xs
xsm
sm
md
lg

“XครูSIVE” แบรนด์ใหม่!สายบุญชวนร่วมสมทบทุนเพื่อการก่อการดีจ้างครู “อยู่ดีมีครู” ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนห่างไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จริง ๆ XครูSIVE มันเป็นชื่อแบรนด์ ๆ หนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อที่ว่าเราจะผลิตสินค้าภายใต้คอนเซ็ปต์ LIMITED EDITION ถามว่าผลิตสินค้าไปทำไม? เราผลิตสินค้าไปเพื่อเอารายได้จากการขายสินค้านั้น ไปจ้างครูที่โรงเรียนต่างจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี”


คุณพลาย-มนต์สุข ฐิตะฐาน จากบริษัท K.SMITH & PARTNERS และในฐานะแกนนำกลุ่มของโครงการ “อยู่ดีมีครู” บอกเล่าให้ฟังถึงที่มาของกระเป๋าจากงานสานกระจูดใบสวยดีไซน์น่าใช้ใบที่ถืออยู่ในมือ แนวคิดมันเกิดมาจากการที่ว่าสินค้าแต่ละสินค้าที่ออกมา จะต้องเกิดจากการต่อยอดของผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมมือกับ “ดีไซเนอร์” ครีเอทออกมาเป็นสินค้าตัวหนึ่ง แบบหนึ่ง คอลเลคชันหนึ่ง มีแค่ 100 ชิ้น แล้วก็มีการวาง Position เอาไว้ว่า สินค้า 100 ชิ้น นี้ขายแล้วจะต้องได้กำไรประมาณ 1 แสน เพื่อเอาเงินจากตรงนี้ไปจ้างครูต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นรายได้จากการขายสินค้าทุกชิ้นจะไปจ้างครูต่างจังหวัด โดย 1 คอลเลคชันจะจ้างครูได้ 1 คน


ทำไมต้องจ้างครู?
เกิดขึ้นจากการรวมพลังของเอสเอ็มอีโครงการพัฒน์ (PLUS) กว่า 50 แบรนด์ ที่น้อมนำเอาหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นหลักยึดถือในการทำธุรกิจและการดำเนินงาน โดยต่างมองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่าปัญหาใหญ่ของภาคการศึกษาประเทศไทย คือการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนขนาดเล็กก็คือโอกาสทางการศึกษาของเด็ก การจะแก้ปัญหาจึงไม่ควรรอเพียงภาครัฐ แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมควรได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาในเรื่องปัจจัย 4+1 (ครู) อย่างยั่งยืน จำนวน 5 โครงการ

“อยู่ดีมีครู” เป็น 1 ใน 5 โครงการที่ประกอบด้วย ก่อร่างสร้างครัว ตัดเสื้อน้องแต่พอตัว ปลูกโรงเรียนตามใจผู้อยู่ คบเด็กสร้างโรงพยาบาล และ โครงการ “อยู่ดีมีครู” ดูแลเรื่อง คุณครูให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน มีที่มาจากการมองเห็นปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเกิดเป็นกิจกรรมสนับสนุนให้ชุมชนนำภูมิปัญญาของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้โดยเน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาโดยการจ้างครูให้แก่โรงเรียน

ทีมงานโครงการ อยู่ดีมีครู
“คอนเซ็ปต์ของ XครูSIVE ก็คือว่า ของที่เราไปขายเนี่ย 100 ชิ้น รายได้หักต้นทุนแล้วเราก็จะสมทบทุนจ้างครู โดย 100 ชิ้นจะจ้างครูได้ 1 คน ทีนี้การจ้างครูได้ 1 คนเนี่ย 100 ชิ้นเนี่ยหักค่าต้นทุนแล้ว จะไปจ้างครู 1 คนในแต่ละคอลเลคชันมันจะไปหักไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เราไปลงโมเดลที่โรงเรียนหนึ่ง จ้างครู 1 ปีโรงเรียนนี้ใช้ 1 แสนบาท เราก็จะหัก 1,000 บาทเพื่อให้มันได้ 1 แสนสำหรับ 100 ชิ้น แต่ถ้าเกิดบางโรงเรียนมันเกิดเป็น 1.1 แสนหรือ 8 หมื่น มันก็จะหัก 1,100 หรือ 800 คือ vary ไปตามโรงเรียนนั้น ๆ และก็ต้นทุนของสินค้าแต่ละอย่างมันก็จะไม่เท่ากันด้วย”


“สินค้า” เน้นการต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน
ชุมชนที่ร่วมในการผลิตสินค้า อาจจะไม่ใช่เป็นชุมชนเดียวกับที่โครงการฯ เอาเงินรายได้ไปช่วยจ้างครูก็ได้ เป็นชุมชนไหนก็ได้ในประเทศนี้ ที่เขามีภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็จะมาคุยกัน แต่ว่าอาจจะเน้นขอให้เป็นกึ่ง ๆ ของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สืบทอดภูมิปัญญากันมา “โจทย์จริง ๆ เราไปได้แนวทางตามโครงการพระราชดำริฯ ที่ภูพานมา ตอนนั้นสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9ท่านวางไว้เกี่ยวกับเรื่องของมันจะมีคอนเซ็ปต์หนึ่งก็คือ การใช้เวลาว่างจากการทำงานหลักแล้วก็เอาภูมิปัญญาที่มีอยู่มาต่อยอด และให้เกิดรายได้เสริม ทีนี้เราก็เลยคิดว่า จริง ๆ ถ้าเราจะทำสินค้าขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง เราควรไปต่อยอดภูมิปัญญาเดิมไม่จำกัดว่าต้องเป็นกระเป๋านะ จานชามก็ได้ ผ้าทอย้อมผ้าก็ได้ ปั้นหม้อปั้นไหก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นการใช้ฐานของวัตถุดิบท้องถิ่นนำมาประยุกต์ร่วมกับการออกแบบของดีไซเนอร์ เพื่อให้มันดูอัพขึ้นมาอีก และทำเป็นLimited Edition จากชุมชนนั้นๆ”

