“รสสัมผัสแรกเลยคือ อารมณ์กินปลากรอบ หอม! และมีรสต่าง ๆ ให้เลือกได้ ต้มยำ สาหร่าย บาร์บีคิว และธรรมชาติ เป็นของกินเล่นกรอบ ๆ เพลินหรือปรุงเมนูยำก็อร่อยอีกแบบ ซึ่งเวลาไปออกบูธที่กรุงเทพฯ จะได้รับความสนใจ ขายดี สายเฮลตี้ชอบมาก”
จากดอกอัญชันเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการตากแห้งเพื่อส่งขาย ช่วงเมื่อหลายปีก่อนถึงตอนนี้ “คุณแอน-ภัทราพร ประพันธ์”แกนนำกลุ่มและเจ้าของผลิตภัณฑ์ “อัญชันอบกรอบปรุงรส” จากวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำวัง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง บอกว่า การผลิตที่ยังคงแนวทางเกษตรปลอดภัยอยู่เหมือนเดิมเพิ่มเติมคือ การพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปโดยเฉพาะขนม หรืออัญชันอบกรอบปรุงรส ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่มาจากความบังเอิญช่วงหน้าฝนการทำตากแห้งโดยอาศัยแสงแดด อุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถผลิตตามสเปกของคนซื้อได้ สถานการณ์ราคาที่เริ่มผันผวนหนำซ้ำยังมีปัญหาเรื่องการเกิดเชื้อราเข้าทำลายอีกด้วยจึงลองหาวิธีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าขึ้นมาทดแทน“ด้วยความที่เสียดายของ ช่วงนั้นเป็นหน้าฝนไม่ค่อยจะมีแดดให้ตากผลผลิต เริ่มเกิดปัญหาเรื่องเชื้อราตามมาก็เลยลองนำมาอบดูซิว่าออกมามันจะเป็นยังไง ก็ใช้หม้ออบลมร้อนเล็ก ๆ ที่มีอยู่ในครัวปรากฏว่า พออบแล้วซึ่งในช่วงแรกมันจะมีกลิ่นเหม็นเขียวอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นกลิ่นจะหอมอารมณ์แบบกินปลากรอบแทนลองกินแบบเปล่า ๆ ดูซิ เอ้อมันก็อร่อยดีนะ! พอดีตอนนั้นเห็นหลานกำลังกินมันฝรั่งทอดรสสาหร่ายอยู่ก็เลยได้ไอเดีย ไปหาซื้อผงคลุกรสเดียวกันมาใส่ลองดูบ้าง ให้หลานชิมดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเด็กปกติคือจะไม่ชอบกินผักเลยก็กินได้! และยังบอกด้วยว่าอร่อย! จากจุดเริ่มต้นตอนนั้นมาก็เลยเดินหน้าพัฒนาเรื่องการทำขนมเพิ่มมาเรื่อย ๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นด้วย”
ก่อนโควิดขายดีมาก กำลังได้รับความสนใจจาก “ทัวร์จีน”
คุณแอน เล่าว่า ตอนที่ตัดสินใจเริ่มปลูก “อัญชัน” เป็นครั้งแรก ช่วงนั้นประมาณปี 2561 เพราะว่ามีน้องที่รู้จักกันเขาทำงานอยู่ที่โครงการหลวง มาชวนให้ปลูกและส่งขายผลผลิตแห้งกับเขาได้โดยตรง แต่มีเงื่อนไขคือต้องทำแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น การตากแห้งโดยวิธีธรรมชาติ(.ใช้แสงแดด) และมีราคาการรับซื้อผลผลิตให้อยู่ที่ 300 บาท/กก.ตนเห็นว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจก็เลยชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกลุ่มฯ การลงทุนด้านการผลิตทุกอย่างรับผิดชอบเอง ส่วนชาวบ้านซึ่งจะเป็นคนแก่ที่อยู่ว่าง ๆ ก็ให้มาช่วยเป็นแรงงานเก็บดอกอัญชัน โดยมีค่าจ้างให้ตามน้ำหนักที่เก็บมาได้ชั่งเป็นกิโลๆ ละ 20 บาท ซึ่งพอสถานการณ์ราคารับซื้อเริ่มผันผวนประกอบกับมองเห็นช่องทางใหม่ การขายขนมที่ลองทำขึ้นมาดู โดยมีเพื่อน ๆ ที่เปิดร้านขายของฝากอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวแถวเวียงป่าเป้า-แม่กำปอง ช่วงนั้นก่อนโควิดจะมามีทัวร์จีนที่เข้ามาท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ตอนแรกที่ฝากขาย “ชาอัญชัน” อยู่ก่อนก็ลองเสริม “อัญชันอบกรอบปรุงรส” ไปขายดูด้วย มีรสต่าง ๆ ให้เลือกตามผงคลุกรส อาทิ ต้มยำ สาหร่าย บาร์บีคิว รสลาบ หมาล่า รสชีส ฯลฯ ใส่ในซองเล็ก ๆ ขนาดบรรจุ5 กรัม ตั้งราคาขายปลีกไว้คือ25 บาท ก็ปรากฏขายดีมากรสที่คนจีนชอบจะออกแนวจัดจ้านคือ ต้มยำ สาหร่าย และก็บาร์บีคิว เป็นต้น ส่วนบางรสเช่น รสลาบและหมาล่า คนจีนกลับไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร การขายขนมในช่วงนั้นยังคงเป็นแบบครัวหลังบ้านทำง่าย ๆ อยู่
