ลำปาง - อาลัยกันทั้งเมือง..ลูกศิษย์จัดขบวนรำดาบ-ฟ้อนประกอบเพลง “ร่ำเปิงลำปาง” หน้าเมรุ ส่งดวงวิญญาณ “อาจารย์ศักดิ์-ปราชญ์แห่งเมืองลำปาง” ผู้ประพันธ์ที่ถือเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่า รวมทั้งเคยบันทึกประวัติศาสตร์ทหารไทย-อเมริกา เหนือน่านฟ้าเมืองรถม้า ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่วงบ่ายวันนี้ (28 ม.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ศักดิ์เสริญ รัตนชัย หรืออาจารย์ศักดิ์ อายุ 95 ปี ปราชญ์ชาวลำปาง ที่บริเวณสุสานไตรลักษณ์ อ.เมืองลำปาง ท่ามกลางญาติมิตร ผู้เคารพนับถือ ที่พร้อมใจไปร่วมอาลัยกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมรำดาบ-ฟ้อนรำประกอบเพลง “ร่ำเปิงลำปาง” หน้าเมรุด้วย
ทั้งนี้ อาจารย์ศักดิ์ ปราชญ์ชาวลำปาง เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม) เป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่า รอบรู้หลายด้าน ทั้งด้านดนตรี การประพันธ์บทเพลง ประดิษฐ์ท่าร่ายรำ ทันสมัยกับเทคโนโลยี รู้ลึกด้านประวัติศาสตร์โดยจะเขียนพร้อมวาดรูปประกอบและถ่ายภาพในบางช่วงของประวัติศาสตร์ เป็นนักเขียน นักข่าว คอลัมนิสต์ วาดรูปการ์ตูน
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่อาจารย์ศักดิ์และจังหวัดลำปาง คือ เพลงร่ำเปิงลำปาง ซึ่งอาจารย์ศักดิ์ได้ประพันธ์ขึ้น โดยสะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน และประดิษฐ์ท่ารำให้ทันสมัย โรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดลำปางได้นำไปสอนในสถานศึกษาจนได้ชื่อว่าเป็นเพลงประจำจังหวัดลำปาง ทำให้เด็ก เยาวชนรู้จักอาจารย์ศักดิ์
นอกจากนี้ อาจารย์ยังเปิดสอนการเขียนอักษรล้านนาให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย ตลอดชีวิตท่านได้ทุ่มเท ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่ลูกศิษย์ที่สนใจมาโดยตลอด
อาจารย์ศักดิ์เทิดทูนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอย่างมาก จึงได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะด้านดนตรี และได้แต่งเพลงเศรษฐกิจพอเพียง ไว้ 1 เพลง เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2514 และใช้ชีวิตแบบสมถะ จิตอาสา จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
แม้ก่อนจะจากไปด้วยวัย 95 ปี อาจารย์ยังคงจำเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ได้ และได้เล่าเรื่องบางส่วนให้ผู้สื่อข่าวฟังเกี่ยวกับการต่อสู้ของทหารอเมริกันและทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นบนน่านฟ้าลำปาง หลังฝ่ายอเมริกันนำกำลังกลับมาเพื่อค้นหาร่างทหารที่สูญหายไปในสงครามเมื่อ 77 ปีที่ผ่านมา ในภารกิจพาทหารกลับบ้านเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ศักดิ์ที่ได้เขียนไว้นั่นเอง