xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมบูรณะสะพานโยงเมืองงาว ลำปาง 97 ปีสะพานแขวนแห่งแรกเก่าแก่ที่สุดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง นำทีมออกสำรวจโครงสร้างสะพานโยง ข้ามแม่น้ำงาว จ.ลำปาง สร้างสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุประมาณ 97 ปี เพื่อเตรียมการบูรณะสะพานเป็นแหล่งท่องเที่ยว

วันนี้ (18 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุกิจ ยินดีสุข วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานออกแบบโครงสร้างที่ 1 สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง ได้นำทีมออกสำรวจโครงสร้างสะพานโยง ข้ามแม่น้ำงาว อายุประมาณ 97 ปี บนทางหลวงหมายเลข 1 เดิม หรือถนนพหลโยธินสายเก่า ต.หลวงใต้ อ.งาว จ.ลำปาง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16 ก.พ.) โดยการสำรวจทำแบบ Visual Inspection ดูลักษณะของสะพานภายนอก รอยต่อต่างๆ และจุดยึดของตัวสะพาน สำรวจร่วมกับสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง แขวงทางหลวงลำปางที่ 2 เพื่อเตรียมการบูรณะสะพาน เป็นประโยชน์ในการสัญจรของประชาชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางต่อไป

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สำหรับสะพานโยงเมืองงาว เป็นสะพานข้ามลำน้ำแม่งาว จัดเป็นสะพานแห่งแรก เก่าแก่ และยาวที่สุดของประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2469 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ อายุประมาณ 97 ปี ลักษณะโครงสร้างสะพานเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ระนาบคู่ ความยาวช่วงยาว 80 เมตร ความกว้างสะพาน 4 เมตร เป็นโครงสร้างเสากระโดงและคานเหล็กและพื้นไม้ ออกแบบสร้างโดยนายช่างชาวเยอรมัน ควบคุมการก่อสร้างโดยขุนเจนจบทิศ ส่วนเจ้าของโครงการ คือ กรมทางหลวงแผ่นดิน ในความดูแลของขุนขบวนบถดำริห์

ที่มาที่ไปของสะพานแห่งนี้ เกิดขึ้นมาจากการก่อสร้างถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เมื่อมาถึงอำเภองาว จังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2458 พบว่ามีแม่น้ำงาวขวางกั้นอยู่ แต่การก่อสร้างสะพานทั่วไปแบบมีเสาทำไม่ได้ เพราะมีซุงไม้สักทองท่อนใหญ่จำนวนมากลอยน้ำมาล่องผ่านลำน้ำนี้อยู่เป็นประจำ ลงสู่แม่น้ำยม จึงถูกริเริ่มคิดทำโครงการจัดสร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นสะพานแขวนแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ระยะเวลาสร้างรวมทั้งสิ้น 18 เดือน และเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2471

อย่างไรก็ตาม สะพานข้ามลำน้ำแม่งาวทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางด้วยถนนพหลโยธินจากภายนอกไปสู่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายอยู่หลายสิบปี โดยมีสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพิ่มขึ้นมาอีกสะพานหนึ่ง ภายหลังกรมทางหลวงได้ตัดถนนพหลโยธินสายใหม่ ในรูปแบบถนนบายพาส ไม่ผ่านตัวอำเภองาว ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 787 ต.หลวงใต้ อ.งาว จ.ลำปาง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 790 บริเวณสามแยกบ้านใหม่ ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง ระยะทาง 3 กิโลเมตร โดยมีการสร้างสะพานข้ามลำน้ำงาวแห่งใหม่ด้วย ทำให้ภายหลังสะพานโยงถูกเลิกใช้ และมีการอนุรักษ์โดยเปิดให้เฉพาะการเดินข้ามฟากแม่น้ำงาวเท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น