หลังจากได้รับเลือกเป็นต้นแบบนำร่องโครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) มาวันนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ก้าวนำอีกขั้น กับการเป็นสถาบันแห่งการสร้างนวัตกร (Innovator) เปิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ทันสมัย ด้วยโครงข่าย 5G และ WiFi6 พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลิกโฉมวงการศึกษา สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำโดย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการฯ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้ชมการทำงานของห้องเรียน Intelligent Hybrid Classroom และระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement รวมถึงการทำงานของนวัตกรรมที่ถูกประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี 5G ซึ่งผลการดำเนินงานชี้ให้เห็นถึงความพร้อมในการนำร่องให้สถานศึกษาและองค์กรต่างๆ สามารถนําไปทำซ้ำ ทำเสริม พัฒนาต่อยอดต่อไป
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา DPU มีการปรับตัวพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการผลิตกำลังคนให้มี Skill Set และ Mindset ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก มุ่งสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพพร้อมด้วยทักษะสำคัญแห่งอนาคต (Future Workforce) สำหรับโครงการ Smart Campus 5G ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สดช. นอกจากจะผลักดันให้ DPU เป็น Smart Campus ต้นแบบนำร่องในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G กับภาคการศึกษา ยังเป็นการสร้างให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการเป็นนวัตกร (Innovator) รวมทั้งขยายโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงาน และชุมชน ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอีกด้วย
“Smart Campus ของ DPU เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่นำเทคโนโลยีเข้ามาติดตั้งใช้งานเท่านั้น แต่แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการศึกษา (Process) และบุคลากร (People) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ” ดร.ดาริกา กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการ Smart Campus มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ออกแบบและพัฒนาโครงข่าย 5G และ WiFi6 ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และพัฒนาห้องเรียน Intelligent Hybrid Classroom ที่สนับสนุน Active & Blended Learning พร้อมติดตั้งระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement เพื่อการวิจัยชั้นเรียน นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ดีขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับ Gamification ส่งเสริม Positive Learning Behavior ให้กับผู้เรียน
พร้อมกันนี้ยังจัดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็น Living Lab ให้นักศึกษา อาจารย์ และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งภายใน Campus และขยายไปสู่สังคม อาทิ สร้างระบบ IoT (Internet of Things) ที่ใช้ในการบริหารจัดการพลังงานแบบ Real-Time พัฒนาหุ่นยนต์ Security Patrol Robot ที่ใช้ในด้านรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ไปจนถึงการพัฒนา VR Learning Space และ Online Course เพื่อให้เป็น Active Learning Environment ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ให้กับภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ผู้ช่วยรองอธิการบดี สำนักดิจิทัลการศึกษาและบริการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และจะเป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยในแง่ของความเป็น Smart Campus ควรสร้างประโยชน์ให้ผู้เรียนสามารถ Connect กับการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime ภายใต้การลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีแผนพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปในอีกหลายด้าน
“จากผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากโครงการทำให้ DPU มีแผนการต่อยอดอีกในอนาคต เช่น การพัฒนาครู รวมทั้งเด็กและเยาวชนให้เป็น Digital Citizen การยกระดับ DPU Makerspace ให้เป็น DPU Innovation Lab เพื่อผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลกับพื้นฐาน 5G แก้ปัญหาของสังคม โดยให้นักศึกษาได้ลงมือทำจริง มีประสบการณ์จริง สามารถเรียนรู้ ปรับปรุง เพื่อขยายไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน เมือง และสังคมในวงกว้างมากขึ้น ตอบโจทย์ SDGs และ Smart City ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของสังคมโลกในวันนี้” นายสัญญา กล่าวทิ้งท้าย