กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการไทยศึกษาโอกาสขายสินค้าไทยในอิตาลีผ่านช่องทางออนไลน์ หลังชาวอิตาเลียนหันมาซื้อออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เผยสินค้าที่นิยมซื้อออนไลน์ มีทั้งสินค้าตกแต่งภายใน อุปกรณ์สำนักงาน สินค้าของแต่งบ้าน สินค้ากีฬา เครื่องครัว เครื่องไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยี และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.อนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน อิตาลี ถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดอิตาลีด้วยช่องทางการค้าออนไลน์ เนื่องจากในปัจจุบันชาวอิตาเลียนได้ให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มองว่าอีคอมเมิร์ซตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความสะดวกสบายจากระบบชำระเงิน การขนส่ง ประหยัดเวลา มีตัวเลือกสินค้าอย่างหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาได้ รวมถึงมีระบบบบริการหลังการขาย ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัย สำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์อย่างมาก
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ยังได้รายงานข้อมูลสนับสนุนว่าผลการวิจัยล่าสุด โดยบริษัท Netcomm แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มตลาดอีคอมเมิร์ซในอิตาลี มีมูลค่าการค้าและส่วนแบ่งตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบัน ชาวอิตาเลียนเริ่มคุ้นเคยกับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยในเดือนกันยายน 2565 เพียงเดือนเดียว มูลค่าการค้าเท่ากับ 185 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.7% ส่วนในช่วง 9 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการค้าอยู่ที่ 1.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 9% เป็นรองแค่จากร้านสะดวกซื้อ (Discount store) ที่เพิ่มขึ้น 10.4%
สำหรับสินค้าที่เริ่มเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ได้แก่ สินค้าเกี่ยวกับการออกแบบตกแต่งภายใน อุปกรณ์สำนักงานและสิ่งของสร้างความสะดวกสบาย สินค้าของตกแต่งบ้าน สิ่งของตกแต่ง สินค้ากีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย สินค้าเครื่องครัว เครื่องมือและเครื่องใช้ในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยี เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์
“การที่ปัจจุบันชาวอิตาเลียนให้ความนิยมกับช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะนำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มในต่างประเทศ โดยจำเป็นต้องศึกษาขั้นตอน กฎระเบียบ และพิธีการที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแพลตฟอร์มและ marketplace ของประเทศอิตาลี เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงเป้าหมาย การสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้า โดยการระบุตัวตนบริษัท มาตรฐานต่าง ๆ ของสินค้า และรายละเอียดสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักดีในต่างประเทศ การจัดทำกลยุทธ์ด้านสินค้า ซึ่งควรเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด ยังไม่มีการวางจำหน่ายในร้านค้าที่มีหน้าร้าน ยากต่อการหาซื้อในอิตาลี มีเอกลักษณ์โดดเด่น จะเป็นที่ต้องการสูง และมีราคาเหมาะสม (โดยเฉลี่ยแล้วสินค้าที่ มีราคาระหว่าง 10-40 ยูโร เป็นสินค้าที่ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งเมื่อเกินจากนี้แล้ว ผู้บริโภคมักตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและเปรียบเทียบราคากับผู้ขายรายอื่น ๆ) และการเลือกเครื่องมือด้านการตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การใช้กลยุทธ์ SEO เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นหาสินค้า รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และระบบ E-Payment เพื่อรองรับธุรกิจ” นายภูสิตกล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *