นักวิชาการชี้อัตราการตายแบบเอ็กซ์เซสเดธพูดถึงในต่างประเทศหาความสัมพันธ์กับอัตราการฉีดวัคซีน แต่ไทยกลับนิ่งเฉย แถมถูกปิดปาก เผยภาพรวมปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 22% สะท้อนยิ่งระดมฉีดวัคซีนยิ่งตายมากขึ้น เจอผลข้างเคียงทั้งเส้นเลือดตีบตัน โรคหัวใจ ทีเซลลดลง มะเร็งกำเริบ ห่วงยังระดมเด็กไปฉีดวัคซีนตกรุ่นทั้งที่เชื้อกลายพันธุ์ไปไกลแล้ว อีกทั้งมีเด็กเป็นโรคหัวใจอักเสบ 1 ใน 43 ราย
วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการพูดถึงอัตราผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ระบาด มีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เรียกว่า เอ็กซ์เซสเดธ (Excess death) เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าโควิด-19 รุนแรงและมีคนตายเพิ่มขึ้น ต้องจัดการแก้ปัญหา ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศคลี่คลาย ไม่ได้น่ากลัว ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้ คือ เอ็กซ์เซสเดธยังคงอยู่ และเกิดขึ้นในหลายประเทศ
ที่น่าสนใจคือ มีการนำข้อมูลเอ็กซ์เซสเดธในยุโรปเข้ามาดู และหาความสัมพันธ์กับอัตราการฉีดวัคซีน พบว่าประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เยอะเอ็กซ์เซสเดธเยอะ แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนน้อย เอ็กซ์เซสเดธก็น้อย มีการตั้งคำถามในสภาของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ให้ตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เส้นเลือดอักเสบ เส้นเลือดตีบตัน ภูมิคุ้มกันตก มะเร็งกำเริบ และหลายโรคที่พบเป็นปกติเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ถ้าไปดูอัตราการป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจมากในหลายประเทศ
ในประเทศไทยก็มีตัวเลขที่น่าแปลกใจ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากโควิด-19 เฉลี่ย 4 คนต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้วผู้เสียชีวิตแตะหลักร้อยคน แต่ที่น่าเศร้าคือ อัตราการตายปีนี้โดยรวมสูงกว่าปีที่แล้ว เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังสูงกว่าปีที่แล้ว 22% คำถามคืออัตราการตายที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน ที่น่าตกใจคือปีที่แล้วระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก อ้างว่าลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนอัตราการเสียชีวิตควรจะต้องลดลง แต่ปีนี้คนไทยเสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้วกว่า 10% ถ้าวัคซีนลดอัตราการเสียชีวิตจริง ยอดผู้เสียชีวิตต้องลดลง
"ที่น่าเศร้าใจและตกใจคือ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย กลายเป็นว่ายิ่งระดมฉีดวัคซีน คนไทยยิ่งเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยบอกว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคเดิม คำถามคือ ถ้าโรคเดิมก็ต้องเสียชีวิตเท่าเดิม แต่ทำไมเสียชีวิตเพิ่มขึ้น มีคำอธิบายว่า วัคซีนทำให้เส้นเลือดตีบตัน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ วัคซีนทำให้ภูมิคุ้มกันตก แต่ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันที่นำมาเจาะ เพราะภูมิคุ้มกันแบ่งเป็นสองชนิด คือ ภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี และชนิดทีเซล (T-Cell) มีงานวิจัยว่าการฉีดวัคซีนทำให้ทีเซลลดลง โรคมะเร็งกำเริบ สังเกตว่าปีนี้มีคนดังเสียชีวิตราวใบไม้ร่วง วัคซีนทั้งนั้นเลย สิ่งเหล่านี้น่าจะมีคำตอบว่าเกี่ยวกันหรือไม่ เรื่องนี้ถ้าไม่น่าสนใจ รัฐสภาในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรปจะตรวจสอบหรือไม่ แต่รัฐสภาไทยกลับไม่ตรวจสอบ และสื่อมวลชนไม่มีใครทำข่าวเรื่องนี้เลย ทั้งที่มีข้อมูลทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ" นพ.อรรถพลกล่าว
นพ.อรรถพลกล่าวว่า คำถามสำคัญที่น่าสงสัย เนื่องจากไทยมีตัวเลขของผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจ และมีสถิติอัตราการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ เพราะเวลาที่ป่วยจะมีกรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะต้องรายงานว่าใครป่วยโรคอะไรบ้าง วิธีการที่ง่ายก็คือ การนำอัตราการเจ็บป่วยเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับปีก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ถ้าอัตราการตายเพิ่มขึ้นต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งข้อมูลจากหมอพร้อมที่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนเป็นรายบุคคล สามารถดูได้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1, 2 และ 3 ป่วยด้วยโรคอะไรบ้าง เสียชีวิตด้วยโรคอะไรบ้าง แล้วเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ทราบแล้วว่ามีผลหรือไม่
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พอพูดว่าปัญหาเกิดจากวัคซีน ก็จะมีคนออกมาพูดว่าไม่เกี่ยว โดยที่ไม่ดูข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการเดาโดยที่ไม่มีหลักฐานรองรับ ทั้งที่ต้องนำข้อมูลมาดูกัน ถ้าไม่จริงก็บอกเองไม่ต้องฟังใคร ปัญหาขณะนี้คือใช้เรื่องของการคาดเดาโดยบอกว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่เอาข้อมูลให้ดู ที่แย่ก็คือ พอมีคนนำข้อมูลมาให้ดู ก็จะเซ็นเซอร์คนที่บอก และใช้วิธีทำลายชื่อเสียงเพื่อปิดบังความจริง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ยอมให้พูดถึงผลเสียของวัคซีนเลย ไม่เช่นนั้นจะถูกแบน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วข้อมูลเหล่านี้ต่างประเทศมีข้อมูลรองรับ มีงานวิจัย ไม่ใช่ข้อมูลที่มีคนพูดไปเอง แม้แต่การนำข่าวบางอย่างที่แพลตฟอร์มนั้นไม่ชอบก็โดนแบน ทั้งๆ ที่จริงแล้วรายงานบางอย่างเป็นข้อเท็จจริงที่ออกมาจากทางการ ก็พูดไม่ได้
ประเด็นคือทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยรับทราบข้อมูลตามจริง เพราะหลายคนเวลาที่พูดถึงปัญหาของวัคซีน จะถูกป้ายสีว่าเป็นพวกแอนไทแวกซ์ (Antivax) ทั้งๆ ที่ความจริงถามผู้รับวัคซีนว่า พวกเราต้องกินยา ต้องฉีดยาทุกอย่าง อยากรู้ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร อยากรู้ข้อดีข้อเสียนั้นผิดตรงไหน หมายความว่า ประโยชน์มันอาจจะมี แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่พูดถึงข้อเสียเลย คำถามคือ ทำไมถึงไม่มีการพูดทั้งข้อดี ข้อเสีย ทำไมไม่มีการเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน และทำไมไม่มีการบอกว่า กลุ่มไหนได้ประโยชน์ กลุ่มไหนไม่ได้ประโยชน์" นพ.อรรถพลกล่าว
