xs
xsm
sm
md
lg

สนุกสุขใจ “อุดรธานี” ชมดอกไม้สวย ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เยือนถิ่นผ้างาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยามเช้า ณ ทะเลบัวแดง
ตระเวนเที่ยว “อุดรธานี” สักการะพระพิฆเณศ, พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสระมณี เดินดูความเป็นมาของอุดรธานีที่พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ชมผ้าสวยที่บ้านโนนกอก เช็คอินสวนดอกไม้แบงค์เบญจมาศ งามสะพรั่งทะเลบัวแดง

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี
“อุดรธานี” หนึ่งในจังหวัดน่าเที่ยวแห่งภาคอีสาน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งคนชอบธรรมชาติ ชื่นชอบประวัติศาสตร์ รักความสดใสของดอกไม้บาน หรืออยากสัมผัสวิถีชุมชน แม้แต่คนที่รักการกินของอร่อย ที่อุดรธานีก็มีพร้อมสรรพ

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี
ประเดิมเที่ยวอุดรธานีกันที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี” ที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง ซึ่งรูปทรงภายนอกจะเป็นอาคารเก่าแก่สไตล์โคโนเนียลสีเหลืองสดใสที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เดิมเคยเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนสตรีราชินูทิศ แต่ปัจจุบันจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเมืองอุดรได้อย่างทันสมัยและน่าสนใจ

ภายในจัดแสดงนิทรรศการที่เล่าเรืองของเมืองอุดรธานี เริ่มตั้งแต่ยุคที่แผ่นดินอีสานยังเป็นท้องทะเล มาสู่ยุคที่มีมนุษย์อาศัย จนกลายมาเป็นอารยธรรมบ้านเชียง จากนั้นก็เป็นการตั้งเมืองอุดรธานี ยุครุ่งเรืองของอุดรธานีในยุคสงครามเย็น มาจนถึงอุดรธานีในยุคปัจจุบัน

องค์ศรีสุขคเณศ
สำหรับใครที่เป็นสายมู ต้องห้ามพลาดการมาสักการะ “องค์ศรีสุขคเณศ” ที่ประดิษฐาน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ซึ่งเป็นองค์พระพิฆเณศวร ปางศรีสุขคเณศ ขนาดหน้าตัก 33 นิ้ว สูง 279 ซม. ผลงานของศิลปินราชัน แสงทอง ศิษย์เก่าแผนกศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก

โดยมีแนวคิด “ศรัทธาแห่งความสำเร็จ” เป็นการนำพระพิฆเณศวร เทพแห่งความสำเร็จทั้งมวล ผสมผสานพลังศรัทธา “พ่อปู่ศรีสุทโธ” จากทั่วสารทิศ รังสรรค์มาเป็น “องค์ศรีสุขคเณศ” พระพิฆเณศวร 8 กร ปรกด้วยนาคราช 9 เศียร มหามงคลแห่งความสุข ความสำเร็จทั้งปวง เอกลักษณ์เฉพาะอุดรธานี หนึ่งเดียวในโลก

นอกจากนี้ ในตัวเมืองอุดรธานียังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุดรอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ศาลหลักเมืองอุดรธานี, ท้าวเวสสุวรรณ, อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ฯ, ศาลเทพารักษ์ เป็นต้น ใครที่มีเวลาก็สามารถแวะสักการะกันได้ตามความสะดวก

พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย

พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย
จากนั้นมาต่อกันที่ “พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย” สถานที่รวบรวมพระธาตุของพระอริยสงฆ์เก็บรักษาไว้บูชามากที่สุดอีกแห่งของประเทศไทย โดยด้านในมีโถงใหญ่ที่จัดแสดงอัฐิธาตุ เกศาธาตุ และอังคารธาตุ ของพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศไทย ทั้งที่ได้ละสังขารแล้วและยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 400 องค์

เข่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป, หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อินทร์ถวาย สันตัสสโก เป็นต้น และพระรูปเหมือนพระอริยสงฆ์จำนวนมาก อีกห้องเป็นห้องบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปที่มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก

ดอกบัวแห้งที่จะใช้ย้อมผ้า

ผ้าทอสวยๆ ที่บ้านโนนกอก
แล้วมาชมของสวยๆ งามกันต่อที่ “ชุมชนทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” ที่ตอนนี้จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า โดยความโดดเด่นของผ้าที่บ้านโนนกอกคือการย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกบัว ที่แต่ละส่วนก็ให้สีสันที่แตกต่างกันอย่างเช่นดอกบัวสดนำไปต้มจำให้สีเทาอ่อน แต่ถ้านำไปผสมกับน้ำมะนาวจะได้สีชมพู ส่วนดอกบัวแห้งนำไปต้มจะได้สีทอง และถ้าหมักด้วยน้ำโคลนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ ซึ่งนอกจากดอกบัวแล้วก็ยังมีการย้อมสีจากธรรมชาติอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ก้านบัว ดอกพุดซ้อน ดอกดาวเรือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่บ้านโนนกอกยังมีลวดลายการทอผ้าที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ โดยที่มาของลวดลายที่สำคัญคือลายจากหมอนขิด เช่น ลายขอขิดเดียง ลายขอเล็บแมว ลายกาบหลวง ลายขิดบันไดสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งหลังจากเรียนรู้กรรมวิธีการย้อมผ้า การทอผ้าแล้ว หากใครติดใจผ้าสวยๆ ของบ้านโนนกอก ที่นี่ก็มีจำหน่ายด้วย

