แม้พยายามยกเหตุผลหว่านล้อมต่างๆ นานาเพื่อปฏิเสธการกดดันของเยอรมนีให้ส่งรถถังเอบรามส์ให้ยูเครน แต่ที่สุดแล้วอเมริกาก็ไม่อาจขัดขืนได้เนื่องจากเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการรักษาความเป็นเอกภาพในหมู่พันธมิตรที่ให้การสนับสนุนเคียฟ
นับจากที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพันธมิตรยุโรปพยายามนำเสนอภาพการสนับสนุนยูเครนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งที่มีความเห็นไม่ลงรอยเป็นครั้งคราว
พันธมิตรตะวันตกระบุว่า ความช่วยเหลือด้านอาวุธมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ส่งให้ยูเครนเป็นสัญญาณชัดเจนว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียล้มเหลวในการพยายามทำให้ตะวันตกแตกแยก
กระนั้น ความไม่ลงรอยเรื่องรถถังของเยอรมนีกลับบ่อนทำลายความพยายามดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า ตะวันตกไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องในการจัดหาอาวุธหนักให้ยูเครนตอบโต้การโจมตีของรัสเซีย
วันพุธที่แล้ว (18 ม.ค.) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางไปเบอร์ลินเพื่อโน้มน้าวบอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของเยอรมนีว่า อย่างน้อยที่สุดเยอรมนีควรยอมให้ประเทศอย่างโปแลนด์ส่งรถถังหนักลีโอพาร์ดให้ยูเครน
ทว่า การประชุมนาน 1 วันที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ของอเมริกาในเยอรมนี ล้มเหลวและทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันขุ่นเคือง
ที่วอชิงตัน เจ้าหน้าที่อาวุโสถึงกับตะลึงที่เยอรมนีพยายามโยงรถถังเอบรามส์กับการส่งลีโอพาร์ดให้เคียฟ
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวโดยไม่ขอเปิดเผยตัวตนว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่คิดว่า เอบรามส์จะเหมาะกับยูเครน เนื่องจากใช้งานและดูแลรักษายาก
ทว่า เจ้าหน้าที่คนเดิมเพิ่มเติมว่า เบอร์ลินไม่อยากลุยเดี่ยว ทำให้อเมริกาสงสัยว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่สำหรับเยอรมนีที่ยังคงมีแผลเป็นจากการเป็นผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 2 กับการส่งรถถังของตัวเองไปตะลุยสู้รบในยุโรปตะวันออก
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พยายามตอบเสียงเรียกร้องขอรถถังเซ็งแซ่ของยูเครน ควบคู่กับการทำให้ยูเครนตระหนักว่า ความช่วยเหลือในระยะยาวมีข้อจำกัด
ทว่า เยอรมนีไม่ยอมเปลี่ยนใจ เมื่อออสตินเดินทางถึงเบอร์ลิน เจ้าหน้าที่เมืองเบียร์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เบอร์ลินจะอนุญาตให้ส่งรถถังลีโอพาร์ดที่ผลิตในเยอรมนีให้ยูเครน หากอเมริกาตกลงส่งรถถังของตัวเองให้เคียฟเช่นเดียวกัน
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ย้ำเงื่อนไขดังกล่าวหลายครั้งในการประชุมแบบปิด อีกทั้งยังหารือเรื่องนี้ทางโทรศัพท์กับไบเดนหลายรอบในเดือนนี้
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้สื่อพากันประโคมข่าวความแตกแยกระหว่างอเมริกากับเยอรมนี และทำให้วอชิงตันตะลึงอีกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่คิดว่า ได้ปฏิเสธชัดเจนไปแล้วเรื่องการส่งเอบรามส์ให้ยูเครน
เจ้าหน้าที่อเมริกันยังแจงว่า ได้ให้การสนับสนุนการสู้รบของยูเครนเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงรถรบทหารราบแบรดลีย์ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ กระสุนปืนใหญ่หลายล้านนัด และอาวุธทรงพลังอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านดอลลาร์ และรวมทั้งการฝึกและการดำรงสภาพปฏิบัติการ เฉพาะเดือนที่ผ่านมา อเมริกาจัดหาความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้ยูเครนมูลค่าถึง 5,000 ล้านดอลลาร์
อเมริกาประกาศว่า การที่เบอร์ลินจะจัดหาความช่วยเหลือให้ยูเครนนั้นย่อมเป็นอำนาจการตัดสินใจของเยอรมนี แต่ในระหว่างที่ออสตินไปเยอรมนี วอชิงตันขอให้เบอร์ลินยุติการโยงการอนุมัติรถถังลีโอพาร์ดกับการตัดสินใจส่งเอบรามส์ของคณะบริหารของไบเดน
ดูเหมือนการกดดันของอเมริกาได้ผลอย่างน้อยชั่วคราว โดยเมื่อวันพฤหัสฯ (19) พิสโตเรียสให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า เขาไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดที่ยูเครนจะต้องได้รับรถถังจากอเมริกาและเยอรมนีพร้อมกัน
ถัดมาอีกวัน (20) โฆษกรัฐบาลเยอรมนีถึงขั้นแถลงว่า ไม่เคยตั้งเงื่อนไขการจัดส่งรถถังลีโอพาร์ดให้ยูเครนกับการกระทำแบบเดียวกันของอเมริกาเลย
ตัดฉากกลับไปที่วอชิงตัน เจ้าหน้าที่พยายามหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้รับการสรุปอย่างน่าเซอร์ไพรส์เมื่อวันพุธ (25) ที่ไบเดนประกาศอนุมัติการจัดส่งเอบรามส์ให้เคียฟ พร้อมๆ กับที่เยอรมนีจัดแถลงข่าวเดียวกัน
ทว่า การจัดส่งเอบรามส์ของอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ยังต้องรออีกหลายเดือน
กระนั้น แม้ยังไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน แต่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แสดงความยินดีกับการตัดสินใจนี้โดยบอกว่า เป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับหนทางสู่ชัยชนะ
(ที่มา : รอยเตอร์)