xs
xsm
sm
md
lg

ถามกลับ สธ.นโยบายถูกทางหรือไม่ ไม่ตายโควิดแต่ซี้โรคหัวใจ จำเป็นยังไงฝืนฉีดวัคซีนให้เด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการโต้กระทรวงสาธารณสุข กรณีเอ็กซ์เซสเดธมากกว่าปีที่แล้ว ถามกลับปีนี้ตัวเลขควรลดลงทำไมยังสูงขึ้น ชี้นโยบายที่ผ่านมามาถูกทางหรือไม่ ส่วนที่อ้างว่าไม่พบหลักฐานฉีดวัคซีนแล้วตายจากโรคอื่น มีรายงานในหลายประเทศพบตายเพราะโรคหัวใจเพิ่มขึ้น และพบสไปค์โปรตีนเป็นพิษต่อเส้นเลือด อีกทั้งเด็กไทยฉีดวัคซีน 2 เข็ม หัวใจอักเสบ 1 ใน 43 คน แนะให้ศึกษาด้วย จำเป็นยังไงให้ฉีดวัคซีนในเด็ก ท้าเจอกันเวทีไหนก็ได้

วันนี้ (12 พ.ย.) จากกรณีที่ นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดประเด็นอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือเอ็กซ์เซสเดธ (Excess death) เพิ่มขึ้นในยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการฉีดวัคซีน และมีการตั้งคำถามในสภาของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีผลข้างเคียงทำให้เส้นเลือดอักเสบ เส้นเลือดตีบตัน ภูมิคุ้มกันตก มะเร็งกำเริบ และหลายโรคที่พบเป็นปกติเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทย พบว่าอัตราการตายปีนี้โดยรวมสูงกว่าปีที่แล้ว เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 22% สอดคล้องกับปีที่แล้ว (2564) มีการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก อ้างว่าลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนอัตราการเสียชีวิตควรจะต้องลดลง แต่ปีนี้คนไทยเสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้วกว่า 10% โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศ

ต่อมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาตอบโต้ว่า อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในไทยมีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบบริการสุขภาพในระยะวิกฤตโควิด-19 การจำกัดการเดินทาง และความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมกว่า 143 ล้านโดส เท่ากับประชาชนกว่า 57 ล้านราย พบว่าปี 2563 จำนวนเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่วนปี 2564 การตายส่วนเกินเพิ่มขึ้น แต่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุช่วง ก.ค.-ก.ย. 2564 ที่มีการระบาดรุนแรงจากสายพันธุ์เดลตา ดังนั้น การอ้างว่าปีที่ผ่านมาตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด จึงไม่สมเหตุผล และไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก อีกทั้งการศึกษาในประเทศอื่นไม่พบหลักฐานความสัมพันธ์กับวัคซีนโควิด

อ่านประกอบ : หวั่นผลข้างเคียงวัคซีน ภาพรวมตายเยอะกว่าปีก่อน ห่วงเด็กยังฉีดทั้งที่ไม่จำเป็น

สธ.งัดข้อมูลโต้ "วัคซีนโควิด" ไม่ได้ทำให้ไทยตายเพิ่มปีก่อน แต่มาจากช่วง "เดลตา" กระทบระบบบริการ 

ปี 64 "โควิด" ทำไทยตายเพิ่มขึ้น 4.2% หรือ 2.2 หมื่นคน เทียบกับปกติที่ไม่มีโรคระบาด 

ล่าสุด ติ๊กต็อก @atapol01 ของ นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ระบุว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาตอบคำถามนั้นน่าสนใจ ประเด็นแรก อัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือเอ็กซ์เซสเดธ มีจริงแค่เรื่องเดียว แสดงให้เห็นว่ากระบวนการที่ผ่านมาเป็นการสร้างปัญหา เพราะว่าเอ็กซ์เซสเดธที่เกิดขึ้นในปีนี้มากกว่าปีที่แล้วที่มีการระบาดของโควิด-19 มากมาย ที่กล่าวว่าปัญหาเอ็กซ์เซสเดธมาจากการปิดบ้านเมือง (มาตรการล็อกดาวน์) ทำให้การเข้ารับบริการไม่เพียงพอ คำถามก็คือ ปี 2564 กับปี 2565 อันไหนปิดบ้านเมืองมากกว่ากัน ปีนี้มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้่น ผู้เสียชีวิตควรจะต้องน้อยลง แต่ทำไมเยอะขึ้น

ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีน้อยลง เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 5 คนเท่านั้น ขณะที่เดือนตุลาคม 2564 ยอดแตะหลักร้อยคน คำถามคือทำไมปีนี้คนไทยเสียชีวิตมากขึ้น และใช้นโยบายอะไรที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากขึ้น ที่บอกว่านโยบายล็อกดาวน์ทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงบริการ ทำไมตอนนั้นไม่ให้การรักษาแบบปัจจุบัน คือรักษาที่บ้าน ในรายที่ไม่ได้มีอาการหนักก็ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ตอนนั้นให้นอนโรงพยาบาล เพิ่มภาระให้แพทย์และพยาบาลทั้งที่ไม่จำเป็น กระบวนการรักษาที่ดีมีมากมาย แต่ไม่ได้นำมาใช้ เพราะฉะนั้นเป็นคำถามที่ว่า นโยบายที่ผ่านมามาถูกทางหรือไม่ ควรทบทวนการแก้ปัญหาหรือไม่ และนโยบายฉีดวัคซีนทุกช่วงใช่หรือไม่ อยากให้ทุกคนช่วยกันคิด

นพ.อรรถพลกล่าวว่า นโยบายที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยลดอัตราการตาย เพราะลดอัตราการตายจากโควิด-19 แต่สุดท้ายเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคอื่น แค่นี้คือสิ่งที่จะต้องมาอธิบายว่า นโยบายเหล่านั้นมีข้อผิดพลาดประการใด ประการต่อมาที่ต้องตั้งข้อสงสัยก็คือ ในปี 2564 มีการล็อกดาวน์มากมาย มีผู้ป่วยโควิดเยอะ แต่ปี 2565 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตลดลง ผู้ป่วยลดลง และไม่ได้ล็อกดาวน์มาก ภาระงานของแพทย์ลดลงเพราะให้รักษาที่บ้าน แต่ทำไมอัตราการตายจากโรคอื่นสูงขึ้น เป็นคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบว่า สาเหตุจากการล็อกดาวน์หรือภาระงานของแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูว่าสาเหตุที่ว่าเป็นอย่างไร

ที่น่าสนใจอยากให้นำตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งที่เสียชีวิตปี 2564 เทียบกับปี 2565 ต่างกันหรือไม่ หรือผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ลองเทียบว่าตัวเลขเหล่านี้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในหลายประเทศตัวเลขเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จึงเป็นข้อสงสัยว่าทำไมคนไทยถึงตายเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก สถานการณ์โควิด-19 ลดลง ไม่ได้รุนแรงอย่างที่เคย กระทรวงสาธารณสุขช่วยตอบด้วยว่าเป็นเพราะอะไร

อีกประเด็นหนึ่ง ที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าไม่พบหลักฐานการเกี่ยวโยงวัคซีนที่ฉีดกับการเสียชีวิตนั้น มีรายงานในหลายประเทศจำนวนมากที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถค้นหาได้ ถัดมามีงานวิจัยที่พบว่าสไปค์โปรตีนอยู่ในทางเดินหลอดเลือด แล้วกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นหลักเดือนหลังการฉีด และมีงานวิจัยที่พบว่าสไปค์โปรตีนเป็นพิษกับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดอักเสบ บวมแตกขาดได้ ที่สำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขน่าจะทบทวน คือ มีงานวิจัยที่พบว่ามีเด็กไทยที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อัตราการเกิดหัวใจอักเสบ 1 ใน 43 คน

นอกจากนี้ มีการชันสูตรศพในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต พบการอักเสบที่ผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจและพบสไปค์โปรตีนตรงนั้นด้วย ฉะนั้นการที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยง เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาและไม่ได้มองหา ถ้าจะให้ดีหากนำข้อมูลมาเทียบกันระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนว่าอัตราการเกิดโรคต่างๆ ต่างกันอย่างไร อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ให้ได้คำตอบ ขอให้ดูงานวิจัยที่ว่าสไปคฺโปรตีนบอกว่าไม่เป็นอันตรายนั้น เป็นอันตรายอย่างไร mRNA พบได้ในน้ำนม ในต่อมน้ำเหลือง ในหลายที่ที่ไม่ควรอยู่ ถ้าสนใจ สามารถนำงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์มาให้ศึกษาได้ สิ่งที่บอกว่าไม่มีงานวิจัย ขอเถียงว่าจริงๆ มีอยู่ เพียงแต่ว่าไม่เคยเปิดดูและไม่เคยศึกษา กรุณาศึกษาด้วย เพราะเป็นความเป็นความตายของประชาชนคนไทย

ส่วนประเด็นที่บอกว่า อัตราการตายที่เพิ่มขึ้น พบมากในผู้สูงอายุ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ทำไมถึงไปฉีดวัคซีนกับเด็ก ซึ่งตอบไม่ตรงคำถาม อัตราการตายที่สูงขึ้นทำให้เป็นกังวลเรื่องของวัคซีน ทำให้ต้องมานั่งคิดกันว่าทำไมต้องมาฉีดกับเด็กซึ่งมีความเสี่ยงต่ำมาก ทำไมไม่บอกว่าปีที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตของเด็กไทยจากโควิด-19 อยู่ที่เท่าไหร่ ทำไมไม่บอกว่าวัคซีนที่นำมาใช้ฉีดในเด็กประสิทธิภาพเป็นอย่างไร งานวิจัยจากบริษัทยาพบว่าจำเป็นต้องฉีดถึง 3 เข็มถึงจะกระตุ้นภูมิขึ้น เพราะ 2 เข็มกระตุ้นไม่ขึ้น

มีงานวิจัยศึกษาจากเด็ก เริ่มต้น 4,500 คน แบ่งเป็นได้รับวัคซีน 3,000 คน ไม่ได้รับวัคซีน 1,500 คน คาดว่าฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็มจะได้ผลตามที่ต้องการ ปรากฏว่าวัดผลจริงไม่ได้ผล ต้องเปลี่ยนงานวิจัย เพิ่มเข็มที่ 3 และพบว่ามีผู้ทำวิจัยต่อเพียงแค่ 1,500 ราย มีเพียงแค่ 1,000 คนรับวัคซีน อีก 500 คนรับยาหลอกต่อ แต่ประสิทธิภาพการกันติดเชื้อ และการแพร่เชื้อไม่ได้ศึกษา และไม่ได้บอกว่าป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ งานวิจัยเหล่านี้ตีพิมพ์ในเอกสารทางการขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) กรุณากลับไปอ่านด้วยว่า ถ้าเช่นนั้นประโยชน์ที่มี ไม่ได้มีประโยชน์ อาจมีโทษ จำเป็นอย่างไรที่จะต้องเอาไปฉีดในเด็ก ตนเป็นห่วงเรื่องเด็ก แต่เอาเรื่องผู้ใหญ่มาตอบ ตนสงสัยว่าทำไมไม่ตอบให้ตรงคำถาม ถ้าอยากจะคุยกันจริงพบกันเวทีไหนก็ได้

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ดูเหมือนกระทรวงสาธารณสุขจะบอกว่าวัคซีนที่นำมาฉีดช่วยชีวิตคนได้แสนคน ประเด็นก็คือ ตัวเลขเหล่านั้นมาอย่างไร คำนวณได้อย่างไร เพราะถ้าข้อสรุปผิด ใส่ตัวเลขผิดก็คิดออกมาผิดได้ ไม่ใช่ข้อมูลจริงแต่เป็นการคาดเดาเท่านั้น ทั้งที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ช่วยเอาตัวเลขที่ว่าคำนวณให้ดู เพราะอาจไม่ใช่ตัวเลขความเป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในเรื่องโควิด ตอนแรกมีการคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยกี่ราย ผู้เสียชีวิตกี่ราย แต่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เพราะข้อสรุปเบื้องต้นมันผิด ถ้าบอกว่าวัคซีนช่วยชีวิตคนได้เยอะจากการคาดการณ์ แปลว่าเป็นการคาดการณ์หรือคาดเดาเอา กรุณาเอาข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงมาดู และวิธีการคำนวณมาเปิดเผยว่าคำนวณตัวเลขได้อย่างไร ขอให้มีความโปร่งใส แล้วความเป็นธรรมจะเกิด สิ่งที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยัน พร้อมจะพูดคุยและนำข้อมูลยื่นให้ดู เมื่อไหร่ก็ได้และช่วยดูว่าข้อมูลเป็นอย่างไร

@atapol01 #ไม่ฉีดยาพิษให้เด็ก ♬ original sound - DrAtapol


@atapol01 #ไม่ฉีดยาพิษให้เด็ก ♬ original sound - DrAtapol


@atapol01 #ไม่ฉีดยาพิษให้เด็ก ♬ original sound - DrAtapol


@atapol01 #ไม่ฉีดยาพิษให้เด็ก ♬ original sound - DrAtapol


@atapol01 #ไม่ฉีดยาพิษให้เด็ก ♬ original sound - DrAtapol



กำลังโหลดความคิดเห็น