เอพี - โปแลนด์เตรียมขอให้เยอรมนีอนุญาตให้ส่งรถถังลีโอพาร์ดให้ยูเครน เผยพร้อมเดินหน้ากับกลุ่มแนวร่วมแม้เบอร์ลินไม่เห็นด้วย ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์ส่งสัญญาณพร้อมไฟเขียว อีกทั้งยังอาจพิจารณาจัดหาอาวุธหนักล้ำสมัยเพิ่มเติมให้เคียฟด้วย ด้านรัสเซียย้ำเสียงเข้มการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้
นายกรัฐมนตรีมาเตอุซ โมราเวียกกี ของโปแลนด์ แถลงในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ว่าโปแลนด์กำลังสร้างกลุ่มแนวร่วมที่พร้อมส่งรถถังหนักลีโอพาร์ดที่ผลิตในเยอรมนีให้ยูเครน แม้เบอร์ลินไม่อนุญาตก็ตาม แต่ผู้นำโปแลนด์ไม่ได้ระบุว่า จะส่งคำขอถึงเยอรมนีเมื่อใด
เมื่อวันอาทิตย์ (22 ม.ค.) อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เพิ่งให้สัมภาษณ์สถานีทีวีแอลซีไอของฝรั่งเศสว่า โปแลนด์ยังไม่ส่งคำขออย่างเป็นทางการให้เบอร์ลินอนุญาตการจัดส่งรถถังลีโอพาร์ดให้ยูเครน แต่สำทับว่า เยอรมนีจะไม่คัดค้านถ้าได้รับคำขอ
โมราเวียกกี กล่าวถึงคำสัมภาษณ์ของแบร์บ็อค ว่า การกดดันดูเหมือนได้ผล และว่า คำพูดดังกล่าวจุดประกายความหวังว่า ไม่ใช่แค่ไม่ขัดขวางการจัดส่งรถถังลีโอพาร์ดเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วเยอรมนีอาจพร้อมมีส่วนร่วมในการจัดหาอาวุธหนักล้ำสมัยให้ยูเครน
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของผู้นำโปแลนด์ เยอรมนีมีรถถังลีโอพาร์ดที่ใช้งานอยู่กว่า 350 คัน และที่ไม่ได้ใช้งานอีกราว 200 คัน ด้านรัฐบาลยูเครนระบุว่า รถถังหนักโดยเฉพาะลีโอพาร์ด มีความสำคัญต่อการเอาชนะกองกำลังผู้รุกรานจากเครมลิน
แบร์บ็อคยังแสดงความคิดเห็นแง่บวกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งรถถังให้ยูเครนด้วยการกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เยอรมนีรู้ดีว่า รถถังลีโอพาร์ดสำคัญอย่างไร ดังนั้น จึงกำลังหารือเรื่องนี้กับพันธมิตร
บรรดาประเทศผู้สนับสนุนยูเครนให้สัญญาให้ความช่วยเหลือทางทหารมูลค่านับพันล้านดอลลาร์แก่ยูเครนระหว่างการประชุมที่ฐานทัพแรมสไตน์ของอเมริกาในเยอรมนีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ม.ค.) โดยมีการหารือกันเกี่ยวกับคำขอเร่งด่วนของยูเครนให้จัดส่งรถถังลีโอพาร์ด 2 ให้
เยอรมนีที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคอาวุธสำคัญให้ยูเครน สั่งตรวจสอบสต๊อกรถถังลีโอพาร์ด 2 ระหว่างเตรียมการที่อาจมีการอนุมัติการจัดส่งให้เคียฟ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนีแสดงความระมัดระวังในทุกขั้นตอนในการเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครน โดยความลังเลนี้มีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมือง
ท่าทีดังกล่าวทำให้เบอร์ลินถูกวิจารณ์และกดดันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปแลนด์และประเทศในแถบบอลติก ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ที่อยู่ทางปีกด้านตะวันออกที่รู้สึกถึงภัยคุกคามจากความก้าวร้าวของรัสเซียอย่างชัดเจน
ทางด้านมอสโกนั้น เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ย้ำว่า การจัดหาอาวุธล้ำสมัยของตะวันตกให้ยูเครนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้ และสำทับว่า รัสเซียเตือนมาหลายครั้งว่าการกระทำดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะแต่บรรดาประเทศศัตรูไม่เคยฟัง
สำหรับสถานการณ์การสู้รบนั้น กองกำลังรัสเซียระดมทิ้งระเบิดโจมตีเมืองต่างๆ ของยูเครน ขณะที่การต่อสู้ในสนามรบไม่มีความคืบหน้าระหว่างช่วงฤดูหนาว
โอเลห์ ซินยีฮูบอฟ ผู้ว่าการคาร์คีฟ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ทหารรัสเซียยิงปืนใหญ่ถล่มเมืองและหมู่บ้านหลายแห่งในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้หญิงวัย 67 ปีผู้หนึ่งเสียชีวิต และพลเรือนอีกคนได้รับบาดเจ็บ