ยูเครนพยายามกดดันหนักในวันพฤหัสบดี (19 ม.ค.) เพื่อให้ฝ่ายตะวันตกจัดส่งรถถังขนาดหนักไปให้ โดยระบุว่าอาจเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาสงครามที่กำลังสู้รบอยู่กับรัสเซีย ขณะที่เบอร์ลินและวอชิงตันยังดูเหมือนตกลงกันไม่ได้ โดยรัฐบาลเยอรมนียื่นเงื่อนไข จะอนุญาตส่งรถถังลีโอพาร์ด 2 (Leopard 2) ที่ประเทศตนเป็นผู้ผลิตให้แก่เคียฟ ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ยอมส่งรถถังเอ็ม 1 เอบรามส์ (M1 Abrams) ของอเมริกาให้แก่ยูเครนเช่นกัน
รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ อยู่ในเยอรมนีแล้วในวันพฤหัสบดี (19) เพื่อพบปะหารือกับ บอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีคนใหม่ ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก พิสโตเรียส สาบานตัวเข้ารับตำแหน่ง
ถัดจากนั้นในวันศุกร์ (20) รัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองจะประชุมร่วมกับชาติพันธมิตรหลายสิบราย ณ ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่รัมสไตน์ ในเยอรมนี เพื่อให้คำมั่นสัญญาเรื่องจัดส่งอาวุธระลอกใหม่แก่ยูเครน ท่ามกลางการตีฆ้องร้องป่าวว่าจะเป็นโอกาสสำหรับการจัดหาจัดส่งอาวุธเพื่อช่วยเคียฟเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมของสงครามในปี 2023
คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศให้ความช่วยเหลือทางทหารรวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยที่หลายประเทศ เป็นต้นว่า แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ได้ประกาศแพกเกจความช่วยเหลือก้อนใหม่ออกมาแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งจะมีทั้งยานเกราะและระบบป้องกันภัยทางอากาศ แต่เห็นกันว่าความสำเร็จของการประชุมคราวนี้อาจขึ้นอยู่กับเรื่องการจัดหาจัดส่งรถถังขนาดหนัก ซึ่งเคียฟอ้างว่ามีความจำเป็นสำหรับต้านทานการรุกโจมตีของรัสเซียและยึดดินแดนที่ถูกยึดครองอยู่กลับคืนมา
อันเดรีย เยอร์มัค ประธานเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารประธานาธิบดียูเครน เขียนบนแพลตฟอร์มเทเลแกรม ในวันพฤหัสฯ (19) ว่า “เราไม่มีเวลา โลกก็ไม่มีเวลา” และ “คำถามเรื่องรถถังสำหรับยูเครนต้องยุติลงให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
สำหรับฝ่ายสหรัฐฯ นั้น เจ้าหน้าที่หลายคนบอกทั้งต่อหน้าสาธารณชนและในการเจรจาหลังฉากว่า วอชิงตันยังไม่มีแผนที่จะส่งรถถังเอบรามส์ ที่ผลิตโดยอเมริกาให้ยูเครนใช้ในตอนนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการ “ยากเกินไป” สำหรับเคียฟที่จะบำรุงรักษา อีกทั้งยังต้องอาศัยการสนับสนุนในด้านโลจิสติกส์อย่างมาก
ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของเพนตากอนกล่าวในวันพุธว่า “รัฐมนตรีกลาโหม (สหรัฐฯ) จะพยายามกดดันฝ่ายเยอรมนีในเรื่องนี้” พร้อมกับย้ำว่า การมอบรถถังประจัญบานลีโอพาร์ด 2 ให้ยูเครนเป็นเรื่อง “สมเหตุสมผล” มากที่สุด เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปก็มีรถถังรุ่นนี้ใช้งานอยู่แล้ว และพร้อมที่จะบริจาคต่อให้เคียฟได้อย่างรวดเร็ว
แต่แหล่งข่าวรัฐบาลเยอรมนีผู้หนึ่งกล่าวย้ำว่า เบอร์ลินจะเลิกคัดค้านเรื่องนี้ ถ้าวอชิงตันจัดส่ง เอบรามส์ ไปให้เคียฟด้วย
ทั้งนี้ เยอรมนีโดยเฉพาะพรรคสังคมประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ลังเลใจที่จะจัดส่งอาวุธที่สามารถใช้ในการรุกไปให้ยูเครน เนื่องจากอาจถูกมองว่าจะทำให้การสู้รบขัดแย้งคราวนี้บานปลายขยายตัว อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าเป็นความกังวลที่ไม่ถูกที่ถูกทาง
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมอบความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนแล้วเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว
ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันอีกคนเผยว่า แม้ไม่มีการจัดส่งรถถังเอบรามส์ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมอนุมัติแพกเกจช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมอีกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะคาดว่าจะประกาศภายในวันศุกร์ (20) โดยความช่วยเหลือล็อตนี้จะรวมถึงยานเกราะสไตร์เกอร์ด้วย
ด้าน นายกรัฐมนตรี มาแตอุช มอราวีแยตสกี แห่งโปแลนด์ ออกมาเรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (16) ให้เยอรมนีตัดสินใจส่งรถถังลีโอพาร์ด ให้ยูเครนใช้ต่อสู้กับทหารรัสเซีย ขณะที่อังกฤษก็ร่วมกดดันอีกแรงด้วยการประกาศส่งรถถังชาเลนเจอร์ 2 ซึ่งเป็นรถถังหลักของกองทัพอังกฤษ จำนวน 14 คัน ให้แก่เคียฟ และจะสนับสนุนเครื่องกระสุนเพิ่มเติมให้ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ยุโรปชี้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะกระตุ้นให้เบอร์ลินต้องทำแบบเดียวกัน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนเชื่อว่า อเมริกาน่าจะสามารถโน้มน้าวให้เยอรมนียอมอนุญาตประเทศที่ 3 จัดส่งรถถังลีโอพาร์ด ให้ยูเครนได้ในที่สุด
“เรามีความหวังอย่างมากว่าจะผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จภายในสุดสัปดาห์นี้” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)