ตัวอย่างสินค้าของแบรนด์ XครูSIVE ชิ้นแรก ที่ทำเป็นกระเป๋าเพราะว่าชุมชนที่โครงการฯ ได้เข้าไปคุยกับเขา มีการสานกระจูดเพื่อทำเป็นกระเป๋าอยู่แล้ว และกระจูดเองก็เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของเขาอยู่แต่เดิม ก็เลยได้ไอเดียเรื่องการทำสินค้าที่เป็น “กระเป๋า” ขึ้นมาก่อนและให้ดีไซเนอร์เข้ามาช่วยดูเรื่องการออกแบบดีไซน์ “อย่างอันนี้จะเห็นว่ามันเข้ากับโรงเรียนข้างหลังมันเป็นรูปเข็มขัดนักเรียน การออกแบบดีไซน์ตรงนี้ซึ่งทางดีไซเนอร์ที่เข้ามาช่วยเขาก็จะเป็นคนดูให้ด้วย ซึ่งวันหนึ่งถ้าเราไปเจอผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มันดูน่าสนใจ คือเราก็เดินหน้าผลิตภัณฑ์ของเราไปเรื่อย ๆ เพราะเราคงไม่ออกคอลเลคชันเดียวแน่นอน”

ถือเป็นการขับเคลื่อนอาชีพทั้งในลักษณะของการจ้างงานด้วย และคนในชุมชนเองเมื่อได้ไอเดียจากดีไซเนอร์แล้วยังสามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไป


คนซื้อสินค้าจะได้รับความคุ้มค่าอย่างไรบ้าง?
ส่วนเรื่องราคา ก็จะแปรผันไปตามสินค้าแต่ว่าอย่างใบนี้ก็ ราคา 2,400 บาท “คือต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า ด้วยความที่ของแต่ละชิ้นเนี่ยเวลาคนซื้อไป เขาอาจจะ เราก็ไม่ได้ต้องการให้เขาซื้อเพราะว่าเขาอยากจะทำบุญอย่างเดียว เพราะการทำบุญอย่างเดียวเรามีช่องทางบริจาคอยู่แล้ว ทีนี้เขาได้ของไปแน่นอนมันก็คงต้องมีคุณภาพที่สมราคา เราก็คงทำออกมาแล้วกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของสินค้าแต่ละล็อตไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มคนใช้กระเป๋าก็อาจจะเป็นกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้หญิง กลุ่มแม่บ้านที่จะต้องเอาของไปใส่ แต่แน่นอนว่าคุณภาพที่ทำไม่ว่าของจะเป็นอะไรก็ตาม คุณภาพจะต้องดี อันนี้จะต้องดี แล้วก็อีกอย่างหนึ่งเรื่องราคาเนี่ยก็ต้องบอกว่า ราคาเราจะต้องกำหนดราคาที่ค่อนข้างอยู่ในจุดที่ไม่ได้สูงมาก แต่ต้องให้เหลือกำไรต่อชิ้นที่สามารถจะล้อกลับเข้ามาคอนเซ็ปต์ได้ เพราะฉะนั้นสินค้าที่เราจะออกเราจะต้องดูด้วย”

โดยนอกจากการเปิดรับชุมชนต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการผลิตสินค้าแล้ว คุณพลายบอกว่าดีไซเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของการผลิต ทางโครงการฯ เองก็มีความยินดีอย่างมากในการเปิดรับเข้ามาเพื่อช่วยดูแลสำหรับสินค้าในแต่ละคอลเลคชันที่จะออกมาด้วย “ซึ่งเวลามีดีไซเนอร์มาร่วมงาน เราจะมีการ reference ให้ด้วยว่าเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยใครเป็นดีไซเนอร์มีการบอกเอาไว้ให้พร้อมเลย เราก็จะให้เครดิตเขาด้วย”


สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์
“XครูSIVE”(เอ็กซ์ครูซิฟ) คำว่า “ครู”
มันก็ชัดเจนอยู่แล้วเพราะว่าโครงการนี้ทำเรื่องครู ส่วน “X”(เอ็กซ์) ก็คือการร่วมมือกัน และคำว่า “SIVE” มาจากความพิเศษเฉพาะเหมือนกับคำว่าLimited Edition มันเลยถูกคิดออกมาเป็น “XครูSIVE”

ทั้งนี้
ชุมชนเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่สนใจ ดีไซเนอร์ที่มีจิตอาสา และกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบสินค้าแนวภูมิปัญญาจากท้องถิ่น
สามารถติดตามผลงานได้ที่
FB: X-krusive : Brand To Support Teacher Shortage



กำลังโหลดความคิดเห็น