วัดสระมณี

วัดสระมณี
มาถึงอีกจุดที่สายมูไม่ควรพลาดคือที่ “วัดสระมณี” ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน สร้างเมื่อพุทธศักราช 2338 เนื่องจากแต่เดิมวัดสระมณี มีสระหนึ่งสระผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามีลูกแก้วชนิดหนึ่งลอยขึ้นมาจากสระเปล่งแสงประกายงดงามมากเมื่อชาวบ้านมาตั้งวัดขึ้น ณ ที่บ้านผักตบจึงใช้ชื่อนี้ว่า ‘’วัดสระมณีโชติ’’ ต่อมาหลายปีคำว่า โชติ หายไปเหลือแต่คำว่า สระมณี จึงได้ใช้เป็นชื่อวัดในปัจจุบัน

ภายในวัดมีกำแพงล้อมอุโบสถรูปพญานาค และ หอปู่โคตร และมีการสร้างรูปปั้นมากมายอีกด้วย เช่น พญานาค 4 ตระกูล ท้าวเวสสุวรรณ พระพรหม พระพิฆเนศ เป็นต้น ทั้งยังมี สระมณี บ่อน้ำเล็กๆ ด้านหน้าอุโบสถ ถือเป็นอีกหนึ่งวัดสวยที่ใครมาเยือนอุดรธานีแล้วไม่ควรพลาด

สวนแบงค์เบญจมาศ

สวนแบงค์เบญจมาศ
ส่วนใครชอบดอกไม้สวยๆ ที่อุดรธานีก็ยังมีดอกไม้หลากสีสันให้ได้ชม อย่างเช่นที่ “สวนแบงค์เบญจมาศ” ซึ่งแต่เดิมทำเป็นสวนปลูกดอกเบญจมาศส่งขาย ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนมาทำเป็นสวนดอกไม้หลากสีสันหลายสายพันธุ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม มีการจัดมุมถ่ายรูปสวยๆ ปลูกดอกไม้หลากสีสันสลับสับเปลี่ยนกันไป และถ้าถ่ายรูปกันจนเหนื่อยแล้ว ที่นี่ก็มีคาเฟ่ให้นั่งพักด้วย

ทะเลบัวแดง
และจุดชมดอกไม้อีกแห่งในอุดรธานีที่โด่งดังสุดๆ คือ “ทะเลบัวแดง” แห่งหนองหาน ที่จะมีให้ชมมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี ใครที่อยากชมทะเลบัวแดงบานสะพรั่งก็ต้องตื่นเช้ากันหน่อย เพราะดอกบัวจะบานสวยที่สุดในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาประมาณ 11.00 น.

นักท่องเที่ยวจะนั่งเรือออกไปเพื่อชมดอกบัว ในช่วงแรกเรือจะค่อยๆ แล่นมาเรื่อยๆ ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย จนมาถึงทุ่งดอกบัว ภาพแห่งความประทับใจที่เห็นภาพแรกคือแสงอาทิตย์ค่อยๆ สาดส่องมากระทบพื้นน้ำ จากนั้นไม่กี่นาทีพระอาทิตย์ดวงกลมโตสีส้มสดใส ก็ค่อยๆ โผล่พ้นน้ำมาให้เห็นกันชัดๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพกันเป็นที่เพลิดเพลิน

ทะเลบัวแดง
หลังจากเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นกันจนหนำใจแล้ว แสงแดดก็ค่อยๆ สว่างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ดอกบัวนับล้านๆ ดอก ค่อยๆ เบ่งบานทั่วทั้งทุ่ง เมื่อมองไปยังเบื้องหน้าก็จะเห็นดอกบัวสีชมพูผลิบานไปจนไกลสุดสายตา เสมือนพื้นน้ำนั้นเต็มไปด้วยสีชมพูทั่วทั้งบึง หากเรือแล่นเข้าไปใกล้ๆ บัว ก็จะเห็นดอกบัวสีชมพูทั้งขึ้นตรงบ้าง งอบ้าง สะท้อนพื้นน้ำให้เห็นกันอย่างละลานตา ซึ่งดอกบัวที่บานสะพรั่งเต็มท้องน้ำของบึงหนองหาน งดงามสุดลูกหูลูกตา จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทะเลบัวแดง”

เที่ยวกันเต็มอิ่มแล้ว อย่าลืมแวะชิมของอร่อยที่มีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งที่ “อุดรธานี” ก็มีหลายๆ ร้านที่ได้รับการแนะนำจากคู่มือ “มิชลิน ไกด์”

* * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5406-7 Facebook : ททท.สำนักงานอุดรธานี-TatUdon

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น