นพ.อรรถพลกล่าวอีกว่า ในเด็กเล็กเสียชีวิตจากโควิด-19 ในอัตรา 0.0003% และเด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีโรคอื่นร่วมด้วย ในเมื่ออัตราการเสียชีวิตต่ำขนาดนั้น ทำไมต้องฉีดวัคซีน และอัตราการเป็นโรคหัวใจอักเสบจากวัคซีน ในงานวิจัยของคนไทย โดยการติดตามเด็กที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ดูว่าเป็นโรคหัวใจอักเสบกี่ราย พบว่ามีเด็ก 1 ใน 43 รายที่เป็นโรคหัวใจอักเสบ คำถามคือ ถ้าเด็กเป็นโควิด-19 เสียชีวิต 0.0003% แต่การฉีดวัคซีนทำให้เป็นโรคหัวใจอักเสบประมาณ 3% ตกลงความเสี่ยงของการเป็นโควิด-19 กับหัวใจอักเสบอันไหนมากกว่ากัน แล้วจะฉีดวัคซีนเพื่ออะไร ที่สำคัญก็คือ กระทรวงสาธารณสุขเคยนำงานวิจัยมาดูหรือไม่ว่า วัคซีนในเด็กลดความเสี่ยงอย่างไร แม้กระทั่งโควิด-19 ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันติดเชื้อไม่เคยได้รับการทดสอบ ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยจำนวนมาก
"ตัวเลขเอ็กซ์เซสเดธในต่างประเทศมีจำนวนมาก และมีการออกมาพูดกันในรัฐสภาหลายประเทศ แต่บ้านเราไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ปัญหาคือ เขายังโฆษณาให้เด็กไปฉีดวัคซีนกันอยู่ ทั้งๆ ที่วัคซีนไม่ได้ป้องกันอะไรเลย ไม่ได้ช่วยปู่ย่าตายายด้วยซ้ำ ไม่ได้ช่วยให้เด็กป่วยน้อยลง เสียชีวิตลดลงด้วยซ้ำ วัคซีนฝาสีแดงที่นำมาฉีดป้องกันเชื้อสมัยอู่ฮั่น ทั้งๆ ที่ขณะนี้ไม่มีเชื้อดังกล่าวระบาดแล้ว กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อื่น อย่างโอมิครอนหมดแล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่เวลาเปลี่ยนสายพันธุ์ก็เปลี่ยนวัคซีน แล้วทำไมวัคซีนเด็กยังใช้สายพันธุ์เก่าอยู่ หรือว่ากลัวของเสีย สั่งของมาแล้วไม่ได้ใช้ ไม่มีคนเอา เป็นวัคซีนตกรุ่น ถ้าฉีดฟรีแล้วไม่มีผลเสียไม่เป็นไรเลย แต่ถ้าฉีดแล้วทำให้เป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดตีบตัน เป็นมะเร็งแล้วมีใครอยากได้ไหม จริงๆ มีคนเยอะเลยที่พูดถึงข้อเสีย แต่พูดแล้วแพลตฟอร์มออนไลน์ปิดและบล็อกหมด เพราะมีหน่วยงานอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกลายเป็นเครื่องมือของบริษัทยา
บริษัทยาแห่งหนึ่งในต่างประเทศไม่เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 ต้องการปกปิดไว้เป็นเวลา 75 ปี มีคนไปฟ้องบริษัทยาและองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ให้เปิดเผยข้อมูล สุดท้ายศาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินให้ผู้ฟ้องชนะคดี และมีการเปิดเผยข้อมูลออกมาแล้ว ข้อมูลนี้มีในเว็บไซต์ชัดเจน แต่เมื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาบอกว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ ทั้งๆ ที่สำนักข่าวรายใหญ่อย่างรอยเตอร์ก็รายงาน ในเว็บไซต์เอฟดีเอของสหรัฐฯ ยอมรับว่าจะต้องเปิดเผย แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมบอกว่าเป็นเฟกนิวส์ ถือเป็นเรื่องคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้มีหลักฐานไม่ได้พูดอย่างลอยๆ ทำอย่างไรที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจ เพราะตอนนี้เด็กเล็กเป็นปัญหา ถ้าฉีดวัคซีน ทั้งที่ไม่จำเป็น และไม่ได้ช่วยอะไรเลย เชื้อกลายพันธุ์หมดแล้วยังฉีดสายพันธุ์อู่ฮั่นอยู่เลย" นพ.อรรถพลกล่าว