OTOP บ้าน ๆที่พัฒนาสู่สินค้านวัตกรรม
จนกระทั่งพอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ซึ่งทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักทันทีทั้งตลาดการค้าการขายและทัวร์จีนก็หายไปด้วย ตอนนั้นการผลิตก็เลยได้แค่เพียงทำแห้งเพราะยังสามารถขายเรื่อย ๆ ราคามีช่วงถูกช่วงแพงบ้างก็ตามสถานการณ์ที่พอทำได้ไปก่อน และเริ่มมาขยับใหม่อีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดมีการคลายมาตรการเพื่อผ่อนปรนให้คนออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้บ้าง แนวคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ก็เลยเริ่มขึ้นอีกจากตอนนั้น ไปหาผู้รู้เข้าไปถาม รวมทั้งเสาะแสวงหาแหล่งเพื่อการฝึกฝนวิชาเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อยากจะรู้ในครั้งนี้ สมัครเข้าโครงการต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการเข้าไปฝึกฝนและพัฒนา เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ตนเองยังขาด ตอนนั้นก็เดินสายไปพิชชิ่งในหลาย ๆ เวทีเพื่อแสวงหาความรู้และหาทุนด้วย ก็ได้ความช่วยเหลือจากทาง สสว. เป็นอย่างดี มีโอกาสได้นำสินค้าไปออกงานที่กรุงเทพฯ และเริ่มเรียนรู้ได้ว่าทิศทางการตลาดของอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่สนใจและต้องการของผู้บริโภค
การพัฒนาสินค้าเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตามฐานความรู้ใหม่ที่ออกไปเสาะแสวงหาเพิ่มมา จนถึงช่วงปี2564 ตอนนั้นก็ได้เข้าโครงการ “คูปองโอทอป” ของกระทรวง อว. ด้วยหลังจากที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปแล้ว คราวนี้ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเรียกว่า OTOP บ้าน ๆ ให้กลายเป็นสินค้าเชิงนวัตกรรมที่สามารถไปต่อด้านการตลาด ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดใด ๆ มาขวางกั้นอีกแล้ว
เพราะมีทีมนักวิชาการเข้ามาช่วยดูให้ทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต อาทิ การอบแห้งต้องใช้อุณหภูมิเป็นอย่างไรเพื่อช่วยเก็บรักษาคุณค่าทางยาของสารสำคัญเอาไว้ให้ยังมีอยู่ได้มากที่สุด การควบคุมเรื่องความชื้นก่อนการแพ็คบรรจุซองเพื่อช่วยเก็บรักษาความกรอบให้อยู่ได้นาน รวมถึงขนาดบรรจุต่อ1 เสิร์ฟที่เหมาะสม/แนะนำต่อคนต่อวัน การวิเคราะห์สารสำคัญหรือคุณค่าทางโภชนาการของสินค้าที่จำเป็นต้องมีแสดงไว้บนซองหรือฉลากบรรจุภัณฑ์ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมี อย. และการรับรองมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของแปลงผลิตซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบหลักที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ก็มีการปรับในเรื่องของ “สายพันธุ์” ใหม่โดยใช้พันธุ์อัญชันของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ซึ่งมีการศึกษาวิจัยมาแล้วว่ามีปริมาณของสารสำคัญ(แอนโทไซยานิน) ที่เป็นประโยชน์ในเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และยังตอบโจทย์การผลิตในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ที่คุ้มค่าอีกด้วย มีการขอรับรองมาตรฐานการผลิต Organic Thailand
สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตเกษตร
