xs
xsm
sm
md
lg

ดัตช์เอาด้วย! ส่งสัญญาณจัด 'แพทริออต' ให้ยูเครน เยอรมนีถูกกดดันหนักเคียฟจะเอาให้ได้รถถังลีโอพาร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาร์ค รุตต์ นายกเทศมนตรีเนเธอร์แลนด์ ส่งสัญญาณในวันอังคาร (17 ม.ค.) แสดงถึงความตั้งใจระหว่างพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ว่าจะทำตามเยอรมนีในการส่งมอบระบบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ "แพทริออต" ที่ผลิตโดยอเมริกาให้แก่ยูเครน ในขณะเดียวกัน เบอร์ลินก็ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ให้จัดหารถถังลีโอพาร์ด ตามคำขอของเคียฟ จนกระทั่งรัฐมนตรีกลาโหมต้องลาออกจากตำแหน่ง

"เรามีความตั้งใจเข้าร่วมกับสิ่งที่คุณกำลังทำร่วมกับเยอรมนีในโครงการแพทริออต ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญและเราเข้าร่วมด้วย" รุตต์ บอกกับไบเดน ที่ทำเนียบขาว พร้อมเผยว่าเขาเพิ่งได้หารือกับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในตอนเช้าวันเดียวกัน

เยอรมนี แถลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม ว่า กำลังดำเนินการตามสหรัฐฯ ในการส่งมอบกองพันระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัยชุดหนึ่งแก่ยูเครน

รุตต์ ได้อ้างถึงภาพวิดีโอของเหตุการณ์อาคารอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งในเมืองดนิโปร ถูกทำลายโดยขีปนาวุธทรงพลังของรัสเซียเมื่อวันเสาร์ (14 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยบอกว่า "มันเป็นภาพอันน่าสยดสยอง และผมคิดว่ามันยิ่งจะเสริมความมุ่งมั่นของเราในการยืนหยัดร่วมกับยูเครน"

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ไบเดน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ โชลซ์ ด้วยเช่นกันในวันอังคาร (17 ม.ค.) แต่บอกว่าทั้งคู่หารือกันเพียงแค่ประเด็นการมอบแรงสนับสนุนด้วยความแน่วแน่แก่ยูเครน และประณามการรุกรานของรัสเซียเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นในขณะที่ โชลซ์ กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากบรรดาพันธมิตรยุโรปของเขา ให้อนุมัติส่งรถถังลีโอพาร์ดไปยังยูเครน

พวกผู้นำ และรัฐมนตรีจากฟินแลนด์ ลิทัวเนีย โปแลนด์ และสหราชอาณาจักร เป็นบรรดาประเทศล่าสุดที่ส่งเสียงเพิ่มเติม เรียกร้องให้เบอร์ลิน ให้ไฟเขียมส่งออกรถถังลีโอพาร์ดที่ผลิตโดยเยอรมนี ไปยังยูเครน ตามคำร้องขอของทางเคียฟ

ส่วน วิตาลี คลิตช์โก นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ เขียนบนเทเลแกรม เผยว่า เขาได้พบปะกับ โรเบิร์ต ฮาเบค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ในดาวอส เมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) และใช้โอกาสนี้หารือกันเกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธ "การตัดสินใจออกมาในแง่บวก กำลังจะมีข่าวดี" เขาระบุ

การรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในนโยบายกลาโหมของเยอรมนี โดย โชลซ์ แถลงจัดสรรงบประมาณกว่า 100,000 ล้านยูโร ยกเครื่องกองทัพให้มีความทันสมัย

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีถูกทดสอบความอดทนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากบรรดาพันธมิตร และโดนวิพากษ์วิจารณ์จากยูเครน ต่อกรณีที่มีท่าทีระมัดระวังในการส่งมอบอาวุธแก่เคียฟ

จนถึงตอนนี้ พันธมิตรยุโรปส่งมอบรถถังยุคสหภาพโซเวียตให้แก่เคียฟแล้วมากกว่า 300 คัน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ตะเกียกตะกายต้องการรถถังที่ออกแบบโดยตะวันตกที่มีความทันสมัยกว่า

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน ฝรั่งเศสสัญญาจะมอบรถถังเบา AMX-10 RC แก่ยูเครน ถือเป็นประเทศแรกที่รับปากจะมอบรถถังที่ออกแบบโดยตะวันตกให้แก่เคียฟ

แนวคิดจัดหารถถังแก่เคียฟ ถูกคัดค้านมาช้านานจากบรรดาพันธมิตรตะวันตกของยูเครน ด้วยความกังวลว่ามันจะโหมกระพือความเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย

นับตั้งแต่นั้น สหรัฐฯ เผยว่าพวกเขาจะส่งมอบยานยนต์หุ้มเกราะแบรดลีย์ทรงอานุภาพแก่เคียฟ ส่วนสหราชอาณาจักร เพิ่งแถลงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมอบรถถัง Challenger 2 นับเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เตรียมจัดหารถถังหนักให้ตามที่เคียฟเรียกร้องมานาน

เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร ชี้ว่ามีประเด็นถกเถียงในเยอรมนี ว่ารถถังลีโอพาร์ดเป็นอาวุธสำหรับรุกรานหรือป้องกันตนเอง แต่เขาเรียกร้องให้เยอรมนี อย่างน้อยๆ ก็อนุญาตให้โปแลนด์และฟินแลนด์ ส่งออกต่ออีกทอดหนึ่ง

คริสติน แลมเบรชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี แถลงลาออกในวันจันทร์ (16 ม.ค.) หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เยอรมนีบอกว่าประเด็นการจัดหารถถังลีโอพาร์ดแก่ยูเครน จะเป็นหัวข้อแรกในวาระของรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่

เวลานี้การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวถูกวางอยู่บนโต๊ะของ บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่แทน แลมเบรชต์ ในวันอังคาร (17 ม.ค.)

การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวเรือด้านความมั่นคงของประเทศในครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้ฝ่ายการเมืองและสาธารณชนเป็นอย่างมาก เพราะ พิสโตริอุส ไม่ใช่นักการเมืองที่มีชื่อเสียงหรือเคยรับผิดชอบกิจการใหญ่ๆ ของประเทศมาก่อน

เขาถือเป็นม้านอกสายตาที่แซงตัวเต็งอย่างเอวา โฮเกล กรรมาธิการรัฐสภาด้านกองกำลังติดอาวุธ และมารี-แอกเนส สตาร์ค-ซิมเมอร์มันน์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมของรัฐสภา ที่ได้รับการคาดหมายว่าคนใดคนหนึ่งจะได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนต่อไป

เวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของกระทรวงกลาโหม เพราะอยู่ในช่วงฟื้นฟูและปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและอาวุธ อีกทั้งยังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้ร่วมมีบทบาทในการช่วยเหลือยูเครนด้วยการส่งรถถังไปให้ แต่ โชลซ์ ยืนยันด้วยตัวเองว่า พิสโตริอุส เป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น