xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิไกร” กางแผนทำงานปี 66 นำเอไอ-บล็อกเชนพัฒนางานบริการ ดัน Soft Power มวยไทย-เพลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วุฒิไกร” กางแผนทำงานปี 66 เตรียมนำระบบ AI และ Blockchain ช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ดัน Soft Power กีฬามวยไทย เพลงไทย หนุนสินค้า GI ไทย มีมูลค่าตลาดทะลุ 5 หมื่นล้านบาท เร่งปราบปรามสินค้าละเมิดต่อเนื่อง ตั้งเป้าหลุดบัญชี WL สหรัฐฯ ส่วนผลงานปี 64-65 ทำได้ทั้งลดเวลาจดเครื่องหมายการค้า ทำระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรหมดอายุ ยกระดับกีฬาเจ็ตสกี ขึ้นทะเบียน GI รวม 177 รายการ แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ จัดการละเมิดออนไลน์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานสำคัญในปี 2566 ว่า กรมฯ จะมุ่งมั่นสานต่อความสำเร็จของการดำเนินการในช่วงปี 2564-65 ที่ผ่านมา โดยมีโครงการที่เป็นไฮไลต์สำคัญ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบ AI, Blockchain มาช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ผลักดันนโยบาย Smart DIP โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้งานบริการด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ กรมฯ จะยังเดินหน้าส่งเสริม Soft Power ไทย โดยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยสู่เวทีต่างประเทศ การส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดมุ่งสู่ 50,000 ล้านบาท รวมทั้งการรณรงค์และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็ง โดยมีจุดหมายสำคัญในการเดินหน้านำพาประเทศไทยให้หลุดจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตา (WL) ของสหรัฐฯ

นายวุฒิไกรกล่าวว่า การดำเนินงานในปี 2564-65 มีผลงานสำคัญ ได้แก่ นโยบาย Smart DIP ที่มีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชน เช่น จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเร่งด่วน จาก 12 เดือน เหลือ 4 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้าเร่งด่วน จาก 60 วัน เหลือ 30 นาที ระบบตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าด้วยภาพ (Image Search) สามารถสืบค้นผ่านทางออนไลน์และทราบผลทันทีภายใน 2 นาที ระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรที่หมดอายุและใกล้หมดอายุความคุ้มครอง เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น

สำหรับด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ ได้ผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โดยคนไทยเป็นเจ้าของรายการแข่งขันเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก WGP#1 ใน 3 สนาม ทั้งสหรัฐฯ โปแลนด์ และไทย ออกอากาศไปยัง 120 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการต่อยอดเชิงธุรกิจ ส่งเสริมการซื้อขายผลงานลิขสิทธิ์ในรูปแบบ NFT Art และบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยผ่านรายการ The Pitching สร้างมูลค่ากว่า 136.1 ล้านบาท

ทางด้านการส่งเสริมสินค้า GI ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ไทยรวม 177 สินค้า สร้างมูลค่าทางการค้ากว่า 48,000 ล้านบาท ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรดและแพลตฟอร์มออนไลน์ ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้า GI พร้อมจับคู่ธุรกิจเซ็นสัญญาซื้อขายสินค้า GI ล่วงหน้า สนับสนุนสินค้า GI เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเสิร์ฟในการประชุม APEC 2022 และนำเชฟมิชลินลงพื้นที่ภาคอีสานคัดสรรวัตถุดิบ GI มาทำอาหารสไตล์ฟิวชั่น พร้อมต่อยอดแหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่ภารกิจด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้ทันท่วงที การช่วยเหลือศิลปินไทยที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในกัมพูชา การลงนาม MOU กับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นำระบบระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ ช่วยยุติปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการจัดงานทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กว่า 4 แสนชิ้น มูลค่าความเสียหาย 173 ล้านบาท เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น