จากเดิมที่ขายผลผลิตแบบแห้ง ราคารับซื้อที่ผันแปรไปตามกลไกของตลาดยากต่อการควบคุมได้ คุณแอนบอกว่าตอนนี้ทางกลุ่มฯ เองสามารถที่จะขายแบบแห้งแต่ว่าได้ราคาที่คุ้มค่ามากขึ้นกว่า จากการที่มีมาตรฐานOrganic Thailand รับรองซึ่งปัจจุบันราคาจำหน่ายที่ได้จะอยู่ที่ 550 บาท/กก. เป็นราคาที่สามารถจำหน่ายได้เองโดยตรง และยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกได้แก่ อัญชันอบกรอบปรุงรส มี 4 รสชาติให้เลือก ต้มยำ สาหร่าย บาร์บีคิว และรสธรรมชาติ ขนาดบรรจุ15 กรัม/ซอง ในราคาขายปลีกซองละ59 บาท ซึ่งปริมาณในการบรรจุนี้ก็มีความสำคัญมากเพราะว่ามีสารสำคัญ (แอนโทไซยานิน) ที่อาจส่งผลกระทบต่อคนป่วยโรคไตและโลหิตจางได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงเรื่องปริมาณที่เหมาะสม/แนะนำต่อวัน(ไม่ควรเกินจากนี้) เพื่อให้กับผู้บริโภคได้ทราบด้วย รวมถึงมีชาอัญชัน และชาดอกดาวเรือง(สายพันธุ์เฉพาะ) จำหน่ายควบคู่ด้วย มีผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาด้วยคือ “ผงโรยข้าว” ไอเดียได้มาจากทาง มช. ในระหว่างที่มีการออกไปนำเสนอผลงาน มีส่วนผสมของ “อัญชันกับดาวเรือง” ที่ปลูกเองและมีธัญพืชต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ข้างในเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ ใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ตอบโจทย์สำหรับกลุ่ม “วีแกน” ได้
ตอบโจทย์สำหรับคนรักสุขภาพ
คุณแอนยังบอกด้วย ทุกครั้งที่มีการนำสินค้าไปออกบูธที่กรุงเทพฯ จากการได้รับเชิญไปของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดงานขึ้น อย่างเช่น มีครั้งหนึ่งที่ไปงานของธนาคารออมสินปรากฏว่าก็เตรียมของสำหรับขาย โดยกะว่าน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับงานที่มีการจัด4 วันแต่สรุปคือ ของขายหมดเกลี้ยง! ตั้งแต่เปิดได้ 2 วันแรกแล้ว ซึ่งสังเกตว่ากลุ่มลูกค้าจะเป็นคนทำงานออฟฟิศที่มาเดินและเลือกซื้อของในงาน และพอเขาได้ลองชิมเป็นครั้งแรกแล้วมีหลายคนที่กลับมาซื้อซ้ำด้วย ทำให้เห็นได้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักของสินค้านี้ก็คือคนเมืองและเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องการรักษาสุขภาพ เพราะจะเป็นอะไรที่มีการปรุงแต่งที่น้อยที่สุดโดยเน้นรสที่เป็นธรรมชาติเป็นหลัก อีกทั้งยังได้ไอเดียมาจาก “เชฟ” ด้วยตอนไปออกงานได้มีการนำอัญชันอบกรอบฯ ไปสาธิตการทำเมนูแบบยำแล้วปรากฏพอใครได้ลองชิม ต่างบอกว่าอร่อยและติดใจในรสชาติที่แปลกใหม่ ก็เลยนำมาใช้เพื่อแนะนำกับลูกค้าด้วยเวลามาซื้อก็จะบอกว่าอัญชันอบกรอบฯ ยังทำเป็นอาหารได้ด้วยนะโดยเฉพาะเมนูยำ ที่นอกจากเป็นของกินเล่นกรอบ ๆ เพลินแล้ว
ซึ่งจากกำลังการผลิตในปัจจุบันคุณแอนบอกว่า สามารถเก็บดอกอัญชันสดจากแปลงได้วันละกว่า 100 กก.บนพื้นที่ผลิตเพียง 1 ไร่เท่านั้น และเมื่อผ่านการแปรรูปตากแห้งแล้วคิดเป็นน้ำหนักที่ได้จะอยู่ราว ๆ10 กก.(แห้ง) ต่อวัน ในปีนี้ยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มอีก 3 รายการด้วย คือ เบอร์เกอร์จิ้งหรีด(ข้าวเหนียวอัญชัน) เยลลี่อัญชันมะนาว แก้วมังกร และยังมี Snack Bar ที่ต่อยอดมาจากผงโรยข้าวเดิมนำมาอัดแท่งเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ ทั้งนี้ หากใครสนใจผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาคุณแอนฝากบอกด้วยว่ามีส่วนลด30% ตามจำนวนการสั่งซื้อต่อครั้งที่กำหนดให้อีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติมโทร. 083-152-2292
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *