน นักศึกษาชอบมาก ตั้งใจเรียนกันแบบสุดๆ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ทำให้สืบค้นลึกลงไปพบว่ามันช่วยให้เด็กกระตือรือร้นในการเรียน นอกจากนี้พบว่าหลังนักศึกษาออกไปสถานประกอบการมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลตอบรับคือ นักศึกษาภูมิใจที่เขาไม่ได้เรียนอย่างเดียวในห้อง ได้ทำงาน ได้รายได้ โดยที่ไม่สูญเสียสังคมมหาวิทยาลัย เพื่อนฝูงไป ทุกอย่างไปด้วยกันได้หมด”

“อีกสิ่งของการเรียนไป ฝึกงานไป คือได้ปรับตัวเรื่องเข้าสังคมที่ทำงาน นักศึกษาจะได้รู้ชีวิตจริงของการทำงาน เป็นการช่วยให้เขาค่อยๆ ซึมซับเรียนรู้ มีวัยวุฒิและทักษะทางด้านผู้คนตั้งแต่ยังอายุน้อย สองส่วนที่กล่าวมารวมกันก็เรียกได้ว่า เรากำลังทำให้นักศึกษาเป็น ‘จูเนียร์โปรเฟสชันนัล’ มืออาชีพก่อนเรียนจบด้วยซ้ำ”

นำก้าวเริ่มหลักชีวิตก่อนใคร

“การมีสกิลทักษะความเป็นผู้ใหญ่ และทักษะการทำงานแบบมืออาชีพ ทำให้นักศึกษาเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ตั้งหลักในชีวิตได้เร็ว และด้วยวิชาชีพบัญชีมีรายได้ ค่าตอบแทนที่ดี และมีความมั่งคง คุณภาพชีวิตที่ดีจึงตามมา แล้วส่งต่อพากันดีไปหมดทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องครอบครัว” ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวด้วยรอยยิ้มอีกครั้งเป็นการทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น