"ผลิตภัณฑ์ชุนชน" ถือเป็นสินค้าที่น่าสนใจ เนื่องจากในชุมชนต่างๆ จะใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบ และยังทำให้ผุ้คนในชุมชนนั้นๆ มีอาชีพและสร้างรายได้ขึ้นเองได้ แต่ปัญหาหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ มาตรฐานหรือการรับรองคุณภาพ เพราะหากขาดขั้นตอนการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ แม้จะเกิดจากการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาชุมชน ก็ยังทำให้สินค้าจำกัดอยู่ในตลาดที่แคบ และไม่ได้รับการยอมรับมากนัก
จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นอีกหนึ่งในจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ เช่น วันมอร์ไทยคราฟท์ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทย , ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปคีรีวง โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ได้สรรสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวัตถุดิบชั้นเยี่ยมจากในพื้นที่ แต่ยังขาดการแนะนำในเรื่องมาตรฐานการผลิตและการรับรองมาตรฐานสากล
ด้วยเหตุนี้ ทาง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงจัดทำ “โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ.” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับมาตรฐานเสริมแกร่งผู้ประกอบการชุมชนให้ยั่งยืน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและตอบโจทย์ดังกล่าว ร่วมผนึกกำลังของ โครงการวิจัยการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นเส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคภาคใต้ และโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. ซึ่งมี จ.นครศรีธรรมราช เป็นหน่งใน 10 จังหวัด ที่ได้มีการดำเนินงานโครงการนี้ อีก 9 จังหวัดได้แก่ อุดรธานี ลำปาง ราชบุรี เพชรบุรี สตูล ปัตตานี นครปฐม อยุธยา และกรุงเทพฯ
“วว.มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของจังหวัด ครอบคลุมกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก ผ้าและเครื่องแต่งกาย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง ในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ชุมชนจะมีการจ้างงานชุมชน คุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดมลพิษ รวมทั้งกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนและขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การบูรณาการจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ กิจกรรมการตรวจเยี่ยมติดตามงานบูรณาการงานวิจัยครั้งนี้ เป็นผลของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีศักยภาพ มาตรฐาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองระบบคุณภาพกระบวนการผลิต มาตรฐานเกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน
แม้วิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์และชุมชน จะฟังดูแล้วคนละเรื่องกัน แต่ในปัจจุบันการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาแก้โจทย์ปัญหาของชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชุมชนได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน